xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” สั่งตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ 190 สถานี หลังใช้งานมานาน 15 ปี วอนเอกชนอย่างห่วงแต่ฮวงจุ้ย พร้อมยกเครื่องใหม่ให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สั่งตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ 190 สถานี หลังพบใช้งานเกิน 15 ปี พร้อมยกเครื่องใหม่ให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ ชี้ ใช้เงินน้อยเครื่องละ 4 ล้าน เมื่อเทียบกับอุโมงค์ยักษ์ เร่งขุดลอกคลอง หัวใจสำคัญการระบายน้ำ กำชับเสริมกระสอบทรายอุดฟันหลอแนวเขื่อนริมเจ้าพระยา ขอเอกชนให้ความร่วมมือ อย่ากังวลผิดฮวงจุ้ย แนะเอาชีวิตรอดก่อน

วันนี้ (29 ก.ค.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของสถานีสูบน้ำบางซื่อ โดยมี นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงพื้นที่ ว่า วันนี้ก็มาตรวจระบบระบายน้ำ จริงๆ แล้ว ระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ มีหลักๆ 2 ส่วน คือ ระบบคลองกับระบบอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นทางด่วนน้ำที่อยู่ในระดับลบ 30 เมตร และมีอาคารรับน้ำเป็นจุดๆ ไป เราจะพูดเรื่องอุโมงค์ระบายน้ำเยอะมาก แต่จริงๆ แล้ว หัวใจของกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก คือ ตัวคลอง อุโมงค์ระบายน้ำเราทำมา 4 โครงการ มีอยู่แค่ 20 กิโลเมตร รับน้ำได้ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่กรุงเทพฯ ต้องระบายน้ำทั้งสองฝั่งเกือบ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ดังนั้น คลองจึงเป็นหัวใจหลัก คือ คลองจะดันน้ำมาตามคลอง มาถึงประตูระบายน้ำซึ่งมีประตูกั้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา แล้วต้องสูบออก อาจจะมีคลองย่อย ฉะนั้น ต้องทยอยน้ำไปเรื่อยๆ จากคลองหลักไปแม่น้ำเจ้าพระยา สิ่งสำคัญที่สุดคือยุทธศาสตร์ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง เราทำแต่อุโมงค์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะอุโมงค์รับน้ำได้เป็นจุดๆ แต่ถ้าจะกระจายในพื้นที่ คลองมีความสำคัญ วันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เรามาดูที่คลองบางซื่อ คลองบางซื่อเป็นตัวหลักเพราะรับน้ำจาก 2 คลอง ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดแก้วฟ้า จะตัดคลองเหนือใต้ 2 คลอง คือ คลองเปรมประชากรที่มาจากดอนเมือง กับคลองลาดพร้าว หรือคลองสอง คลองบางบัว นอกจากนี้คลองลาดพร้าวยังตัดกับคลองแสนแสบด้วย โดยคลองลาดพร้าวมี 2 อุโมงค์ คือ รับน้ำตรงอุโมงค์ที่แสนแสบตรงพระราม 9 กับอุโมงค์ที่บางซื่อ

โดยวันนี้มาดูเรื่องระบบระบายน้ำ ซึ่งที่บางซื่อมีตัวปั๊มน้ำ 17 ตัว ดูดน้ำตัวละ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อุโมงค์บางซื่อระบายได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่สำคัญ คือ ตัวปั๊ม 17 ตัว เปลี่ยนไปแล้ว 5 ตัวเป็นตัวใหม่ ส่วนอีก 12 ตัวที่เหลือมีอายุ 15 ปี เนื่องจากอายุมันเยอะประสิทธิภาพก็ลดลง อย่างที่ท่านที่ปรึกษาได้มาดู ปั๊มตัวหนึ่งที่เปลี่ยนไป ราคาตัวละ 4 ล้านบาทรวมติดตั้ง ถ้าเราปรับพวกนี้ มันลงทุนไม่เยอะเมื่อเทียบกับอุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์ตัวหนึ่งอย่างบึงหนองบอนก็ 5 พันล้าน

ถ้าเราปรับประสิทธิภาพของปั๊มน้ำ ราคาก็ไม่ได้แพง เชื่อว่าการระบายน้ำจะดีขึ้น หัวใจหลักตอนนี้ต้องไล่ทุกจุดว่าปั๊มต้องทำงานได้ดี เรื่องระบบไฟ 190 สถานีต้องไปไล่ทุกจุด ตอนนี้ได้ดำเนินการแล้ว ประสิทธิภาพของปั๊มต้องทันสมัยเต็มที่ตามที่ได้ออกแบบไว้ ประสิทธิภาพของคลองเอง ความตื้นเขิน หัวใจคือท้องคลอง ตอนนี้รักษาระดับอยู่ที่ลบ 1 เมตร หัวปั๊มเวลาจุ่มน้ำ ต้องมีระยะให้ดูดน้ำได้ พอคลองตื้นไม่ได้ลอกทำให้เราพร่องน้ำได้ไม่เต็มที่ พอฝนตกไม่นานก็เต็มคลอง เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มทำการลอกคลองให้มันกินน้ำได้ลึกขึ้น ต้องรีบดำเนินการ ถ้ามีเขื่อนจะช่วยลดได้ถึงลบ 3.5 เมตรได้ แต่ถ้าไม่มีจะมีดินสไลด์ข้างทาง ฉะนั้น 2 โครงการนี้ต้องไปด้วยกัน ทั้งการทำเขื่อนและการขุดลอกคลอง จะขุดลอกหน้าประตูระบายน้ำให้ลึกขึ้นอาจจะลบ 5 เมตร เป็นแก้มลิงอยู่หน้าประตูระบายน้ำหน้าสถานี ทำให้การสูบน้ำง่ายขึ้น เหมือนเรามีแอ่งน้ำก่อนถึงสถานีสูบน้ำ น้ำก็จะไหลลงมา เราก็เข้าพร่องน้ำตรงนี้ให้เยอะๆ มันก็จะดึงน้ำจากที่ไกลๆ เข้ามาได้

“เรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพคลองเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ ไม่ต้องใช้เงินเยอะเหมือนอุโมงค์ระบายน้ำ นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพคลองให้ดี” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

เรื่องต่อมาคือ เรื่องขยะอย่างที่คลองบางซื่อเอง พี่ๆ เจ้าหน้าที่เก็บขยะได้วันละ 3 ตัน ไม่ได้มาจากธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เราทิ้งลงในคลอง ก็ต้องฝากกัน มีหลายครั้งที่ผมได้ยินในวิทยุ ขยะเข้าไปในเครื่องสูบน้ำ ทำให้เครื่องสูบน้ำพังเลย ก็ต้องฝากพวกเราให้ช่วยกัน อย่าทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ขยะชิ้นใหญ่อย่าทิ้ง พี่เขาต้องลงดำน้ำไปเก็บขยะ แทนที่จะได้ดูเรื่องปั๊ม ที่นี่จะมีตะแกรงอัตโนมัติแต่ก็ต้องมีคนลงไปช่วยดู วันนั้นไปพระราม 9 วันละ 5 ตัน

ผมว่าหลักๆ คือ ประสิทธิภาพของคลอง ซึ่งจะอยู่ในแผนงบปี 66 ปี 65 ถ้ามีเงินเหลือก็จะเร่งทำระบบระบายน้ำให้ดีขึ้น อุโมงค์ระบายน้ำเป็นแผนระยะยาว ไม่สามารถทำได้เร็ว ซึ่งมีอยู่หลายโครงการพยายามใช้เงินให้ได้คุ้มค่ามากที่สุด ใช้เงินน้อยให้ประโยชน์มากที่สุด อันไหนที่ยังไม่สำคัญชะลอไปก่อน ประสิทธิภาพของคลองให้ดี เชื่อว่ามันจะสามารถทำให้ดี เราทำเส้นเลือดฝอย ลอกท่อ ปรับขนาดท่อ ทำ Pipe Jacking ที่จำเป็น เพื่อเอาน้ำจากในซอยลงมาที่คลองให้ได้ คลองส่วนหนึ่งก็แบ่งลงมาอุโมงค์ ส่วนหนึ่งก็ลงประตูระบายน้ำ

ผมว่าเป็นมิติที่ดีมาก ทหารก็ช่วย การที่เราร่วมมือกันทำให้งานเดินหน้าได้เร็วและก็ไม่ใช้งบประมาณเยอะเลย หลาย ๆ ที่ที่ทำไปเสียงตอบรับก็ดี ขณะเดียวกัน ก็ยังมีจุดอ่อน อย่างเมื่อวานไปดูซอยนาคนิวาส 48 แยก 14 มีใน Traffy Fondue 60 ครั้ง ที่เราไปนั่งมอเตอร์ไซค์ดู ไม่ได้สร้างภาพนะ คือ ไปให้เห็นชีวิตจริงๆ ว่า เส้นเลือดฝอยเขาอยู่กันยังไง ไปคุยกับชาวบ้านว่าน้ำท่วมตรงไหน ถ้าเราอยู่ในห้อง warroom เราเห็นแต่ภาพใหญ่ ปลีกย่อยที่ต้องลงไป ทุกคนก็ต้องรายงานเข้ามา สำนักการระบายน้ำต้องเอาจุดเหล่านี้ขึ้นแผนที่ให้หมด ชุดใหญ่ ชุดเล็ก ชุดย่อย และต้องมี strategy หรือกลยุทธ์ยังไงที่จะตอบจุดพวกนี้

ทุกคนทำงานหนัก ฉะนั้น เรื่องน้ำเป็นเรื่องเบสิก กำหนดเลยว่าแต่ละคลองต้องลบกี่เมตร ต้องทำเต็มที่อยู่แล้ว ทางกองทัพบกก็จะช่วยพร่องน้ำในแก้มลิงของทหารให้ เช่น ที่สนามเป้า ราบ 11 ก็มีบ่อเยอะ ช่วงที่ฝนยังไม่มาก็พร่องที่นี่ก่อน เกิดฝนมาอย่างน้อยก็ไม่เอาน้ำมากระทบข้างนอก เก็บในพื้นที่ตัวเองก่อน ก็ต้องบริหารเรื่องแก้มลิงให้ดีด้วย ปัญหาแก้มลิงคือ แก้มลิงเป็นบ่อน้ำและเชื่อมกันกับคลองพร่องน้ำเวลาฝนตก แต่ปัญหาคือถ้าน้ำในคลองเน่าจะบริหารยาก เพราะเขาไม่อยากได้น้ำเน่าในคลองไปเก็บไว้ในแก้มลิง เพราะจะทำให้น้ำในแก้มลิงเน่าไปด้วย อันนี้ก็ต้องคิดให้ละเอียดเหมือนกันว่าต้องทำยังไง เป็นสิ่งที่ต้องลองไปพิจารณาดู

สถานการณ์น้ำเหนือ ลดลงจาก 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งไม่ได้รุนแรงมาก ปีที่แล้วที่ท่วมหนัก 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ท่วมแถวถนนทรงวาด ก็อยู่ในสถานการณ์ที่เราดูแลได้ แต่ก็ต้องไม่ประมาทโดยเฉพาะพวกฟันหลอ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเอกชนไม่ให้สร้าง กลัวผิดฮวงจุ้ย หรือว่าไม่ให้ทำ สุดท้ายน้ำก็มาท่วมทั้งหมู่บ้าน ก็ฝากบอกว่าก็ต้องเสียสละเหมือนกัน อย่างน้อยช่วงนี้ให้เราเรียงกระสอบทรายก่อน ตรงถนนทรงวาดก็มีอยู่ประมาณ 200 เมตร เสริมกระสอบทรายให้แน่นเราจะได้ดูแลเพื่อนบ้านด้วย ตอนนี้ผักตบชวาเยอะมาก ให้สำนักสิ่งแวดล้อมกับสำนักการระบายน้ำช่วยกันเก็บ เข้าใจว่าปล่อยน้ำเหนือมา ทำให้การเดินเรือลำบากขึ้น ได้สั่งให้เก็บหมดแล้ว ฝั่งพระนครมีประตูระบายน้ำ 523 ประตู ชำรุด 14 ประตู ที่เก็บขยะอัตโนมัติ 263 ตัว ชำรุด 63 ตัว เครื่องสูบน้ำ 733 ตัว ที่ชำรุด 22 ตัว ประสิทธิภาพรวมก็ถือว่าใช้ได้อยู่ เดี๋ยวดูว่างบประมาณปีนี้มีเหลือไหม ถ้าไม่มีก็ต้องใส่เป็นงบแปรญัตติของปี 66

“ปรับปรุงประสิทธิภาพคลองเป็นเรื่องสำคัญ ปรับปรุงประตูน้ำ ปรับปรุงระบบปั๊ม ปรับปรุงการลอกคลอง การเก็บขยะ ต้องเร่งทำ คือเราไปเน้นเรื่องอุโมงค์มาก หัวใจสำคัญต้องทำทั้งคู่ ทำให้ balance อุโมงค์ก็ต้องเดินไป สุดท้ายถ้า 2 ระบบเสร็จพร้อมกัน ก็จะเกื้อกูลกันและทำงานได้อย่างเต็มที่” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย


















กำลังโหลดความคิดเห็น