สธ.นำทีมผู้เข้าประชุม APEC ดู 4 นวัตกรรมการแพทย์-สาธารณสุขไทย ทั้งศูนย์โปรตอนฯ รักษามะเร็งแม่นยำ ผลข้างเคียงน้อย, ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้า สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯ และ “หมอพร้อม” สอดรับนโยบาย BCG APEC
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำทีมผู้บริหารและผู้แทนสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC จำนวนกว่า 80 คน ศึกษาดูงานนวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุขที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของงานประชุม APEC Health Week
นพ.สุระ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหลายประเทศ รวมถึงสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ดังนั้น การประชุม APEC 2022 จึงนำนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) มาใช้ขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ เพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย คำนึงต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การดูงานวันนี้จึงเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขของไทยที่สอดคล้อง BCG ใน 4 เรื่อง คือ 1.ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รพ.จุฬาฯ เป็นอาคารใต้ดินลึก 15 เมตร รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งทางรังสีด้วยอนุภาคโปรตอน ซึ่งเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การรักษาจะใช้เครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอน เร่งอนุภาคโปรตอนไปทำลายก้อนมะเร็ง โดยเนื้อเยื่อปกติหน้าก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีน้อย และเนื้อเยื่อหลังก้อนมะเร็งแทบไม่ได้รับรังสี ทำให้การรักษามีความแม่นยำสูง ลดผลข้างเคียง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยาวนานขึ้น
2.ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ นับเป็นศูนย์กลางการแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าตั้งแต่กำเนิดหรืออุบัติเหตุ ให้กลับมาใช้ชีวิตที่มีคุณภาพในสังคม โดยมีผู้ป่วยส่งต่อมาจาก รพ.ทั่วประเทศ ให้การดูแลความผิดปกติใบหน้าและกะโหลกหลายประเภทมากกว่า 3,000 ราย ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ของแพทย์ทั่วประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางรักษาผู้ป่วยโรคงวงช้าง โดยมีวิธี “จุฬาเทคนิค” ที่ถูกนำไปใช้ทั่วโลก
3.สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยครบวงจร ทั้งเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย การจัดการขณะเกิดภัย และฟื้นฟู บรรเทาทุกข์ผู้ด้อยโอกาส ประชานามัยพิทักษ์ส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้บริการทางการแพทย์ผ่านทางสถานีกาชาด 13 แห่ง ให้บริการด้านรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสภาพ ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ด้านจักษุศัลยกรรมฯ ศัลยกรรมตกแต่งแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการอื่นๆ รวมถึงหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่
และ 4.หมอพร้อม แอปพลิเคชัน เกิดขึ้นในช่วงโควิด โดยช่วงแรกเป็นช่องทางสื่อสารประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลวัคซีนของตนเอง ประเมินติดตามอาการภายหลังรับวัคซีน ปัจจุบัน “หมอพร้อม” เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ใหญ่ที่สุดด้านสาธารณสุขของไทย มีประชาชนมากกว่า 32 ล้านคน เข้าถึงแพลตฟอร์มทั้งแอปพลิเคชันและ Line OA และมีการพัฒนาต่อยอดต่อเนื่อง