คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบปลดล็อก "โควิด" จากโรคติดต่ออันตรายเหลือ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ต.ค.นี้ พร้อมเปิดช่องให้ รพ.ทุกสังกัดจัดซื้อยาต้านไวรัสรักษาโควิดได้เอง ตั้งแต่ 1 ก.ย. เชื่อราคาถูกลง หลังมีหลายบริษัทขึ้นทะเบียน เพื่อให้ต่ำกว่าราคากลาง สปสช. ด้าน สธ.ชี้เป็นไปตามสเต็ปเหมือนช่วง "หวัดใหญ่ 2009" ส่วนร้านขายยาต้องรอถัดไป
เมื่อวันที่ 8 ส.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2565 ว่า การประชุมวันนี้มีสาระสำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.เห็นชอบกรอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการหลังกรระบาดใหญ่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยควบคุมการระบาดได้ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย และมีระบบสาธารณสุขรองรับได้ ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกาปรรับเรื่องบริหารยา ซึ่งประสานไปยัง รพ.ต่างๆ ทุกสังกัด จะอนุญาตให้ รพ.ต่างๆ สามารถจัดหายาต้านไวรัสเองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ส่วนค่าใช้จ่ายรักษาผู้ป่วยยังเบิกจากกองทุน สปสช. เหมือนโรคติดเชื้ออื่น ประชาชนยังรักษาได้ตามสิทธิ
2.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องยกเลิกชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย พ.ศ. ... และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ. ... เนื่องจากปรับโควิด จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคในปัจจุบัน แต่ไม่ใช่โรคประจำถิ่น ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อเป็นโรคติดต่ออันตรายมีขั้นตอน ใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีมูลค่ามาก ตอนนี้เราประคองสถานการณ์ได้ แม้มีผู้ติดเชื้อแต่อาการป่วยไม่รุนแรง จำนวนการใช้สถานพยาบาล เครื่องมือแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ อยู่ในระดับควบคุมได้ ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ก็ถึงเวลาสมควรลดระดับลงมา ซึ่งไม่ส่งผลกระทบประชาชน ยังเข้าถึงบริการรับการรักษาได้ วัคซีนเข็มกระตุ้นก็ยังฉีดฟรีว่ากันปีต่อปี
3.รับทราบสถานการณ์โรคโควิดและการเฝ้าระวังสายพันธุ์ ซึ่งสถานการณ์ในไทยมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ประชาชนเริ่มเข้าใจว่า ถ้าโรคไม่รุนแรงสามารถรักษาตัวที่บ้านได้ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง ทุกวันนี้ยังคงสามารถให้การรักษาพยาบาลประชาชนได้ตามดุลยพินิจแพทย์ เรามีการเตรียมยารักษาโรค วัคซีน และการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) เวชภัณฑ์ต่างๆ มีเพียงพอดูแลประชาชน ดังนั้น ดรามาเกี่ยวกับเรื่องยาคงเคลียร์แล้ว เราไม่ได้ขาดยา ไม่ว่าใครบอกว่าขาดยา ต้องดูว่าแพทย์ที่สั่งจ่ายมีดุลยพินิจเช่นไร ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโควิดทุกคนจะได้รับการแจกยาโมลนูพิราเวียร์หรือยาฟาวิพิราเวียร์
"การประชุมวิชาการกรมการแพทย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จ.ภูเก็ต ปลัด สธ. อธิบดีกรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรม ยืนยันว่าเราไม่เคยมีสถานการณ์ขาดยา และมีการจัดส่งยาไปตามเขตสุขภาพ และเขตส่งไปตามจังหวัด ถ้ามีปัญหาที่ใด รพ.ใด ขอให้แจ้งมาเป็น รพ.ไป จะได้ติดตามถูก เพราะแต่ละเขตสุขภาพจะได้รับการจัดสรรยาไปสต๊อกไว้ตามเขตตามปกติอยู่แล้ว คงไม่ได้มีเรื่องอะไร อาจเป็นเรื่องไม่เข้าใจกัน สื่อสารผิดพลาด แต่เราไม่เคยมีสถานการณ์ขาดยา เวชภัณฑ์ใดๆ ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ก็เช่นกัน ทำไมไม่เลิกใช้เพราะยาโมลนูพิราเวียร์ถูกกว่า ย้ำว่าโมลนูพิราเวียร์ให้ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป ส่วนต่ำกว่านั้น ยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ให้ไม่ได้ มีแต่ฟาวิพิราเวียร์ที่นำมารักษาได้ ซึ่งสรรพคุณยาทั้งคู่ใช้รักษาโควิดได้" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทินกล่าวว่า และ 4.โรคฝีดาษลิง ไทยยังควบคุมสถานการณ์ได้ มีการสั่งซื้อวัคซีนเพื่อมารองรับบุคลากรในกลุ่มเสี่ยง ลำดับแรก คือ แพทย์พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในพื้นที่เสี่ยง ตลอดจนผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง วัคซีนจะนำไปให้คนเหล่านี้ ขณะนี้วัคซีนฝีดาษเรายังไม่ได้ให้แพร่หลายเหมือนโควิดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยทั้ง 4 รายที่มีประวัติความเสี่ยงชัดเจน มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูงชัดเจน ผู้สัมผัสใกล้ชิดต่างๆ ยังมีผลเป็นลบอยู่ รายล่าสุดชาวฝรั่งเศสอาการคล้าย ก็นำเชื้อไปตรวจแล้วก็เป็นโรคอื่นไม่ใช่ฝีดาษลิง
เมื่อถามถึงการให้ รพ.จัดหาซื้อยาต้านไวรัสเอง นายอนุทินกล่าวว่า รพ.ทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน สมัยก่อน สธ.รวบทั้งหมดมาแล้วส่งออกไป แต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป ขึ้นกับบริษัทผู้ผลิตยาที่มาขึ้นทะเบียนแล้ว ถ้าตัดสินใจจะขายให้กับ รพ.โดยตรงก็ดำเนินการได้ หรือแม้กระทั่งมาที่ร้านขายยา แต่สิ่งสำคัญคือมีใบสั่งแพทย์ ร้านขายยาก็น่าจะดำเนินการขายได้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตยาจะส่งยาลงไปถึงระดับไหน ก็สอดคล้องสถานการณ์ที่เราประกาศระดับโควิด โดย สปสช.จะทำราคากลางหรือราคาอ้างอิง จึงไม่มีคำว่าราคาดีดขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เมื่อมีความต้องการมากก็คลาย ปล่อยให้เป็นกลไกการตลาด
เมื่อถามว่ามีคนวิจารณ์ว่ากระทรวงฯ รู้สึกช้าไปหรือไม่ที่เพิ่งปล่อยให้ รพ.จัดซื้อยาเอง นายอนุทินกล่าวว่า เราทำตามที่คิดว่าเหมาะสมและถูกต้อง หากฟังตรงนั้นดีตรงนั้นดีแล้วมาเต้นตาม เราคงไม่มีสภาพที่เป็นหน่วยงานที่ควบคุมสถานการณ์เลวร้ายต่างๆ เรามีองค์ความรู้และการตัดสินใจของเราเอง ผ่านคณะกรรมการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งเรื่องการใช้ยา การสรางเสริมภูมิคุ้มกัน และนโยบายบริหารสถานการณ์ มีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ คนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ร่วมกันพิจารณา ถ้าไปฟังตามโซเชียล ซึ่งไม่สามารถหาที่มาที่ไปหรือหลักฐานวิชาการมารองรับก็คงไม่ได้
เมื่อถามถึงเรื่องของการควบคุมราคายาต้านไวรัสหลังจากมีการให้ รพ.จัดซื้อกันเองได้ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ตรงนี้จะเป็นไปตามกลไกการตลาด ซึ่งขณะนี้มีบริษัทมาขึ้นทะเบียนยาโมลนูพิราเวียร์หลายราย จะทำให้เกิดการแข่งขันกันเอง เมื่อ สปสช.กำหนดราคากลางแล้วมีคนขายราคาแพงกว่าก็ไม่มีใครซื้อ เช่น ขาย 30 บาท แต่ให้เบิก 26 บาทก็คงไม่ซื้อ ก็ต้องลดราคาให้ถูกกว่า เป็นกลไกที่จะค่อยๆ ปรับราคาให้ลดลง ทั้งนี้ การเปิดให้ทุก รพ.ซื้อยา เพื่อรองรับการไปสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งการเข้าถึงยาก็จะง่ายขึ้น ไม่ต้องมาอยู่ที่ สธ.ที่เดียว ซึ่งการลดระดับเป็นสเต็ปเช่นนี้ก็คล้ายกับตอนไข้หวัดใหญ่ปี 2009 ยาโอเซลทามิเวียร์ช่วงแรกก็ สธ.จัดหาแล้วกระจายให้ก่อน แต่พอถึงช่วงที่มีมากก็เปิดให้ รพ.จัดซื้อเอง รูปแบบก็เป็นแบบนี้เช่นกัน แต่โอเซลทามิเวียร์ไม่ได้ขยายไปจนถึงระดับร้านขายยา ขึ้นกับว่าเราพิจารณาว่าสถานการณ์ช่วงไหนมีความเหมาะสมที่จะดำเนินการ ไม่ได้เปลี่ยนเพราะว่ามีการมาเรียกร้องอะไร
เมื่อถามถึงเรื่องการต่อรองราคาของ รพ. โดยเฉพาะ รพ.ขนาดเล็กหากซื้อเองอาจต่อรองราคาไม่ได้ นพ.ธงชัยกล่าวว่า เรามีกลไกการจัดซื้อยารวม ทั้งระดับประเทศ สปสช.มีคณะกรรมการซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม โดย รพ.ราชวิถี แล้วส่งยาไป ถ้าเราดูแล้วว่าไม่จำเป็นขนาดระดับประเทศ ก็มีกลไกการซื้อรวมในระดับเขตสุขภาพ ซึ่งเขตกำหนดราคาแล้วเราต่อรองบริษัทให้ แล้วให้บริษัทถาม รพ.ว่าต้องการเท่าไรจะส่งให้ในราคาเดียวกัน มีกระบวนการเหล่านี้ในระบบอยู่แล้ว
ถามถึงการขยายยาต้านไวรัสรักษาโควิดไปที่ร้านขายยาต้องรอ อย.ปลดล็อกก่อนหรือไม่ นพ.ธงชัยกล่าวว่า ในระยะแรกยังขายในร้านขายยาไม่ได้ คือจริงๆ ถามว่าได้ไหมก็ได้ แต่ต้องมีใบสั่งแพทย์ เพราะยายังอยู่ในภาวะฉุกเฉิน แต่ถามว่าร้านขายยาไหนจะไปซื้อเพราะราคายังไม่ถูกมาก และต้องไปสต๊อกยา การหาซื้อถ้ายังไม่แพร่หลาย ดังนั้น เราต้องหาเจ้าให้ขายเยอะขึ้น ตอนนี้เรามี 3-4 เจ้า ถ้าเยอะขึ้นกระบวนการการตลาดจะเกิดขึ้น คือ รพ.เอกชนซื้อได้ ราคาถูกลง และยิ่งถูกลง มีมากขึ้น ความต้องการประชาชนมากขึ้น ร้านขายยาก็อาจเข้ามาร่วมจัดซื้อได้ แต่ก็ต้องรอ อย.ไปปลดล็อกไปด้วยกันด้วย ตอนนี้คิดว่ายาต้านไวรัสน่าจะกระจายไปในระดับคลินิกก่อนเหมือนหวัด 2009