"อนุทิน" สั่งกรมควบคุมโรคปรับสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์ เปลี่ยนเป็นสูตรเด็ก 6 เดือน - 5 ปี 3 ล้านโดส จ่อเสนอ ครม.เห็นชอบ เผยหารือทวิภาคี รมช.สธ.สหรัฐฯ ชมไทยแก้วิกฤตโควิดได้ดี ไทยพร้อมหนุนระบบแล็บ-พัฒนาคน รองรับวาระความมั่นคงสุขภาพโลก จ่อช่วยฉีดวัคซีนเด็กเมียนมาตะเข็บชายแดน
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือแบบทวิภาคีร่วมกับ Ms.แอนเดรีย ปาล์ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ สหรัฐอเมริกา ว่า เป็นการประชุมนอกรอบก่อนประชุมระดับรัฐมนตรีสาะารณสุขกลุ่มเอเปค ซึ่งไทยได้ขอบคุณสหรัฐฯ ที่ช่วยเหลือในช่วงวิกฤตโควิด ที่บริจาควัคซีน mRNA หลายล้านโดส สนับสนุนเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์จำนวนมาก ส่วนสหรัฐฯ ก็ขอบคุณไทยที่ส่งตัวอย่างเชื้อและข้อมูลแก่สหรัฐฯ ในช่วงที่เพิ่งเริ่มการระบาเแรกๆ ในการนำไปพัฒนาวิจัยยาและวัคซีน นอกจากนี้ ยังชื่นชมไทยที่สามารถบริหารจัดการวิกฤตการระบาดโควิดได้อย่างดี ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างมากในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล เช่น สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ซึ่งประเทศเขาไม่สามารถบังคับได้ และชื่นชมการดูแลรักษาผู้ป่วยโคิวดของไทย ที่มีการดูแลทั้งเรื่องยา การรักษาที่บ้าน ฮอสปิเทล มีระบบหลักประกันสุขภาพ
"ส่วนวัคซีนไฟเซอร์เด็กอายุ 6 เดือน - 5 ปีที่ อย.อนุมัติแล้ว ได้มอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเจรจากับไฟเซอร์ในการปรับสัญญาการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์เดิม ให้เปลี่ยนวัคซีนมาเป็นวัคซีนสำหรับเด็ก 6 เดือน - 5 ปี จำนวน 3 ล้านโดส ซึ่งจะเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป เบื้องต้นไฟเซอร์ก็เห็นชอบในหลักการที่ให้ปรับเปลี่ยน ไม่มีปัญหา คาดว่าจะนำเข้ามาได้เร็วที่สุดเพื่อฉีดเด็กวัยดังกล่าว" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า สหรัฐฯ ยังชื่นชมบทบาทของไทยเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก โดยเฉพาะการเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ส่วนความร่วมมือวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda :GHSA) ซึ่งไทยร่วมเป็นสมาชิก เราก็พร้อมสนับสนุนงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องระบบห้องปฏิบัติการ (Lab System) และการพัฒนากำลังคน (Workforce Development) ซึ่งเป็น 2 ใน 9 ด้านของแผนงาน GHSA นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังขอให้ไทยสนับสนุนการฉีดวัคซีนพื้นฐานป้องกันโรคติดต่อให้แก่เด็กตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา เนื่องจากมีเด็กจำนวนมากในเมียนมาไม่ได้รับการฉีดวัคซีนพื้นฐานที่ป้องกันโรคติดต่อ เช่น วัณโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น