xs
xsm
sm
md
lg

ชู “ลากลิ่มเลือด” รักษาเส้นเลือดสมองตีบ หากรับยาละลายไม่ทัน-ไม่ได้ผล บรรจุทุกสิทธิรักษาแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันประสาทฯ พัฒนาการรักษาหลอดเลือดสมองอุดตันด้วยการลากลิ่มเลือด” หากใช้ยาละลายลิ่มเลือดไม่ได้ผล หรือเกินเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง หากเส้นเลือดใหญ่ตำแหน่งเหมาะสม จะใส่สายสวนทำให้แผลเล็ก ใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง วันรุ่งขึ้นกลับมาเดินได้ บรรจุเข้าทุกสิทธิการรักษา ทำแล้ว 130 รายต่อปี

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ปาฐกถาเนื่องในวันครบรอบ 65 ปี สถาบันประสาทวิทยา ว่า สถาบันประสาทวิทยาก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2500 ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สถาบันประสาทฯ เป็นศูนย์ความเป็นเลิศ 5 ด้าน คือ 1. โรคหลอดเลือดสมอง 2. โรคเนื้องอกระบบประสาท 3. ระบบประสาทไขสันหลัง 4. ระบบประสาทภูมิคุ้มกัน และ 5. ระบบประสาทลมชัก ขณะนี้มีการพัฒนานวัตกรรมการรักษาหลายอย่าง อย่างรอบปีที่ผ่านมามีการพัฒนาการรักษาหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ด้วยวิธีการ “ลากลิ่มเลือด” จากเดิมที่ใช้วิธีการให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ไม่ได้ผล ทำให้คนไข้ที่นอนอ่อนแรง ก็กลับมาเดินได้ ซึ่งได้รับการบรรจุในสิทธิประโยชน์ของทุกสิทธิการรักษา ซึ่งราคาก่อนบรรจุสิทธิประโยชน์อยู่ที่ 2 แสนบาท อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวแพทย์ยังทำได้ไม่มาก อาจยังไม่ได้ทั่วประเทศ จึงมีการอบรมให้แพทย์เฉพาะทางตาม รพ.ใหญ่ๆ ให้ทำให้ได้

นอกจากนี้ ยังร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำ Mobile Stroke Unit ให้บริการประชาชน โดยศิริราชดูแลโซนกรุงธน สถาบันประสาทฯ มี 2 คัน ดูแลโซนกรุงเทพชั้นกลาง และ รพ.นพรัตนราชธานี 1 คัน ดูแลโซนตะวันออก เป็นการเพิ่มการเข้าถึงประชาชน ซึ่งสามารถวินิจฉัย ช่วยเหลือเบื้องต้นบนรถได้เลย โดยทำเอกซเรย์ซีทีสแกนให้เห็นพยาธิสภาพในสมอง และให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ การตั้งศูนย์วางแผนการผ่าตัดรักษาโรคลมชักแห่งแรกในประเทศ โดยผ่าตัดรักาาลมชักที่ใช้ยาไม่ได้ผล ทำให้ช่วยหยุดการชักได้ การใช้กัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยลมชักในเด็ก 2 ประเภท ที่ใช้ยาประเภทอื่นแล้วไม่ได้ผล ไม่ได้เป็นทางเลือกแรก กำลังศึกษาร่วมกับ รพ.ประสาทเชียงใหม่ ในการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสัน ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกันประสาทวิทยา เราก็มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะดูแลแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โควิดทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป เราวางให้ทุก รพ.กรมการแพทย์เปลี่ยนแปลงการดูแลจากใน รพ. (Hospital Base) เป็นการดูแลส่วนบุคคล (Personal Base Care) หลายคนหลายโรคไม่จำเป็นต้องมา รพ. โดยให้ไปออกแบบกระบวนการเพื่อลดการมา รพ. เช่น โรคไม่ติดต่อ เบาหวาน ความดัน ไม่ต้องมาเจาะเลือดที่ รพ. มีบริการเจาะเลือดที่บ้าน อาจเสียค่าบริการเพิ่มบ้าง หรือเจาะเลือดใกล้บ้าน เช่น ปตท.กำลังทำเจาะเลือดปั๊มน้ำมัน ข้อมูลจะถูกส่งเข้า รพ. ถ้าผลเลือดไม่ได้เป็นอะไรมาก ก็พบแพทย์ออนไลน์ เรามีแอปพลิเคชัน DMS Telemedicine และส่งยาทางไปรษณีย์ จะช่วยลดความแออัด อนาคตอยากเปลี่ยนการดูแลจากที่ รพ.เป็นดูแลทุกที่ทุกเวลา โอเพนแพลตฟอร์ม

“อย่าง รพ.ราชวิถี ตั้งเป้าหมายวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะลดผู้ป่วยนอก (OPD) ลง 20% จากคนไข้หมื่นคนหายไปสองพันคน ส่วนสถาบันประสาทฯ ขณะนี้ทำสมาร์ท โอพีดี ลดความแออัด ลดเวลาการมา รพ.ทำไอพีดีที่สะอาด ทุกวอร์ดเร่งติดแอร์ทั้งหมด ตั้งเป้าทุก รพ.กรมการแพทย์จะติดแอร์ทั้งหมดภายในปีนี้ และเรื่องเสิร์ฟอาหารเวลาคนไข้ที่ต้องอุ่นร้อนตลอดเวลา สถาบันฯ ยังทำเทเลเมดิซีนและเทเลคอนซัล ปรึกษาให้ รพ.ต่างจังหวัด เรื่องหลอดเลือดสมอง และระบบประสาท ก้าวต่อไปของสถาบันประสาทฯ จะเป็นสถาบันการแพทย์แห่งชาติ เชี่ยวชาญขั้นสูง ด้านโรคสมอง ไขสันหลัง และระบบประสาท เป้นที่ยอมรับเชื่อมั่นในระดับประเทศและนานาชาติ” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมอง หากมีอาการ FAST คือ F Face หน้าเบี้ยว A Arm แขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง S Speech การพูดติดขัด พูดไม่ออก พูดไม่ได้ T Time เวลา มาให้เร็วภายใน 4 ชั่วโมงครึ่ง ก็จะให้ยาละลายลิ่มเลือด แต่ถ้ายาละลายลิ่มเลือดไม่ได้ผล เช่น เกิน 4 ชั่วโมงครึ่งไปแล้ว ก็จะส่งมา รพ.เพื่อฉีดสีและลากลิ่มเลือด โดยจะพิจารณาเรื่องขนาดเส้นเลือดที่ใหญ่ อายุ และตำแหน่งที่ตีบว่าสามารถลากลิ่มเลือดได้หรือไม่ หลังทำเสร็จวันรุ่งขึ้นคนไข้ก็เดินได้เลย ลดอัตราเสียชีวิตและความพิการ ขณะนี้เราทำประมาณ 120-130 รายต่อปี ใน กทม.สามารถส่งต่อมาที่สถาบันประสาทฯ ได้ ไม่มีเต็มสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

สำหรับการลากลิ่มเลือดจะคล้ายการสวนหัวใจ จะใส่สายเล็กๆ ตรงข้อมือหรือข้อพับขา สายจะไชขึ้นไปที่สมอง โดยการเอกซเรย์และลากลิ่มเลือดออกมา การลากลิ่มเลือดใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ทำให้ไม่เกิดแผลขนาดใหญ่ ตอนนี้ทุกสิทธิการรักษาสามารถใช้ได้หมด ส่วนการลากลิ่มเลือดสามารถรอได้ 24 ชั่วโมงขึ้นกับการเอกซเรย์สมองว่าลากลิ่มเลือดได้หรือไม่ หากนานกว่านั้นอาจไม่ได้ เพราะเส้นเลือดอาจแตกได้ ทั้งนี้ บางคนคิดว่าไม่ทันให้ยาละลายลิ่มเลือดใน 4 ชั่วโมงครึ่งเลยไม่มา แต่ย้ำว่าขอให้รีบมา เพราะยังสามารถพิจารณาการลากลิ่มเลือดได้

“การลดความแออัดช่วง 3 ปี เราลดโอพีดี 10-15% แต่โควิดลดไปได้ 20 กว่า% เนื่องจากส่วนหนึ่งเรารับส่งต่อมาจากต่างจังหวัดไกลๆ เช่น เหนือ อีสาน ใต้ ช่วงโควิดการเดินทางลำบากมาก เลยเปิดบริการเทเลเมดิซีนทำให้คนไข้เข้าถึงได้ คุยกับหมอเจ้าของไข้เอง ตอนนี้ก็ทำสำเร็จ ทำไปประมาณ 3 หมื่นกว่ารายใน 3 หมื่นปี จากปีละพันเพิ่มมาเป็นปีละหมื่นราย และลดค่าใช้จ่ายคนไข้ได้มหาศาล เพราะค่าใช้จ่ายการเดินทางบางคน 3 หมื่นกว่าบาท และค่าเสียโอกาสอีก เพราะต้องมีญาติลางานมาด้วย บริการเทเลเมดิซีนของสถาบันประสาทฯ จะเป็นกลุ่มคนไข้ที่อาการคงที่และไม่เปลี่ยนแปลง หากเปลี่ยนแปลงแพทย์ดูจากวิดีโอคอลล์ได้เลย” นพ.ธนินทร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น