xs
xsm
sm
md
lg

เปิดไทม์ไลน์ชายไทยป่วย "ฝีดาษลิง" รายที่ 2 พบมีอาการตั้งแต่ 14 ก.ค. เร่งตามต่างชาติที่มีเซ็กซ์ร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยไทม์ไลน์ชายไทยผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ของไทย มีอาการตั้งแต่ 14 ก.ค. มีไข้ ปวดเมื่อย 1 สัปดาห์ ก่อนมีตุ่มหนองขึ้นอวัยวะเพศ ซื้อยาทาเอง แต่ยังลามลำตัว แขนขา จึงเข้ารักษาวชิรพยาบาล วันที่ 27 ก.ค. ผลแล็บกรมวิทย์-จุฬาฯ ยันตรงกันฝีดาษลิง เร่งตามต่างชาติที่มีเซ็กซ์ด้วยกัน

เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้ป่วยต้องสงสัยโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง (Monkeypox) จาก รพ.วชิรพยาบาล กทม. เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัย กทม. ลงพื้นที่สอบสวนโรคและเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่า เป็นชายไทยอายุ 47 ปี ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ มีประวัติมีเพศสัมพันธ์ต่างชาติ ไม่ทราบสัญชาติ วันที่ 14 ก.ค.เริ่มมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว 1 สัปดาห์ ก่อนมา รพ.มีตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ ซื้อยามาทาเอง ต่อมามีตุ่มหนองขึ้นตามแขนขา ใบหน้า ศีรษะ วันที่ 27 ก.ค.จึงไปรักษาที่ รพ.วชิรพยาบาลด้วยอาการอวัยวะเพศบวม เจ็บ แสบ

"ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการไม่รุนแรงและอยู่ในการดูแลของแพทย์ในห้องแยก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ขณะนี้ได้เร่งค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยผู้ป่วยให้ข้อมูลว่ามีครอบครัวอยู่รวมกัน 10 คน หลังจากมีผื่นตุ่มได้แยกตัวจากคนอื่นในบ้าน ซึ่งขณะนี้ได้ติดตามเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และเร่งติดตามตัวชาวต่างชาติที่มีเพศสัมพันธ์" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ถือว่ามีความเสี่ยงระดับสูงมากที่จะเป็นฝีดาษลิง เนื่องจากมีอาการเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง รวมทั้งลักษณะการดำเนินโรค ผื่น ตุ่มหนอง คล้ายกับลักษณะของโรคฝีดาษลิง โดยล่าสุด ห้องแล็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และห้องแล็บที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพิ่งรายงานผลว่า เป็นเชื้อฝีดาษลิง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากผลการสอบสวนโรค อาการทางคลินิก และผลตรวจทางห้องแล็บ สรุปได้ว่าเป็นผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ของประเทศไทย ทั้งนี้ ได้มีการเฝ้าระวังโดยขอให้โรงพยาบาลส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อพบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ และขอให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการสงสัยเข้าได้กับโรคฝีดาษวานรเข้ารับการรักษา


กำลังโหลดความคิดเห็น