กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โควิดเริ่มคงตัว คาดป่วยหนักและเสียชีวิตจะลดลงใน 2 สัปดาห์ ย้ำ BA.4/BA.5 ค่อนข้างดื้อวัคซีน หากฉีดเข็มล่าสุดเกิน 3-4 เดือนให้ฉีดเข็มกระตุ้น คาดสัปดาห์หน้ากระจาย LAAB ทั้ง 7 พันโดสทุกจังหวัด ย้ำต้องได้รับครบ 2 เข็มที่สะโพก จะมาครบ 2.5 แสนโดสใน 2 เดือนนี้
เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของประเทศไทยมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลง โดยวันนี้มีผู้ป่วยเข้ารักษาใน รพ. 2,108 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 879 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 457 ราย ซึ่งลดลงจากวันก่อน และผู้เสียชีวิต 19 ราย ซึ่งลดลงมา 2-3 วันต่อเนื่อง จากเดิมพบวันละ 30 กว่าราย ส่วนการรักษาแบบคนไข้นอกยังมากอยู่ สัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 201,554 ราย สำหรับผู้เสียชีวิต 19 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ซึ่งขณะนี้การระบาดเป้นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ค่อนข้างดื้อต่อวัคซีน การฉีดเข็มกระตุ้นเป็นปัจจัยสำคัญช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ดังนั้น หากฉีดเข็มสุดท้ายมากกว่า 3-4 เดือนขึ้นไป สามารถไปฉีดเข็มกระตุ้นได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
"สถานการณ์โรคโควิด 19 ยังเป็นไปตามคาดการณ์ไว้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่เริ่มคงตัว ยังอยู่ในเกณฑ์สีเขียว แสดงว่าระบบสาธารณสุขรองรับผู้ป่วยได้ดี ไม่ต้องกังวลเรื่องเตียงเต็ม เนื่องจากผู้ป่วยอาการหนักไม่ได้มากตามจำนวนผู้ติดเชื้อ เพราะมีการฉีดวัคซีนมากค่อนข้างมาก คาดว่าผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตแนวโน้มเริ่มคงตัวและลดลงใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า ช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา มีวันหยุดยาวหลายวัน มีประชาชนเดินทางกลับบ้านกันเยอะ ต้องติดตามสถานการณ์ในต่างจังหวัดว่าจะมีการระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ จึงขอให้ดำเนินการมาตรการ 2U คือ Universal prevention คือ มาตรการป้องกันตนเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และ Universal Vaccination โดยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต
สำหรับการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือภูมิคุ้มกันออกฤทธิ์ชนิดยาว (Long Acting Antibody :LAAB) จะเรียกว่ายา ฉีดไปมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคโดยตรง อยู่ได้นาน 6 เดือน ประโยชน์นั้นเหมาะกับประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไม่ดี โดย 1 กล่องมีภูมิคุ้มกัน 2 ชนิด บรรจุ 2 ขวด จะฉีดพร้อมกันครั้งเดียวบริเวณสะโพก จึงไม่ต้องแปลกใจว่ารับ 2 เข็มเป็นการรับเกินโดสหรือไม่ ย้ำว่าถ้าฉีดเข็มเดียวแปลว่าฉีดไม่ครบ ส่วนข้อบ่งใช้ คือ ใช้ป้องกันล่วงหน้าก่อนรับเชื้อสำหรับคนที่ร่างกายตอบสนองภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือแพทย์ที่ดูแลคนไข้มองว่าควรรับ LAAB ถือเป็นเปิดกว้างให้เข้าถึงมากที่สุด เบื้องต้นใช้ในเด็ก 12 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีการฟอกเลือด ล้างไตหน้าท้อง และปลูกถ่ายไต เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการเสียชีวิตสูง รวมถึงคนปลูกถ่ายอวัยวะและรับยากดภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ การบริหารจัดการ การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายขึ้นกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ขณะนี้มีการกระจายยา เบื้องต้นสัปดาห์หน้าจะกระจายครบ 7 พันโดสไปทุกจังหวัด ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยเรื้อรังต้องดูแลโดยแพทย์ต่อเนื่อง การให้ยาจึงขึ้นกับดุลยพินิจแพทย์ว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะรับ LAAB เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียมกันและเร็วที่สุด สธ.อยากให้กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงยามากที่สุด และภายใน 2 เดือนนี้ยาจะมา 2.5 แสนโดส ถ้าเราเร่งฉีดไปจะลดการเสียชีวิตได้ จะพยายามไม่ให้มีข้อจำกัดการให้มากนัก จะกระจายทุกจังหวัด แต่การให้ขอให้เป็นดุลยพินิจแพทย์ดูแลผู้ป่วย
"เรามีการทดสอบระบบที่สถาบันบำราศนราดูร มีผู้ป่วยโรคไต 3 รายมารับยาวันแรก จากการสอบถามพบว่า ฉีดแล้วความเจ็บน้อยกว่าวัคซีนทั่วไป แต่ฉีดสะโพก 2 ข้าง การจัดส่งการเก็บจะอยู่ในตู้เย็นธรรมดา 2-8 องศาเซลเซียส เหมือนวัคซีนทั่วไป เก็บง่ายกว่าวัคซีน mRNA ที่ต้องอุณหภูมิต่ำกว่านี้ ประชาชนผู้ป่วยให้สอบถามแพทย์ที่รักษาว่ามีการกระจายยามาหรือไม่" นพ.โอภาสกล่าว