สธ.แจงให้ รพ.ซื้อยาต้านโควิดเอง มีนโยบายมาแล้ว 3-4 เดือน แต่การออกประกาศต้องพิจารณารอบคอบ เล็งกระจายถึงระดับคลินิก-ร้านขายยา เปิดช่องให้คนใน กทม.เข้าถึง ย้ำไม่ได้แปลว่าให้ผู้ป่วยไปซื้อยาเองได้ ยังต้องจ่ายโดยแพทย์ และต้องจ่ายตามข้อบ่งชี้ ที่ผ่านการวิจัยในกลุ่มเริ่มมีอาการและปัจจัยเสี่ยง
จากกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้โรงพยาบาลทุกสังกัดทั่วประเทศ จัดซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิดได้เอง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2565 มีการวิจารณ์ว่าปรับเปลี่ยนตามเปลี่ยนแปลงการบริหารยาเพราะถูกนักวิชาการกระทุ้ง และมีความเข้าใจผิดว่า เมื่อ รพ.ทุกแห่งซื้อยาต้านไวรัสโควิดได้เอง ทำให้แพทย์จ่ายยาได้ โดยไม่ต้องคำนึงตามข้อบ่งชี้
เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การให้โรงพยาบาลจัดซื้อยาเองได้นั้น เป็นนโยบายที่ออกมา 3-4 เดือนแล้ว แต่การจะออกประกาศอะไรต้องดูให้รอบคอบ ไม่ใช่ว่ามีใครมาเรียกร้องแล้วถึงทำ และเราดูช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ มีผู้รับอนุญาตจำนวนมาก และการซื้อขายยาก็ต้องอยู่ที่บริษัทยาด้วยว่าต้องการขายให้นอกเหนือจากภาครัฐหรือไม่ ถ้าเขาไม่ขายก็ซื้อไม่ได้ ทั้งนี้ ย้ำว่า ช่วงที่ยามีจำกัดแล้วรัฐซื้อและกระจายทำให้ประชาชนทุกคนได้รับความเท่าเทียมในการได้ยา หากปล่อยให้ซื้ออย่างอิสระ คนที่มีกำลังทรัพย์น้อยอาจเข้าถึงยาได้น้อยกว่า แต่ปัจจุบันเรากระจายไปได้ทุกพื้นที่ค่อนข้างครอบคลุม การเพิ่มโอกาสให้บางคนบางกลุ่มเข้าถึงยาได้สะดวกขึ้น โดยเฉพาะคนในเขตเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญ
"เชื่อว่าปัญหาการกระจายยาในต่างจังหวัดแทบไม่มีหรือมีน้อยมาก ส่วนใหญ่ปัญหาอยู่ใน กทม. ซึ่งไม่มี รพ.ชุมชน ไม่มี รพ.สต. ทำให้เวลาสั่งการกระจายยา สธ.ไม่สามารถดำเนินการได้ ก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ กทม.เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้น โดยทำให้ยากระจายไปที่ใกล้ประชาชนมากที่สุด อย่าง กทม.จุดที่ใกล้ประชาชนที่สุดไม่ใช่ รพ.สต. แต่เป็นคลินิก ร้านขายยา แนวคิดคือเอายากระจายไปตรงนั้น ส่วนการจ่ายยา ใช้ยา ย้ำว่าต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ดังนั้น ประชาชนใน กทม.ถ้าไม่ไปใช้สถานบริการตามสิทธิ ก็ไปที่คลินิกเอกชน หากคลินิกไม่มียาก็สามารถออกใบสั่งแพทย์ไปซื้อที่ร้านขายยาได้" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า ตามกำหนดการจะเริ่มวันที่ 1 ก.ย.ที่ให้สถานพยาบาลทุกแห่งซื้อยาได้เอง ส่วนกรณีกระจายไปร้านขายยา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะมีการหารือเพิ่มเติมอีกครั้ง ส่วนวันที่ 1 ต.ค.จะเปลี่ยนจากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงจากนี้ เพื่อให้ทุกคนมีเวลาเตรียมตัว หากประกาศวันนี้ก็อาจจะวุ่นวาย เพื่อให้เตรียมตัวว่าเปลี่ยนแปลวมาตรการอะไรจะตามมา
"ยารักษาโควิดมีทั้งคุณทั้งโทษ ไม่ใช่ยาสามัญที่ใครจะไปกินก็ได้ อย่างกรณียาปฏิชีวนะต่างๆ ก็ไปซื้อร้านขายยาโดยตรงไม่ได้ ในประเทศทางยุโรป ญี่ปุ่น ก็ไม่มีใครไปซื้อยาปฏิชีวนะเองที่ร้านขายยา เพราะอาจเกิดการแพ้ยาหรือเชื้อดื้อยาได้ แต่ที่เราเตรียมกระจายไปร้านขายยา เพราะ กทม.มีปัญหาไม่มีระบบ อย่างต่างจังหวัดที่เข้าถึง รพ.สต.ได้ง่าย แต่ย้ำการจ่ายยาต้องเป็นแพทย์สั่งเท่านั้น" นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การรักษาโรคต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น เบาหวานก็ต้องให้ยารักษาเบาหวาน เป็นข้อบ่งชี้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ เช่นเดียวกับโควิดก็ต้องรักษาตามแนวทางปฏิบัติและข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ที่สำคัญยาต้านไวรัส ทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ตอนที่ทำวิจัยทำในกลุ่มผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการและมีปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงแล้วให้ยากลุ่มนี้ ก็มีคำถามว่า ผู้วิจัยไม่ได้ทำการศึกษาวิจัยแบบนั้น จะทำนอกเหนือจากนั้นหรืออย่างไร และขณะนี้เริ่มมีภาวะ Rebound หายจากโควิดแล้วกลับมาบวกใหม่แม้กินยาต้านไวรัสไปแล้ว นอกจากนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดเป็นยาที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ใช้ไม่ถึงปีก็ยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียง ดังนั้น การใช้ยาควรเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
ถามว่าหากแพทย์จ่ายยาต้านไวรัสโควิดไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ผิดหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หากจ่ายยาไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เรียกว่าจ่ายตามใจหมอ หรือตามใจผู้ป่วย หากเกิดเหตุอะไรขึ้นมา ผู้ป่วยอาจฟ้องร้องได้ ทางที่ดีที่สุดควรต้องจ่ายยาตามอาการ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญ มีคณะกรรมการพิจารณาออกมาแล้วดีที่สุด
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. กล่าวว่า การให้ รพ.ซื้อยาต้านไวรัสเอง ไม่เท่ากับ ประชาชนซื้อยาได้เอง เพราะยาต้านไวรัสต้องจ่ายโดยแพทย์ตามแนวทางเวชปฏิบัติดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด ดังนั้น ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยอาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงแล้วจะไปขอซื้อยาใน รพ. เพราะการวินิจฉัยโรคต้องเกิดจากดุลยพินิจของแพทย์