อว.ลงพื้นที่โครงการ U2T for BCG บุรีรัมย์ ยกระดับตำบลสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม เส้นทางครอบครัว เส้นทางบุญ เส้นทางอาหารพื้นถิ่นผ่านลำน้ำชี พร้อมเพิ่มมูลค่าและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือลวดลายอัตลักษณ์ลำดวน
เมื่อวันที่ 18 ส.ค.น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมกรรมการบริหารโครงการ U2T และนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด อว. พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินการโครงการ U2T for BCG ต.ลำดวน อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) บุรีรัมย์ เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำการดำเนินโครงการ U2T for BCG โดยลำดวน เป็นตำบลที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ซึ่งทาง มรภ.บุรีรัมย์ ได้เข้ามาช่วยยกระดับตำบล ด้วยการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ผ่านเส้นทางลำน้ำชี เดินป่าตามเส้นทางธรรมชาติ พร้อมจัดระบบการท่องเที่ยวแบบ Home Stay ให้นักท่องเที่ยว ทั้ง 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางวัฒนธรรม เส้นทางครอบครัว เส้นทางบุญ และเส้นทางอาหารพื้นถิ่น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอื่น ๆ อาทิ ผ้าไหม น้ำพริกจิ้งหรีด ผงโรยข้าวดักแด้ เป็นที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย
น.ส.นิสากร กล่าวว่า นอกจากนี้ โครงการ U2T for BCG ยังได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือลวดลายอัตลักษณ์ลำดวนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วย ทั้งนี้ ต.ลำดวน ทั้ง 18 หมู่บ้านมีการทอผ้าไหมในครัวเรือนเป็นการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่นจากภูมิปัญญาของคนรุ่นหลัง ตั้งแต่กระบวนการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ได้เส้นไหม นำมาทอผ้าไหม แต่ด้วยลวดลายในการทอที่ยังเป็นแบบเดิมๆ ลวดลายยังไม่ทันสมัย ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าไม่ถึง มีการใช้สารเคมีในการย้อมสีอยู่และยังไม่เป็นที่ต้องการของตลาดสมัยใหม่และการขยายผ้าไหมยังขายในรูปแบบปากต่อปาก ทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอใช้จ่าย
“จากปัญหาดังกล่าว ทีม U2T for BCG จึงได้พัฒนาสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ เพื่อขยายตลาดให้กว้างขวางขึ้น โดยนำเอาภูมิปัญญาการทอผ้าของชาวบ้านมาผสมผสานกับกระบวนการ Design Thinking มาใช้ในการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ลายโดดเด่นคมชัดสะท้อนความเป็นตำบลลำดวน โดยในกระบวนการย้อมสีนั้น ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์การย้อมสีจากธรรมชาติเพื่อเพิ่มคุณค่าแก่ผ้าไหมมากยิ่งขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันผ้าพันคอนิยมซื้อเป็นสินค้าฝากกันอย่างแพร่หลาย ผ้าไหมมีคุณภาพ ขนาดพอดีและที่สำคัญใช้ได้ในทุกๆ โอกาส อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพทางด้านการตลาด ส่งผลให้ชาวบ้านตำบลลำดวน มีรายได้เพิ่มและเศรษฐกิจดีขึ้น ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าไหมให้ดำรงอยู่ต่อไปพร้อมทั้งเปิดช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมในรูปแบบ online และ offline เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์และขยายตลาด” น.ส.นิสากร กล่าว