xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าโครงการ Open Education เปิดการศึกษาของนักเรียน ร.ร.สังกัด กทม.ให้มากกว่าในห้องเรียน เริ่มภาคเรียนที่ 2/2565

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



(11 ส.ค. 65) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมโครงการ Open Education โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร กับมูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ (Saturday School Foundation) และสมาคม Thai Startup เพื่อวางแผนดำเนินงานในการออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุกคน โดยมี นางชุลีพร วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ผู้บริหารสำนักการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้แทนสมาชิกของสมาคม Thai Startup ที่เป็นผู้จัดทำระบบจัดการเรียนการสอนและคอร์สเรียนออนไลน์ ได้แก่ Globish, Frog Genius, Classwin, Monkey Everyday และ Notero ร่วมประชุมรับฟังนโยบายและการดำเนินการ ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และประชุมผ่านระบบทางไกล

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่เราได้ภาคีเครือข่ายมาร่วมกันเปลี่ยนแปลง การศึกษาทำได้หลายอย่าง ซึ่งมีหลายมุมมอง และวิธีการที่จะพัฒนา เราต้องปักธงให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกัน การศึกษาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ คือ การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ภาพรวมทั้งหมด เพราะฉะนั้นการที่สำนักการศึกษาจะออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนทุกคน จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องคิดว่า ตลอดเวลาของเด็ก 1 คน เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง และจะมีวิธีการเรียนรู้ในห้องเรียน นอกห้องเรียน อยู่ที่บ้าน หรือวันเสาร์-อาทิตย์ อย่างไร

โครงการ Open Education เป็นโครงการที่มุ่งเติมเต็มการเรียนรู้ของนักเรียนในสังกัดกทม. ผ่านการร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาสังคม ในการแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญให้แก่นักเรียนและโรงเรียนโดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร คณะทำงานนโยบายการศึกษา และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยโครงการนี้ จะนำอาสาสมัคร ครูผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก จัดการเรียนการสอน จัดกิจกรรมให้กับนักเรียน ตามหัวข้อและวิชาที่นักเรียนสนใจและต้องการ ซึ่งจะมีแบบสำรวจโครงการ Open Education เพื่อสำรวจความต้องการของโรงเรียนในการรับการสนับสนุนการจัดหามาสอนนักเรียนและคุณครู ในโครงการ Open Education ปีการศึกษา 2565 ทั้งนี้ กิจกรรมทั้งหมดจะเริ่มในภาคการศึกษาที่ 2/2565 โดยรูปแบบกิจกรรมจะมีทั้งหมด 4 รูปแบบด้วยกัน คือ

1. การเปิดห้องเรียนวิชานอกห้องเรียนในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ห้องเรียนที่เปิด จะเน้นการสอนวิชาที่ปกติแล้วไม่มีสอนในโรงเรียน เช่น ภาษา ดนตรี กีฬา สื่อ ฯลฯ ผ่านรูปแบบการสอนแบบ Active Learning โดยจะมีการสรรหาและอบรมประชาชนทั่วไปที่มีความรู้ในด้านวิชาที่ทางโรงเรียนต้องการให้พร้อมสำหรับการสอนนักเรียน อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 สัปดาห์ โดยปกติแล้ว หนึ่งห้องเรียนจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการสอน ในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สถานที่เรียนจะเป็นห้องเรียนที่โรงเรียน

2. การเปิดห้องเรียนวิชานอกห้องเรียนหลังเลิกเรียน ซึ่งมีด้วยกัน 2 รูปแบบหลัก คือ 1) ทางคณะทำงานจะสรรหาและอบรมประชาชนทั่วไปที่มีความรู้ในด้านวิชาที่ทางโรงเรียนต้องการ ให้พร้อมสำหรับการสอนนักเรียนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 10 สัปดาห์ 2) นำ Platform การเรียนรู้ในสาระวิชาต่าง ๆ ให้ครูและนักเรียนได้ใช้ในการจัดการเรียนรู้

3. กิจกรรมวิชาชีพเลือกเสรี โดยนำข้อมูลความต้องการจากทุกโรงเรียนไปใช้ในการสรรหาองค์กรเอกชนที่สามารถช่วยเสริมทักษะทางวิชาชีพให้นักเรียนได้ รูปแบบอาจขึ้นอยู่กับองค์กรและวิชาชีพที่เลือก อาจมีพนักงานจากองค์กรเข้าไปเป็นวิทยากรรับเชิญ อาจมีการสร้างหลักสูตรและอบรมคุณครู เพื่อนำไปสอนนักเรียนต่อ มี Platform การเรียนรู้ออนไลน์เกี่ยวกับวิชาชีพต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละองค์กร

4. ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่เป็นครู การสรรหาอาสาสมัครและร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้ช่วยครู เพื่อสนับสนุนการสอนวิชาในหลักสูตร ที่อาจจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญมากกว่าคุณครู นอกจากการมีผู้ช่วยครูแบบ Onsite แล้ว จะมี Platform การเรียนรู้ต่างๆ ที่สามารถเสริมความรู้และทักษะสำหรับวิชาในหลักสูตรอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังสำรวจความต้องการของโรงเรียนในการรับ Digital Talent เพื่อเข้าไปช่วยเรื่องเทคโนโลยีอีกด้วย ตามที่ทางสำนักการศึกษามีนโยบายให้โรงเรียนเริ่มใช้ระบบ BEMIS ในการเป็นระบบฐานข้อมูลกลาง ซึ่งแต่ละโรงเรียนอาจมีบุคลากรที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน จึงมีการสร้างระบบอาสาสมัครที่จะเข้ามาช่วยโรงเรียนในการใช้ระบบ BEMIS โดย Digital Talent หนึ่งคนจะดูแลโรงเรียนประมาณ 5 โรงเรียน

“Open Education เป็นโครงการที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ เพราะเป็นการเปิดการศึกษาให้มากกว่าในห้องเรียน อยากให้มองการเรียนรู้ว่ามีความสำคัญแค่ไหน อยากให้เปิดการเรียนรู้ทั้งหมด ซึ่งโครงการ Open Education เพียง 1 โครงการ สามารถครอบคลุมนโยบายด้านการศึกษาทั้งหมด 6 ข้อ คือ 1. After School Program ซึ่งหลายๆ โรงเรียนได้จัดทำอยู่แล้ว คือ การเรียนรู้หลังเลิกเรียน 2. การเปิดโรงเรียนเป็นพื้นที่กิจกรรม 3. พี่สอนน้องนอกเวลาเรียน 4. วิชาเลือกเสรี 5. ผู้ช่วยครูเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และ 6. Digital Talent นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำให้ได้ ซึ่งหลายภาคีเครือข่ายทำอยู่แล้ว และได้นำมาร่วมใช้กับกทม. ถ้ามีความร่วมมือ หรือสามารถพัฒนาด้านใด กทม.ยินดีเป็นอย่างยิ่ง” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น