กรมควบคุมโรคเผย "โรคไข้มาลาเรีย" ขึ้นสมองทำให้สมองอักเสบ หมดสติ ชักเกร็ง และเสียชีวิตได้ อาจเกิดจากเชื้อพลาสโมเดียมฟัลซิปารัมที่เป็นชนิดรุนแรง ส่วนเชื้อชนิดไม่รุนแรง อาจหลบซ่อนในร่างกายทำให้เป็นๆ หายๆ ได้ สถานการณ์ปี 65 พบป่วย 5.8 พันราย พุ่ง 2.8 เท่าจากปีก่อน "ตาก" ป้วยมากสุด
เมื่อวันที่ 12 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงโรคไข้มาลาเรียขึ้นสมอง ว่า โรคมาลาเรียเป็นโรคติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม นำโดยปรสิตที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ดังนั้น พื้นที่ป่าเขาจะมียุงเยอะ ก็อาจจะมียุงก้นปล่องที่มีเชื้อนี้ได้ โดยเฉพาะแถบชายแดนไทยเมียนมาที่เราพบการติดเชื้อประปราย ปัจจุบันประเทศไทยพบเชื้อนี้น้อยลงมาก เพราะค่อนข้างควบคุมโรคได้ โดยเฉพาะในเมืองที่ไม่มียุงก้นปล่องก็จะไม่เกิดปัญหา ทั้งนี้ โรคมาลาเรียเป็นโรคประจำถิ่นของไทย แต่มีอัตราการเกิดโรคที่น้อยแล้ว เดิมเรียกว่าโรคไข้จับสั่นหรือไข้ป่า เพราะจะเกิดไข้หนาวสั่น วันเว้นวัน บางครั้งเกิดภาวะแทรกซ้อน ไตวาย หรือเชื้อขึ้นสมอง ก็ทำให้สมองอักเสบ หมดสติ ชักเกร็ง ไม่รู้สึกตัว
นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคไข้มาลาเรียมี 2 แบบคือ 1.การป่วยไม่เรื้อรัง และ 2.การป่วยเรื้อรัง ซึ่งการป่วยแบบเรื้อรังมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของเชื้อ มีทั้งแบบเป็นๆ หายๆ เพราะเชื้อไปหลบซ่อนอยู่ในตับ ก็จะมีอาการออกมาเป็นระยะๆ แม้ไม่โดนยุงกัดซ้ำก็มีอาการได้ เชื้อมาลาเรียที่ก่อโรคในคนมี 5 ชนิด ได้แก่ 1.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลชิปารัมหรือพีเอฟ เป็นเชื้อชนิดรุนแรง หากป่วยหนัก อาจมีอาการมาลาเรียขึ้นสมอง ถ้ารักษาไม่ทันอาจถึงตายได้ 2.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์หรือพีวี เป็นเชื้อชนิดไม่รุนแรง แต่ถ้าไม่ได้รักษาให้หายขาด เชื้อสามารถอยู่ในร่างกายคนได้นานหลายปี จึงทําให้มีอาการของโรคไข้มาลาเรียเป็นๆ หายๆ 3.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิหรือพีเอ็ม 4.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเลหรือพีโอ และ 5.เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนวไซหรือพีเค เป็นเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในลิงแสมแล้วติดมาสู่คน
เมื่อถามว่าหากติดเชื้อมาลาเรียแล้วขึ้นสมอง จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างไร นพ.โอภาสกล่าวว่า จะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง ตั้งแต่มีไข้ หมดสติ ชักและเสียชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อติดเชื้อก็ต้องรีบรักษาทันที ย้ำว่าโรคนี้นำโดยยุง ต้องมียุงมากัดจึงจะมีเชื้อ ปัจจุบันโรคไข้มาลาเรียในไทยลดลงเยอะ 1-2 ปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นปีแรกที่เสียชีวิต 1 ราย แต่ปีนี้มีเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบของประเทศเมียนมา ทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในชายแดน ก็มีติดเชื้อบริเวณนั้นเล็กน้อย แต่ไม่เยอะ อย่างที่เคยมีมาลาเรียโนวไซที่เจอในลิง ตอนนี้ก็ควบคุมได้แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลโรคไข้มาลาเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 3 ส.ค. 2565 พบผู้ป่วยสะสม 5,834 ราย เสียชีวิต 1 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ตาก 3,451 ราย แม่ฮ่องสอน 924 ราย และกาญจนบุรี 503 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 2.8 เท่า จำนวนนี้เป็นคนไทย 2,623 ราย คิดเป็น 45% และต่างชาติ 3,211 ราย คิดเป็น 55% กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 25-44 ปี 27.8% กลุ่มอายุ 15-24 ปี 26.5% กลุ่มอายุ 5-14 ปี 23.2% ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเกษตรกร 48.5% รับจ้าง 24.4% และเด็ก/นักเรียน 24.1%