xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” บรรยายหัวข้อ “216 โครงการกับการพลิกโฉมมหานคร” แก่บัณฑิตและมหาบัณฑิต ม.เกษตรศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สร้างความเข้าใจ 216 นโยบาย กรุงเทพฯ ให้กับนิสิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รับบรรยายไม่ตรงโจทย์ เล่าทำอย่างไรได้เป็นผู้ว่าฯ แจงเหตุ ไม่รับฝาก กทม. ชี้ช่วยกันร่วมมือกัน สร้างกทม.ให้เป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน

วันนี้ (30 ก.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บรรยายหัวข้อ “216 โครงการกับการพลิกโฉมมหานคร” ในโครงการ Reskill & Upskill เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต ที่สำเร็จการศึกษาในปี 2563 และ 2564 ในธีม “CEO Vision: ภาวะผู้นำกับการยกระดับเมืองหลวง” ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เขตจตุจักร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วันนี้ได้รับเกียรติให้มาบรรยายในหัวข้อ 216 โครงการกับการพลิกโฉมมหานครให้แก่บัณฑิต มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อันนี้คือโจทย์ที่ให้มา แต่ที่จะพูดในวันนี้คือ เรื่องที่อยากจะพูด ทำอย่างไรถึงได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำอย่างไรถึงได้ 1.3 ล้านคะแนน เริ่มจากการกำหนดยุทธศาสตร์ CEO กับ Manager ต่างกันอย่างไร CEO คือผู้กำหนดว่าจะต้องทำอะไร Manager คือผู้นำแนวทางนั้น ๆ ไปปฏิบัติตาม เหมือนการเดินปีนเขา CEO จะวางแผนว่าต้องเดินไปตามเส้นทางเหล่านั้น Manager จะนำแผนนั้น ๆ ไปทำตามให้เกิดผลสำเร็จ

การที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จตามยุทธศาสตร์ มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1. เราเชี่ยวชาญเรื่องที่จะทำหรือไม่ เราต้องรู้เรื่องที่จะทำ รู้ให้เท่าคนที่ทำไว้อยู่ก่อน เรื่อง ขยะ สิ่งแวดล้อม จราจร เราจะต้องมีคำถามมากกว่าคำตอบ เรารู้สึกว่าอยากรู้ เรารู้มากพอแล้ว หรือที่จริงแล้วเรายังรู้ไม่พอ เราจึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องนั้น ๆ มาร่วมทีม ต้องลงพื้นที่หาความรู้เพิ่มเติม รวมถึงเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์

2. สิ่งที่เราทำยังจำเป็นอยู่ ยังใช้ได้ไหม หรือล่าช้าไปแล้ว โดยนำมาเป็น Passion หรือความชอบในการทำงาน เรามีทีมที่มีความหลากหลาย ทั้งอาสาสมัครเมือง อาสาสมัครชุมชน และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ ใช้วิธีการหาเสียงแบบสร้างสรรค์ ใช้วิธีการใหม่ที่ดีกว่าเดิม เช่น ทำป้ายหาเสียงขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ให้น้อยลง เป็นการคิดนอกกรอบ สุดท้ายยังนำไปทำกระเป๋าได้ เป็นการนำสิ่งของกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า การสื่อสารได้ง่ายขึ้น ความสำคัญของการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้

3. ทีมสนุกกับสิ่งที่ทำอยู่หรือไม่ เพิ่มความหลากหลายในการหาเสียง ป้ายหาเสียง ถ้าเราใส่นโยบายลงไปเยอะๆ ประชาชนก็ไม่อยากอ่าน การขึ้นไปยืนบนลังในการปราศรัยหาเสียงโค้งสุดท้าย เพราะฉะนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ เด็กรุ่นใหม่จึงกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าถาม

“โครงสร้างของเมืองเหมือนเส้นเลือดในร่างกาย การพัฒนานโยบายของกรุงเทพมหานคร เราจะไปลงทุนกับเส้นเลือดใหญ่มากกว่าเส้นเลือดฝอย ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา เช่น การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ แต่ไม่พัฒนาเรื่องการขุดลอกคลอง ซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดฝอยในการระบายน้ำ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติของเมืองที่กรุงเทพมหานครได้รับ 1/98 คืออะไร 1 คือเมืองน่าเที่ยว ส่วน 98 คือเมืองน่าอยู่ ทำอย่างไรเมืองถึงน่าเที่ยวและน่าอยู่ไปพร้อมๆกัน เมืองน่าอยู่ต้องประกอบด้วย 9 ดี ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี โครงสร้างดี เรียนดี บริหารจัดการดี ซึ่งรวมอยู่ในนโยบาย 216 ข้อ ตอบโจทย์แผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่ทุกนโยบายมีความครอบคลุมทุกกลุ่ม ที่ผ่านมาเราทำอะไรไปบ้างแล้ว บางเรื่องสำนักงานเขตสามารถดำเนินการได้เลย การปลูกต้นไม้ล้านต้น ในช่วงแรกเราจะได้ยินว่าจะทำได้อย่างไร แต่ขณะนี้เราปลูกต้นไม้ได้ถึงล้านสามแสนต้น โดยไม่ได้ใช้เงินลงทุน แต่ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกัน

“จากการลงพื้นที่ประชาชนจะบอกว่า ฝากกทม.ด้วย แต่ไม่รับฝาก เรามาช่วยกันร่วมมือกัน สร้างกทม.ให้เป็นเมืองน่าอยู่ สำหรับทุกคน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในช่วงท้าย








































กำลังโหลดความคิดเห็น