“ปานเทพ” เผย เกิน 1 ล้านคนแล้ว คนลงทะเบียนขอปลูกกัญชากัญชง ผ่านแอปฯ “ปลูกกัญ” ของ อย. เชิญชวนลงทะเบียนเพิ่ม เพื่อรักษาสิทธิของตัวเองในอนาคต ย้ำปลดล็อกัญชาพร้อมมาตรการควบคุม ดำเนินไปตามฉันทมติของประชาชน
วันนี้(30 ก.ค.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก“ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” ว่า ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ได้ปรากฏรายงานสถิติการเข้าใช้งานแอพ “ปลูกกัญ” ขององค์การอาหารและยา โดยมีผู้เข้าใช้งานในระบบประมาณเกือบ 45 ล้านครั้ง มีผู้จำนวนผู้ลงทะเบียนแล้ว 1,019,800 คน โดยเป็นการออกใบรับจดแจ้งกัญชา 987,746 ใบ และเป็นการออกใบรับจดแจ้งกัญชงจำนวน 32,054 ใบ[1]
ผู้ที่ลงทะเบียนครั้งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาในกรรมาธิการฯที่จะได้สิทธิในการคุ้มครองการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. ดังนั้น ใครยังไม่จดแจ้งขอให้รีบไปจดแจ้งแสดงตนเพื่อรักษาสิทธิของตัวเองที่อาจเกิดขึ้นด้วย ซึ่งน่าจะยังมีคนยังไม่ได้จดแจ้งอีกมาก
เพราะนิด้าโพลเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2565 ระบุว่า ประชาชนความคิดเห็นของประชาชนต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ทำให้การปลูก เสพ สูบ บริโภค สามารถทำได้ถูกกฎหมาย ทั้งเห็นด้วยมาก และค่อนข้างเห็นด้วยรวมกันทั้งสิ้น 58.55% [2]
นอกจากนั้นยังมี โครงการ ศึกษาสถานการณ์ การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย ระหว่างปี 2562-2563 โดยความร่วมมือระหว่าง หน่ายระบาดวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ในปี 2564 พบเรื่องสำคัญที่น่าสนใจบางประการดังนี้
ประชาชนกลุ่มสำรวจเห็นว่าควรอนุญาตประชาชนทั่วไปมีสิทธิปลูกกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้มากถึง 94.2%[3]
ประชาชนกลุ่มสำรวจเห็นว่า ควรอนุญาตให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปกัญชาใช้เพื่อการผ่อนคลายได้มากถึง 65.3%[3]
ประชาชนกลุ่มสำรวจเห็นว่า ควรอนุญาตประชาชนทั่วไปมีสิทธิปลูกกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ใช้เพื่อการผ่อนคลายได้มากถึง 61.3 %[3]
ประชาชนกลุ่มสำรวจเห็นว่า อุตสาหกรรมกัญชาจะทำรายได้จำนวนมากให้กับประเทศมากถึง 80%[3]
แต่ประชาชนกลุ่มสำรวจเห็นว่า ควรมีกฎหมายกัญชาที่ควบคุมเหมือนเหล้า 75% และเหมือนควบคุมบุหรี่ 75.8%[3]
ส่วนข้อเสนอของกลุ่มแพทย์บางกลุ่มที่ว่า กัญชาควรเป็นสารเสพติดให้โทษทั้งใช้กรณีแพทย์และเหตุผลอื่นเหมือนในอดีตเพียง 21.6% เท่านั้น[3]
การที่ประชาชนมีความเห็นเป็นเช่นนั้นสอดคล้องไปกับผลการศึกษาในโครงการเดียวกันพบว่าการใช้กัญชาที่จ่ายถูกต้องโดยคลินิกในแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขรวมกันทั้งประเทศไทยได้ 7.6% เท่านั้น มีคนใช้กัญชา “เพื่อทางการแพทย์” ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายมากถึง 74% แม้จะเพิ่มขึ้นบ้างในเวลาต่อมา แต่ก็ยังห่างกันมากอยู่ดี
ซึ่งในข้อเท็จจริงในรอบหลายปีที่ผ่านมายังพบอีกว่าน้ำมันกัญชาจำนวนมากที่ผลิตออกมาแต่แพทย์ในภาครัฐจ่ายไปเพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งหมดอายุ ทั้งๆที่ประชาชนต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์อีกจำนวนมาก
ซึ่งแปลว่าช่องว่างความต้องการของประชาชนที่ต้องการใช้ประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์ ไม่สอดคล้องกันอย่างมาก
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการปลดล็อกัญชาก็ดี มาตรการที่ทางรัฐบาลควบคุมมิให้จำหน่ายให้กับเด็ก เยาวชน รวมถึงในโรงเรียนและสถานศึกษา รวมไปถึงร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง นั้น กำลังดำเนินไปตามฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชนจำนวนมากแล้ว
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
30 กรกฎาคม 2565
อ้างอิง
[1] องค์การอาหารและยา, รายงานสถิติการเข้าใช้งานแอพ “ปลูกกัญ”ข้อมูลถึง ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2565
https://www.fda.moph.go.th/Pages/images/NEWS/0765/report_plookganja2607650700.jpg
[2] นิด้าโพล,การปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด ระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน 2565, วันที่อัพเดทล่าสุด : 19 มิถุนายน 2565
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=579
[3] สาวิตรี อัษณางค์กรชัย, กนิษฐา ไทยกล้า, มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, สุชาดา ภัยหลีกลี้, ศยามล เจริญรัตน์, ดาริกา ใสงาม, โครงการศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย, คลังข้อมูลและความรู้ระบบสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 2564
https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5346?locale-attribute=th