xs
xsm
sm
md
lg

หน่วยงานด้านสาธารณสุขร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกในพื้นที่ กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกับหน่วยงานด้านสาธารณสุข กรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

วันนี้ (3 ส.ค.) เวลา 13.30 น. พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบ Microsoft Teams โดยมีผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กองระบาดวิทยา สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข เข้าร่วมประชุม

ทั้งนี้ การประชุมได้มุ่งเน้นการให้ความรู้ทั่วไปและแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรสำหรับสถานพยาบาล โดย พญ.ณิชกุล พิสิฐพยัต กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นโรคจากสัตว์สู่คน (Zoonosis Diseases) ที่เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus มักมีรายงานผู้ป่วยในประเทศแถบแอฟริกาตอนกลางและตะวันตก แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ West African ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 1 สายพันธุ์ Central African ซึ่งมีอาการรุนแรงกว่า อัตราป่วยตายอยู่ที่ร้อยละ 10 มีสัตว์รังโรคที่ยังไม่มีความรู้ที่แน่ชัด แต่คาดว่า น่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก โดยเฉพาะในสัตว์กัดแทะ และลิง การติดต่อเป็นรูปแบบจากสัตว์สู่คนโดยการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผลของสัตว์ป่วย หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และรูปแบบจากคนสู่คนโดยการสัมผัสรอยโรค สารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Droplet respiratory particle) หรือสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของ ผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า นอกจากนี้ ยังมีการตั้งสมมติฐานว่าโรคฝีดาษวานรอาจสามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ แต่ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ

โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) มีระยะฟักตัว: 5-21 วัน โดยปกติอาการของโรคนี้จะแสดงอาการไม่รุนแรงถึงรุนแรงปานกลาง แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงอาการนํา (วันที่ 0-5) จะมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อและหมดแรง ช่วงออกผื่น (ภายใน 1-3 วันหลังมีไข้) จะมีลักษณะการกระจายเริ่มจากบริเวณหน้า และกระจายไปส่วนต่างๆ ของร่างกาย (Centrifugal pattern) ส่วนใหญ่ (95%) ของผู้ป่วยจะมีผื่นที่หน้า และ 75% มีผื่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า แต่ยังสามารถพบผื่นได้ที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น ช่องปาก (70%) อวัยวะเพศ (30%) ลักษณะของผื่นจะพัฒนาไปตามระยะดังต่อไปนี้ ผื่นนูนแดง (Maculopapular) ตุ่มน้ำใส (Vesicles) ตุ่มหนอง (Pustules) และสะเก็ด (Crust) โดยพบว่าหากผู้ป่วยมีผื่นลักษณะสะเก็ดขึ้นจนแห้งและร่วงหลุดไป จะไม่มีการแพร่เชื้อได้ ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงมักจะสามารถหายได้เอง แต่สามารถพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ อาทิ เด็กที่มีปัญหาด้านสุขภาพส่วนบุคคล เช่น มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้มีอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อซ้ำซ้อน ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ การติดเชื้อเข้ากระแสเลือด และการติดเชื้อที่กระจกตา อาจนําไปสู่การสูญเสียการมองเห็น

สถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก จากกระดานข้อมูลองค์กรอนามัยโลก (วันที่ 28 กรกฎาคม 2565) พบว่า 98.9% (13740/13893) ที่มีข้อมูลสมบูรณ์เป็นเพศชาย มัธยฐานอายุ 36 ปี (IQR 31-43) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยในการระบาดครั้งนี้ (77.1%) เป็นผู้ป่วยชาย อายุระหว่าง 18-44 ปี และจากข้อมูล 13,933 รายที่มีข้อมูลสมบูรณ์ของอายุ พบว่า มีผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 17 ปี จํานวน 84 ราย (0.6%) โดยมี 24 ราย อายุน้อยกว่า 4 ปี (0.2%) ส่วนประวัติอื่นๆ พบว่า 1. รสนิยมทางเพศจากข้อมูล 6,099 ราย ที่มีความสมบูรณ์ของตัวแปรนี้ 98.3% (5996/6099) ระบุตนเองว่าเป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย (MSM) 2. ในผู้ป่วยที่เคยตรวจหาการติดเชื้อ HIV พบว่า 38.0% (2,352/6,197) มีผลบวกต่อ HIV 3. ผู้ป่วย 322 ราย (เพิ่มขึ้น 79 ราย) เป็นบุคลากรทางการแพทย์ แต่ส่วนใหญ่ติดมาจากในชุมชน 4. โหมดการแพร่เชื้อ คือ สัมผัสขณะมีเพศสัมพันธ์ 91.5% (3,603/3,939) และ 5. สถานที่ที่น่าจะเป็นแหล่งการติดเชื้อ คือ ปาร์ตี้ที่มีกิจกรรมสัมผัสทางเพศ 41.2% (569/1380)

สำหรับแนวทางปฏิบัติการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการป้องกันการติดเชื้อกรณีโรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ฉบับที่ 1 วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ได้กำหนดคํานิยามผู้ป่วยไว้ดังนี้ 1. ผู้ป่วยสงสัย (suspected case) คือ ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ 1) ไข้ (อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส) หรือ ให้ประวัติมีไข้ร่วมกับอาการอย่างน้อยหนึ่งอย่างต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หรือ 2) มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังหรือเคยมีผื่นหรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลําตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองหรือตุ่มตกสะเก็ด โดยเป็นผื่นระยะเดียวกันพร้อมกันทั้งตัว หรือ เป็นผื่นที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปกติ ร่วมกับ มีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา (epidemiological linkage) ภายในเวลา 21 วันที่ผ่านมาหนึ่งข้อดังต่อไปนี้ 1) มีประวัติการสัมผัสที่ทำให้แพทย์วินิจฉัยสงสัยโรคฝีดาษวานร หรือ 2) มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ/เข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรหรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจาต่างประเทศ หรือ 3) มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่นําเข้ามาจากถิ่นระบาด เช่น ทวีปแอฟริกา

2. ผู้ป่วยยืนยัน (confirmed case) คือ ผู้ป่วยสงสัยที่มีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันอย่างน้อย 2 ห้องปฏิบัติการ จากเทคนิคการตรวจข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1) พบสารพันธุกรรม monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธี Real-time PCR จําเพาะต่อ MPXV 2) พบสารพันธุกรรม monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธี DNA sequencing เพื่อหายีนที่จําเพาะต่อ MPXV 3) พบเชื้อ monkeypox virus (MPXV) ด้วยวิธีเพาะเชื้อไวรัส (viral isolation) สำหรับผู้ป่วยยืนยัน จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อจําแนกว่าเป็นผู้ป่วยนําเข้า (imported case) หรือผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ (local transmission) โดยพิจารณาตามนิยามผู้ป่วยนําเข้า

ทั้งนี้ แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานรในระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน คือ เมื่อพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ (suspected case) ได้แก่ 1. ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับอาการตามเกณฑ์ทางคลินิก หรือเกณฑ์ทางระบาดวิทยา (ตามประกาศของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) หรือ 2. ผู้ป่วยที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโรคฝีดาษวานร ให้ปฏิบัติตามแนวทางดังนี้ 1. ให้รับไว้เป็นผู้ป่วยใน โดยให้อยู่ในห้องแยกโรคเดี่ยว (single isolation room) ที่มีห้องน้ำในตัวระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จนกว่าจะทราบผล 2. บุคลากรทางการแพทย์สวมชุด PPE ตามความเสี่ยงของกิจกรรม 3. การเก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อ ให้ปฏิบัติตามแนวทางของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ พิจารณาตามความเหมาะสม และให้ปฏิบัติตามมาตรฐานของห้องปฏิบัติการ

ในส่วนของแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานรในคลินิก หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เมื่อพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ (suspected case) ได้แก่ 1. ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับอาการตามเกณฑ์ทางคลินิก หรือเกณฑ์ทางระบาดวิทยา (ตามประกาศของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค) หรือ 2. ผู้ป่วยที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาสงสัยว่าเป็นโรคฝีดาษวานร ให้ปฏิบัติดังนี้ 1. พื้นที่ กทม. แจ้งทีมสอบสวนโรคในพื้นที่ สปคม. สำนักอนามัย 2. พื้นที่ส่วนภูมิภาค แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อติดตามสอบสวนโรค และประสานทางโรงพยาบาล เพื่อมารับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคและดำเนินการตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค และนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรักษาเป็นผู้ป่วยใน ซึ่งการบริหารจัดการเมื่อพบผู้ป่วยยืนยัน (confirmed case) ให้ admit ทุกรายในโรงพยาบาล เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายโรคและเพื่อการติดตามอาการ












กำลังโหลดความคิดเห็น