บอร์ด สปสช.มีมติเห็นชอบขยายคัดกรองการได้ยินเด็กไทยแรกเกิดฟรีทุกคน เริ่มได้ทันที ไม่มีผลต่องบประมาณ คาดปี 66 มีเด็กเกิด 5.5 แสนคน ใช้งบ 17.27 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การดูแลเด็กแรกเกิดที่มีความบกพร่องการได้ยิน บอร์ด สปสช.เคยมีมติเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีตรวจคัดกรองแล้วมีปัญหาหูหนวก ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง และบรรจุบริการตรวจคัดกรองการได้ยินเฉพาะในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง ร่วมเป็นสิทธิประโยชน์บริการด้วย
ล่าสุด การประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา เห็นชอบเพิ่มบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดทุกคนที่มีสัญชาติไทยเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง เริ่มมีผลทันทีในปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากไม่ส่งผลต่องบประมาณของระบบ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า บริการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดจะทำการตรวจคัดกรอง 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ตรวจคัดกรองการได้ยินโดยใช้เครื่องมือ Otoacoustic emissions (OAE) โดยปล่อยเสียงกระตุ้น วัดเสียงสะท้อนจากเซลล์ขนภายในหูชั้นใน ครั้งที่ 2 ตรวจด้วยเครื่องมือ OAE พร้อมตรวจคัดกรองการได้ยินระดับก้านสมองซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการได้ยิน โดยใช้เครื่องมือ Automated Auditory Brainstem Response (AABR) โดยผลการตรวจคัดกรองทั้ง 2 ครั้ง แพทย์จะนำมาวินิจฉัยและรักษาได้ในเบื้องต้น
สำหรับในปี 2566 คาดว่าจะมีเด็กแรกเกิด 555,200 คน เมื่อคำนวณต้นทุนบริการและค่าวัสดุ จากข้อมูลของโครงการเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จะใช้งบประมาณจำนวน 17.27 ล้านบาท ที่สามารถเบิกจ่ายในงบประมาณในส่วนบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ หลังจากนี้ สปสช.จะประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการเตรียมความพร้อมของระบบคัดกรองและระบบส่งต่อเพื่อให้เกิดการดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและจัดหาเครื่องมือสำหรับการตรวจคัดกรองเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ