กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดยมีครูผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่ และเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษาจาก 26 เขตพื้นที่ครอบคลุม 4 ภูมิภาค เข้าร่วมรับฟังแนวทางการทำงานด้านข้อมูล ปฏิทินการดำเนินงาน และการใช้เครื่องมือคัดกรองความเสี่ยงของนักเรียน เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาของนักเรียนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส
ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ. อยู่ระหว่างดำเนินการหารือและพัฒนาเครื่องมือจัดเก็บข้อมูลนักเรียนกลุ่มเสี่ยงให้สอดรับกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน โดยหนึ่งในความปลอดภัยคือนักเรียนต้องได้รับการประเมิน คัดกรอง และการดูแลผ่านการทำงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งจากการทำงานของ สพฐ. ร่วมกับ กสศ. โดยมีทีมวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ช่วยคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การคัดกรองความเสี่ยงนักเรียน โดย สพฐ. เล็งเห็นความสำคัญในการทำงานเรื่องดังกล่าว โดยใช้กลไก ฉกชน. ส่วนภูมิภาค เพื่อคัดเลือกพื้นที่นำร่องตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ถือเป็นโอกาสดีที่ สพฐ. จะได้เดินหน้านโยบายความปลอดภัยในโรงเรียนไปพร้อมกัน
“จากการใช้งานระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ทำให้เราได้รู้ข้อมูลว่ายังมีความไม่ปลอดภัยในตัวนักเรียนอยู่อีกมาก โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 หรือ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา เมื่อกลับมาเปิดเรียน On Site ในช่วงนี้ ทำให้ได้เห็นว่านักเรียนมีปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องของสุขภาพจิต มีหลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียน ทำให้เราต้องหันกลับมาให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาให้มากขึ้น”
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การจะทำให้เด็กคนหนึ่งมีความปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือดูแลอย่างจริงจัง ต้องเกิดจากความร่วมมือของผู้ปกครองเป็นลำดับแรก ในขณะที่ตัวนักเรียนก็ต้องมีความเข้าใจว่าในภาวะที่กำลังประสบปัญหาต้องทำอย่างไร ลำดับถัดมาคือสถานศึกษา ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู ตลอดจนเพื่อนในโรงเรียนเดียวกัน ไปจนถึงบทบาทของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในการสนับสนุนและรวมถึงระบบของ สพฐ. เอง ซึ่งขณะนี้ได้วางระบบเรื่องความปลอดภัยไว้ทั้งระบบแล้ว
“แต่สิ่งที่เราอยากได้และอยากทำตรงนี้ให้สมบูรณ์ขึ้นไปอีก คือหากเรามีระบบสารสนเทศเพื่อเก็บฐานข้อมูลที่ดี ก็เหมือนกับเราได้เริ่มต้นจัดทำแฟ้มประวัติคนไข้ให้กับนักเรียนของเรา ทุกคนจะมีแฟ้มประวัติของตนเอง ซึ่งในแฟ้มประวัตินี้จะมีข้อมูลการคัดกรองทุกๆ ด้านของนักเรียน เวลาเราส่งต่อนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นก็จะทำให้เรารู้สภาพของนักเรียน มีการประเมินนักเรียนเป็นระยะและบันทึกไว้ในแฟ้มประวัตินี้ ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาของเราเป็นอย่างยิ่ง”
ทั้งนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้มอบหมายให้สถานศึกษาใน 26 เขตพื้นที่การศึกษานำร่อง ร่วมกันถอดบทเรียนว่าเมื่อได้จัดเก็บประวัตินักเรียนแล้ว เห็นจุดเด่น จุดด้อย หรือข้อบกพร่องอะไรบ้าง ทั้งในส่วนของการดำเนินงานและเครื่องมือที่ใช้ แล้ววิเคราะห์ว่าจะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร โดยมั่นใจว่าถ้าหากการทดลองในโรงเรียนนำร่องทั้ง 26 เขตประสบความสำเร็จ ปีการศึกษาหน้า สพฐ. จะนำเครื่องมือนี้ขยายผลไปยังสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่ง
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวขอบคุณ สพฐ. ที่ให้ความร่วมมือในการเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์การศึกษาไทยด้านการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และถือเป็นการต่อยอดการทำงานตามนโยบายพาน้องกลับมาเรียนของนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่าการจัดเก็บข้อมูลนักเรียนผ่านระบบสารสนเทศ จะช่วยให้นักเรียนที่ประสบปัญหาได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเป็นระบบมากขึ้น
“เมื่อเรามีโอกาสพาน้องๆ กลับมาสู่โรงเรียนได้แล้ว เราน่าจะมีโอกาสดูแลรักษาไม่ให้เขาหลุดจากระบบซ้ำอีก ระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนนอกจากดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลับมาได้แล้ว ยังมีโอกาสช่วยส่งต่อเด็กๆ เหล่านี้ให้ได้เรียนต่อในระดับสูงสุดตามที่พวกเขาต้องการได้อย่างเต็มศักยภาพด้วย แต่น้องๆ เหล่านี้จะไม่มีโอกาสเดินทางไปถึงจุดนั้นได้เลยหากไม่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่คอยดูแล คุ้มครอง ป้องกัน ไม่ให้เขาหลุดออกไปจากระบบการศึกษาได้อีก”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท กล่าวว่า ปีการศึกษา 2565 กสศ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พัฒนาระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เป็นระบบ One Application หรือเรียกสั้นๆ ว่าระบบ One App โดยบูรณาการกับฐานข้อมูลปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน,ระบบ DMC, ระบบ CCT ซึ่งลดขั้นตอนการกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนในการออกเยี่ยมบ้านเพื่อคัดกรองและทำความรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลแต่ละครั้ง มีเป้าหมายลดภาระด้านงานเอกสารของคุณครูลงกว่าร้อยละ 80
“การเก็บข้อมูลลงระบบ One App ให้เป็นระบบเดียวกัน คุณครูจะทำงานครั้งเดียวแต่สามารถเรียกใช้ข้อมูลได้ทั้งการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กและรายงานผลต่างๆ ไปยังผู้บริหารสถานศึกษาในลำดับถัดไปได้ เราตั้งใจที่จะทำให้การทำงานด้านข้อมูลเป็นการทำงานครั้งเดียวและสามารถนำไปใช้ได้หลายๆ ครั้ง โดยใช้เวลาสั้นที่สุดและไม่ต้องใช้กระดาษ สถานศึกษาใน 26 เขตพื้นที่นำร่องจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ใช้ One App ขยายไปสู่เขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ต่อไป”
ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวต่อไปว่า หลังจากคุณครูกรอกข้อมูลนักเรียนเข้าสู่ระบบสารสนเทศ นอกจากเด็กๆ จะได้รับการดูแลในระบบการศึกษา เด็กทุกคนยังจะได้เข้าสู่ระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เช่น บางคนเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับอาจไปเรียนต่อ กศน. หรือได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพไปเป็นผู้ประกอบการ มีงานทำ มีรายได้ โดย กสศ. จะรับหน้าที่เชื่อมต่อข้อมูลไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้รับช่วงต่อในการดูแลเด็กแต่ละคน เช่น ทุน กยศ. หรือทุนอื่นๆ จากภาคเอกชน
“ท้ายที่สุดไม่ว่าน้องๆ จะเลือกเส้นทางไหน ล้วนแล้วแต่เป็นเป้าหมายของระบบการศึกษาทั้งนั้น คือมีเส้นทางที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอตามความถนัดเป็นรายบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าเราไม่มีระบบช่วยเหลือดูแลนักเรียนด้วยทางเลือกที่หลากหลาย เราไม่ได้มองโจทย์ไปที่เรื่องการศึกษาเพียงอย่างเดียว แต่เรามองว่าต้องมีเส้นทางการพัฒนาทักษะตามศตวรรษที่ 21 ทักษะสังคม เรื่องของอารมณ์ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้เด็กต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาแม้มีศักยภาพก็ตาม”
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 กสศ. ได้ทำงานร่วมกับ สพฐ. จัดทำฐานข้อมูลนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อการจัดสรรทุนเสมอภาค สร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นต่อไปในปีการศึกษา 2565-2566 คือมุ่งการทำงานในเชิงคุณภาพ โดยจะขยายการทำงานไปในมิติด้านสุขภาพทั้งกายและจิต พฤติกรรม การเรียน และความถนัดเฉพาะด้านเป็นรายบุคคล ซึ่งระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
สำหรับระบบสารสนเทศการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ได้เปิดระบบให้คุณครูดำเนินการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล คัดกรองความเสี่ยง ประเมินจุดแข็งจุดอ่อน (SDQ) ประเมินความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และการติดตามการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม ถึง ตุลาคม 2565 โดยจุดเน้นการทำงานในปีนี้ มีการปรับปรุงแบบฟอร์มจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติ สอดรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA โดยมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนทุกคนจะได้รับความปลอดภัย และการปรับปรุงระบบสารสนเทศ ให้คุณครูมีความสะดวกและประหยัดเวลาในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัดทำหน้าสรุปรายงาน การติดตามนักเรียนที่มีแนวโน้มความเสี่ยงแบบเรียลไทม์ ผ่านหน้ารายงานผลแบบ Dashboard สถานการณ์ รายชั้นเรียน รายสถานศึกษา รายเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อสนับสนุนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงการจัดทำนโยบายเพื่อการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาเป็นรายบุคคล