เมื่อวันที่ 21 ก.ค.เวลา 18.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดงานนิทรรศการศิลปะและแสดงดนตรีของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจารย์สุชาติ วงษ์ทอง และประชาชน ร่วมงาน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 กรกฎาคม 2565 เวลา 10.00-20.00 น. ณ โถงชั้นล่าง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ภายในงานประกอบด้วย กิจกรรม “ขายรูปเพื่อดนตรีในสวน” กรุงเทพ น่าอยู่ สลัมสวย สุขในสวน สนุกกับดนตรี ภาพสีน้ำ (สีอะครีลิก) จำนวน 35 ภาพ
“งานดนตรีในสวน ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้น้องๆ ที่มีความสามารถได้มาแสดงออกทางด้านดนตรี ศิลปะ ให้ประชาชนเข้ามาฟังดนตรีอย่างมีความสุข นับว่าเป็นมิติที่ดี มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดีๆ เกิดขึ้นมากมายในกรุงเทพมหานครเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ที่จริงแล้วเรามีหลายๆ อย่างที่เหมือนกัน ทุกทีเราจะเน้นแต่ความต่างเป็นส่วนใหญ่ ในความจริงแล้วเราร่วมกันได้ คิดว่า มี 90% ที่เหมือนกัน เช่น เรื่องศิลปะกับดนตรีในสวน ที่เรามาร่วมกันได้ ขอบคุณอาจารย์สุกรี ที่ให้การสนับสนุนและทำได้อย่างรวดเร็วมาก ในส่วนรูปวาดของอาจารย์สุชาติ ถือว่าเป็นการแบ่งปัน ในรูปจะมีประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ เป็นการวาดในกรอบเวลาที่จำกัด เป็นรูปที่มีพลังและมีคุณค่า เป็นการแบ่งปันความสุขร่วมกัน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ด้าน รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า งานดนตรีในสวนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีส่วนสำคัญต่อไปนี้ ส่วนสำคัญที่ 1 คือ วิสัยทัศน์ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่อยากจะให้มีดนตรีในสวน ส่วนสำคัญที่ 2 คือ อาจารย์สุกรี และทีมงานหลายๆ ท่าน อาจารย์สุชาติ ที่เห็นความสำคัญของงานดนตรีและได้นำศิลปะมาร่วมงานกัน และส่วนสำคัญที่ 3 ซึ่งสำคัญมาก คือ ประชาชนที่มาร่วมงาน ทำให้งานประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ในวันที่ 4 มิถุนายน เป็นวันแรกที่จัดงาน จำได้ว่าตอนแรกเราลุ้นมาก ลุ้นว่าจะมีคนเข้ามาดูดนตรีไหม และเราก็ลุ้นว่าเสียงตอบรับจะเป็นอย่างไร เพราะว่าการจัดงานจะมีข้อบัญญัติหลายอย่าง ซึ่งการจัดดนตรีในสวนยังไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นข้อบัญญัติเรื่องการใช้เครื่องเสียง ถ้าเราใช้เครื่องเสียงที่ไม่ใช่การออกกำลังกายก็จะใช้ในสวนไม่ได้ แต่หลายๆ องค์ประกอบเป็นความโชคดี จากการคุยกับท่านผู้ว่าฯ ได้มองว่าดนตรีในสวนไม่ใช่กิจกรรม แต่คือการยกระดับอุตสาหกรรมดนตรี เราอยากพูดถึงนักดนตรีและศิลปินในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะ ว่าเขาจะมีส่วนในการส่งเสริมอย่างไร หลาย ๆ อย่างจึงต้องถูกปรับในครั้งที่เรามาทำดนตรี เราเห็นข้อจำกัดด้านต่างๆ มากมาย เราอาจจะต้องมาทบทวนว่ากรุงเทพมหานครในฐานะที่ดูแลบริหาร เราจะทำอย่างไรได้มากกว่านั้น
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวอีกว่า การจัดดนตรีในสวนทำให้เกิดงานกิจกรรมในพื้นที่กลางแจ้งอีกหลายงานตามมา ทำให้ประชาชนออกมาจากพื้นที่ในช่วงโควิด 2-3 ปี ที่ผ่านมา ออกมาใช้พื้นที่สาธารณะกันมากขึ้น เกิดกิจกรรมฉายหนังกลางแปลง “กรุงเทพกลางแปลง” ขึ้น ต่อไปจะมีหนังสือในสวน มีลิเกในสวน และจะมีอีกหลายๆ งานที่จะเกิดขึ้น ต้องยอมรับว่า เป็นเพราะปรากฏการณ์ดนตรีในสวนที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่กรุงเทพฯ ต้องเดินต่อ จึงอยากที่จะเชิญชวนหลายๆ คนมาร่วมกัน ร่วมแสดงศักยภาพ ในวงการศิลปินดนตรีต้องบอกว่าเรื่องรายได้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นวิชาชีพที่เราต้องพัฒนาไปอีกไกล เพื่อที่จะให้เห็นคุณค่าตรงนี้ คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ดนตรีในสวนมาสร้างบทใหม่นี้ กรุงเทพมหานครมีความยินดีและพร้อมมากที่จะสนับสนุนโครงการศิลปะและดนตรี ขอบคุณทุกท่านที่มาจุดประกายให้กรุงเทพมหานคร เราจะเดินต่อไปด้วยกันพร้อมความร่วมมือกับพี่น้องทุกคน