ภายหลังจากที่นักเรียนไทยจำนวนเกือบ 140 คนเดินทางกลับไปศึกษาในประเทศจีนอีกครั้งตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ลูกชายคนเล็กของดิฉันเป็นหนึ่งในนั้น โดยเขากลับไปเรียนระดับปริญญาตรีเทอมสุดท้ายที่เซี่ยงไฮ้
นักเรียนไทยเดินทางด้วยเครื่องบินการบินไทยแบบเช่าเหมาลำ ด้วยการผ่านด่านมาตราการที่เข้มงวดและเคร่งครัดระดับสูงสุด ตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประเทศจีน ทุกคนต้องสวมชุด PPE ขึ้นเครื่อง และต้องกักตัวตั้งแต่อยู่เมืองไทย และเมืองจีน รวม ๆ แล้วก็เกือบเดือน
วันนี้ พวกเขาเดินทางไปถึงมหาวิทยาลัยของแต่ละคนแล้ว
บรรดาผู้โดยสารนักเรียนไทยที่มีรายชื่อต้องเดินทางเที่ยวบินเที่ยวนั้น ต้องตรวจหาเชื้อด้วยระบบ RT-PCR หลายครั้ง คือ ก่อนเดินทาง 14 วัน ก่อนเดินทาง 7 วันก่อนเดินทาง 48 ชั่วโมง และก่อนเดินทาง 12 ชั่วโมง ยังไม่นับรวมที่ทุกคนต้องตรวจ ATK ทุกวันด้วย
แม้การรอคอยของนักศึกษากลุ่มหนึ่งจะสิ้นสุดลง แต่ก็ต้องแลกกับความอดทนและมุ่งมั่นกับความไม่แน่นอนของชีวิตกว่า 2 ปี !
พวกเขายอมทุกอย่างเพื่อให้ได้กลับไปใช้ชีวิตที่รู้ว่าไม่มีวันเหมือนเดิม
เพราะเกือบ 3 ปีที่ผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงหลากมิติย่อมเกิดขึ้นได้
หลังปฏิบัติการกักตัวที่เข้มงวดรายวันที่ประเทศไทยเกือบเดือนชนิดที่ระมัดระวังไม่ให้ติดเชื้อ และต้องตรวจหาเชื้อด้วยระบบ RT-PCR หลายครั้ง ขณะอยู่บนเครื่องบินทุกคนต้องอยู่ในชุด PPE ตลอดเวลา ก่อนเดินทางไปเมืองกว่างโจว เพื่อกักตัว 10 วัน ในโรงแรมที่รัฐบาลจีนเตรียมไว้ให้ โดยนักเรียนทุกคนต้องอยู่แยกห้องและออกค่าใช้จ่ายเอง เรียกว่า 10 วัน จะได้เปิดประตูห้องก็คือรับอาหาร และตรวจหาเชื้อโควิดเท่านั้น
จากนั้นเมื่อครบกำหนด นักเรียนแต่ละคนก็แยกย้ายกันไปตามเมืองต่างๆที่มหาวิทยาลัยของตัวเองตั้งอยู่ในเมืองนั้นๆ รวมถึงลูกชายดิฉันก็เดินทางไปเซี่ยงไฮ้ด้วยรถไฟ และไปกักตัวต่อที่เซี่ยงไฮ้อีก 7 วัน
ลูกชายของดิฉันเพิ่งได้เดินทางเข้ามหาวิทยาลัยในวันที่ 10 กรกฎาคม 2565
“กลับมาถึงมหาวิทยาลัยแล้วครับคุณแม่” เสียงโทรศัพท์ของเขากลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
เป็นการบรรยายความรู้สึกของคนที่จากบ้านมากว่าครึ่งเดือน ไม่ได้เห็นโลกภายนอกเพราะต้องถูกกักตัวมาราธอน จึงเป็นสุ่มเสียงที่ดีใจยิ่ง และเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ
แต่เขาก็บอกว่ากลับมาครั้งนี้ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม
ผู้คนน้อยลงมาก มหาวิทยาลัยที่เคยขวักไขว่ไปด้วยผู้คนแทบจะตลอดเวลา ก็แทบไม่มีคน นักศึกษาต่างชาติก็น้อยมาก มีทั้งจำพวกที่ไม่ได้กลับตั้งแต่แรก และได้กลับมาจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจีน หอพักจำนวนมากในมหาวิทยาลัยที่คนต่างชาติมาพัก ตอนนี้เป็นหอนักศึกษาจีน
ลูกชายของดิฉันต้องย้ายหอพักด้วยเช่นกัน
ความโกลาหลของนักศึกษาไทยที่เดินทางเข้ามหาวิทยาลัยหลังจากที่ไม่ได้กลับเมืองจีนถึง 2 ปีเศษ คือตามหาข้าวของของตัวเองที่ไม่ได้ขนกลับไปด้วย เพราะไม่คิดว่าจะไม่ได้กลับจีนมายาวนานเพียงนี้ ข้อดีคือทางมหาวิทยาลัยมีระบบในการจัดเก็บของให้นักศึกษาต่างชาติทุกคนชนิดที่ใส่หีบห่อแยกไว้และเขียนชื่อของทุกคน ทำให้พวกเขาหาได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องวุ่นวายกับการย้ายตึกกันอย่างสนุกสนานกึ่งทุลักทุเล
ลูกชายดิฉันต้องขนข้าวของของตัวเอง และช่วยเหลือเพื่อน ๆ อีกหลายคนทั้งที่ได้กลับมาและไม่ได้กลับ
นั่นหมายถึงข้าวของเครื่องใช้ของพี่ชายของเขาที่ไม่ได้กลับไปด้วย เพราะเรียนจบแล้ว
ทำให้ต้องเอาของพี่ชายมาไว้ที่ห้องพักของตัวเอง และทำการแยก วิธีการง่าย ๆ ของเจ้าลูกชายคนเล็กก็คือ ยกลังเสื้อผ้าของพี่ชายให้อาอี๋ (คำเรียกแม่บ้านประจำตึก) เก็บไว้เฉพาะลังหนังสือและของใช้ที่จำเป็นเท่านั้นที่จะส่งกลับเมืองไทย มิเช่นนั้นค่าขนส่งคงโหดมาก
เมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ต้องอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่สามารถออกไปข้างนอกมหาวิทยาลัยได้ การจะออกไปแต่ละครั้งต้องมีความจำเป็นและทำเรื่องเป็นครั้ง ๆ ไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะก่อนหน้านี้เมืองเซี่ยงไฮ้ต้องล็อกดาวน์ทั้งเมืองอีกครั้งเพราะสถานการณ์โควิด-19 เพิ่งจะกลับมาผ่อนคลายล็อกดาวน์แบบเป็นขั้นตอน
ในปัจจุบัน มี 15 เขตจากทั้งหมด 16 เขตของเซี่ยงไฮ้มีสถานะ "ปลอดโควิด" แล้ว เรียกว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ทุกคนที่เลือกกลับไปเรียนต่อที่ประเทศจีนก็ต้องยอมรับกฏกติกาของประเทศเขา
เจ้าลูกชายคนเล็กของดิฉันเช่นกัน เขาบอกแม่ว่า กว่าจะกลับมาได้ มันต้องใช้เวลา ใช้เงิน ใช้ความอดทน และความพยายามมาก การกลับมาครั้งนี้เขาจะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดไม่ให้สูญเปล่า จะเก็บเกี่ยวหาประสบการณ์และความรู้ให้ได้มากที่สุด ตั้งใจจะใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ให้สมกับช่วงเวลาที่เสียไปกว่า 2 ปีครึ่ง
เขากำลังเผชิญจุดเปลี่ยนของชีวิต
ในวันที่ต้องใช้ชีวิตต่างแดนลำพังโดยไม่มีพี่ชาย
ดูน่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับพี่น้องคู่นี้เขามีกันและกันเสมอ และความที่เขาเป็นน้องเล็กของบ้าน เป็นสีสันของบ้าน เป็นคนร่าเริงสนุกสนานมีเรื่องคุยได้ทุกวัน ยามไม่ห่างไกลกัน
บรรยากาศก็เหงาหงอยไปบ้าง แต่ทุกคนในบ้านก็คิดเหมือนกันว่า ครั้งนี้คือจุดเปลี่ยนชีวิตของเขา
ทุกคนล้วนมีจุดเปลี่ยนของชีวิต อยู่ที่ว่าจะเลือกสิ่งใดและเมื่อใด
นี่คือสัจธรรมของชีวิต