ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปโควิด LAAB เข้ามาล็อตแรก 7 พันโดส ตรวจสอบคุณภาพแล้วพร้อมกระจายทั่วประเทศ ดูแลกลุ่มป่วยไตวายเรื้อรัง ปลูกถ่ายอวัยวะ กดภูมิคุ้มกัน นำร่องฉีดวันนี้วันแรก 3 ราย เชื่อช่วยลดอัตราเสียชีวิตในกลุ่ม 608 ที่เป็นกลุ่มหลัก
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่สถาบันบำราศนราดูร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานส่งมอบภูมิคุ้มกันออกฤทธิ์ชนิดยาว (Long Acting Antibody : LAAB) หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ให้แก่ผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นเชิงสัญลักษณ์ในการกระจายส่ง LAAB ไปทั่วประเทศ และนำร่องการฉีด LAAB ให้แก่ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 3 รายวันนี้เป็นวันแรก
นายอนุทินกล่าวว่า LAAB นำมาใช้ดูแลผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่อโควิดต่ำ เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกไต ปลูกถ่ายอวัยวะและไขกระดูก ผู้ที่ต้องรับยากดภูมิ ทำให้รับวัคซีนโควิด 19 แล้วสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่เพียงพอ ซึ่งทางแอสตร้าเซนเนก้าผลิต LAAB ขึ้นมา เราจึงทำสัญญาขอเปลี่ยนจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนหนึ่งมาเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB โดยไม่ต้องเพิ่มงบประมาณ จัดซื้อประมาณ 2.5 แสนโดส โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ค.เข้ามาล็อตแรก 7 พันโดส ซึ่งหลังจากตรวจคุณภาพแล้วก็ได้กระจายส่งไปยังทั่วประเทศ โดยจังหวัดจะกระจายไปยัง รพ.ต่างๆ ตามข้อมูลที่มีการร้องขอมา วันนี้ก็ได้ทำการฉีดผู้ป่วยไตวายเป็นวันแรก ส่วนกลุ่มเป้าหมายตามข้อบ่งชี้สามารถติดต่อสถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์พิจารณาว่าจำเป็นต้องรับภูมิคุ้มกัน LAAB หรือไม่ ซึ่งกำชับให้บุคลากรทางการแพทย์เตรียมพร้อมบริการและบริหาร LAAB อย่างเสมอภาค ให้สังเกตอาการหลังรับภูมิคุ้มกันตามมาตรฐาน ส่วน LAAB ที่เหลือจะทยอยส่งจนครบภายในสิ้นปี 2565
นายอนุทินกล่าวว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิดค่อนข้างสูง แต่อัตราเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเหนือความคาดหมาย ซึ่งผู้เสียชีวิตในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 มากกว่า 95% มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ และไม่ได้รับวัคซีน ซึ่งการให้ LAAB น่าจะควบคุมอัตราการเสียชีวิตได้ดีขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะออกฤทธิ์ทันทีหลังฉีด นอกจากนี้ LAAB ยังเป้นไฮบริดา นอกจากเป้นเหมือนวัคซีนในการป้องกันแล้ว ยังเป้นยาในการรักษาด้วย ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนเป็นยารักษา สำหรับผู้ป่วยตามข้อบ่งชี้ทุกกลุ่มมีประมาณ 5 แสนราย แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับทุกราย โดยให้แพทย์ใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาตามความสุ่มเสี่ยง แต่หากจำเป็นต้องใช้มากขึ้นก็อาจจะต้องเจรจาจัดซื้อเพิ่มเติม
"การใช้ LAAB ยืนยันว่าเป็นการดูแลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจาก สธ.จัดซื้อและกระจายส่งไปยัง รพ. แม้กระทั่ง รพ.เอกชนก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเรื่องการรักษาก็มี สปสช.ดูแล การใช้ LAAB ก็มีระบบรัฐให้ความคุ้มครอง ซึ่งเรื่องการจัดส่งก็รวมอยู่ในงบประมาณของการจัดซื้อแล้ว จึงไม่มีทางที่จะมีการนำมาขายหรือออกนอกช่องทาง" นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่าขณะนี้ยอดป่วยหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตเกินเกณฑ์ที่กำหนด จะมีการเสนอปรับเพิ่มเติมมาตรการอะไรหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การใช้เครื่องช่วยหายใจก้อยู่ในระดับหลักร้อย ส่วนอัตราการเสียชีวิตก็ไม่ได้เพิ่มจนเกินกว่าที่คาด ซึ่งเราก็มีการดูแลรักษาที่ดี ปัจจุบันมีผู้รับวัคซีนบูสเตอร์ทำให้ไม่มีอาการหนักมากขึ้น ยกเว้นมาจากโรคอื่น การเสียชีวิตไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ยังดูแลได้ดีอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภูมิคุ้มกัน LAAB ของแอสตร้าเซนเนก้าคือ Evusheld 1 โดสประกอบด้วยภูมิคุ้มกัน 2 ชนิด บรรจุใน 2 ขวด ขวดละ 1.5 มิลลิลิตร คือ Tixagevimab และ Cilgavimab โดยจะต้องฉีดภูมิคุ้มกันทั้ง 2 ชนิดนี้เข้าที่สะโพก 2 ข้างพร้อมๆ กัน โดยผลการศึกษาจะออกฤทธิ์ได้นาน 6 เดือน