ดิฉันมีลูกชายสองคนที่มีความใกล้ชิดและสนิทสนมกันมาก มีความเป็นเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมก่อการสารพัด และกอดคอกันผ่านเรื่องราวทั้งดีและร้ายมากมาย ทั้งยังแทบไม่ได้พรากจากกัน จนเมื่อวันหนึ่งน้องชายต้องกลับไปเรียนที่จีน พี่ชาย “สรวง สิทธิสมาน” ได้เขียนถึงบางอย่างที่หายไปในตัวเขาเมื่อน้องชายไม่อยู่ ผ่านคอลัมน์นี้
..............
"เราจะคิดถึงคนที่สำคัญ เมื่อต้องจากกันไป…”
ประโยคนี้ดังอยู่ในหัวผมในระยะหลัง ๆ เป็นเนื้อท่อนฮุคของเพลง "ไม่เคย" โดยวง 25 Hours ที่ผมชอบฟังในสมัยอายุประมาณ 16-17 ปี เป็นประโยคที่คมคาย และตรงกับความเป็นจริงในชีวิตของมนุษย์ทั่วไป ที่มักจะเห็นความสำคัญของบางสิ่ง เมื่อไม่มีมันอยู่กับตัวแล้ว
ความหมายของคำว่า "คนสำคัญ" หรือ "สิ่งสำคัญ" ในที่นี้คงจะแปลได้ไกลอีกหลายขั้น ขึ้นอยู่กับการตีความตามประสบการณ์ของแต่ละคน จะเป็นรูปธรรมดังเช่นสิ่งของ คนรัก สัตว์เลี้ยง เพื่อน หรือครอบครัว หรือจะเป็นนามธรรมเช่นอดีต ความทรงจำเก่า ๆ ตัวตน ช่วงเวลา หรือจะเป็นคำว่า "วัยเด็ก" ซึ่งเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของบทความชิ้นนี้
โปรยมาแบบนี้ แน่นอนว่าผมกำลังคิดถึง "วัยเด็ก" ของตัวเองในตอนนี้ ไม่ใช่ว่านึกอยากย้อนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหรอกครับ แต่เป็นเพราะตารางชีวิตของผมทุกวันนี้แทบจะไม่เปิดโอกาสให้ได้ทำตัวเป็น “เด็ก” กับเขาบ้างเลย คงเพราะเรียนจบแล้ว มีงานทำแล้ว อายุย่างเข้า 25 ปี เตรียมพ้นสภาพเยาวชนในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้แล้ว ภาระที่ต้องรับผิดชอบก็มากขึ้น เช่นเดียวกับหลาย ๆ คนในช่วงวัยเดียวกัน ไหนจะต้องวิ่งไปข้างหน้าเพื่อตามความฝันอีก
ผมเชื่อว่าไม่ว่าใครจะโตเป็นผู้ใหญ่แค่ไหน ก็ยังต้องมีมุมที่แสดง “ความเป็นเด็ก” ออกมาบ้าง โดยแต่ละคนคงจะมีวิธีการ กระบวนการ และการแสดงออกที่ต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก การสะสมของเล่น การกรี๊ดดารา การเป็น Fandom การอ้อนแฟน การเล่นกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ชอบต่อเนื่องมาจากวัยเด็กก็ดี หรือเป็นสิ่งที่ให้ความบันเทิงจนลืมภาระหนักอึ้งของความเป็นผู้ใหญ่ไปชั่วขณะก็ดี
ในกรณีของผม สิ่งที่มักจะทำให้ผมแสดง “ความเป็นเด็ก” ของตัวเองออกมาได้นั้นไม่ใช่สิ่งที่กล่าวในย่อหน้าข้างต้นสักอย่าง
แต่เป็น "น้องชาย" ของผม !
หากจะต้องอธิบายให้สั้นก็คงยาก แต่ถ้ายาว ผมก็เกรงว่าคุณผู้อ่านอาจจะรู้สึกเลี่ยนได้ งั้นก็เอาแต่พอประมาณนะครับ...
เอาง่าย ๆ คือผมและน้องชายเสมือนตัวติดกันมาตั้งแต่เด็ก นอนห้องเดียวกัน เรียนโรงเรียนเดียวกัน ไปเรียนต่อประเทศจีนทั้งที่หนานจิงและเซี่ยงไฮ้ด้วยกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน อยู่หอห้องเดียวกัน สร้างเรื่องสร้างปัญหาด้วยกันมามาก ทำสิ่งดี ๆ ร่วมกันมาก็ไม่น้อย หรือกระทั่งเล่นพิเรนทร์แบบสุดขีดถึงขั้นที่คงจะไม่มีใครสามารถจินตนาการได้ก็เคยมาแล้ว คือแทบจะไม่เคยห่างกันเลยครับ ผ่านอะไรกันมาครบทุกรส มันเลยทำให้เราสนิทกันมาก และต่อให้เราทั้งสองจะเติบโตมากขึ้นแค่ไหน จะทำงานอยู่ในสังกัดใคร หรือจะไปมีเพื่อนมีแฟนมีสังคมกว้างขวางอย่างไร
แต่พอเราสองคนกลับมาอยู่ด้วยกัน ก็พร้อมที่จะแปลงร่างกลายเป็นเด็ก แท็กทีมระเบิดความเกรียน สร้างความปวดหัว หรือวีรกรรมที่น่าประทับใจให้กับคนรอบข้างได้ทุกเมื่อ
คือไม่ว่าจะเหนื่อยกับชีวิตมาแค่ไหน แต่พอได้มารวมตัวกัน ก็มักจะมีเรื่องให้หัวเราะจนปวดกล้ามท้อง บางครั้งก็น้ำตาไหลน้ำลายพุ่งเลยทีเดียว
สิ่งเหล่านี้คือเรื่อง “ปกติ” ทั่วไปในชีวิตประจำวันของพวกเรา
ปกติเสียจนตัวผมเองก็ชินกับมัน และไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรกับมันมากนัก ซึ่งผมก็ต้องขออ้างว่ามันคือเรื่องปกติของมนุษย์
จนกระทั่งเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 วันแห่งเที่ยวบิน TG 8122 เที่ยวบินเหมาลำประวัติศาสตร์ที่เหินฟ้าพานักศึกษาไทยในจีนเกือบ 140 ชีวิตเดินทางนำร่องกลับไปศึกษาต่อที่ประเทศจีนได้สำเร็จเป็นเที่ยวบินที่ 2 ภายใต้การประสานงานของสมาคมนักเรียนไทย-จีน และองค์กรภาครัฐไทย-จีน ที่เกี่ยวข้อง
ใช่แล้วครับ น้องชายผมคือหนึ่งใน 140 ชีวิตที่เดินทางกลับไป...
"เราจะคิดถึงคนที่สำคัญ เมื่อต้องจากกันไป…"
นี่แหละครับ คือเหตุผลที่เนื้อร้องและท่วงทำนองของเพลง "ไม่เคย" ดังอยู่ในหัวของผมในระยะหลังนี้
คือมันก็ไม่ขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแต่พอน้องผมไม่อยู่บ้าน ทั้งตัวผม คุณพ่อคุณแม่ และอาม่า ต่างก็รู้กันโดยที่ไม่ต้องพูดว่าสีสันในบ้านนั้นจืดจางลง ส่วนตัวของผม ชีวิตก็เหมือนเดิม ทำงานหนัก กลับบ้านค่ำ แต่เมื่อกลับมา บรรยากาศของบ้านก็จะค่อนข้างสงบ ตัวผมก็ไม่ค่อยได้หัวเราะจนท้องแข็งเหมือนอย่างช่วงก่อนหน้า ตอนแรกก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่พอผ่านไปสักพักก็รู้สึกว่า เออ... เอาจริง ๆ มันก็เงียบไปหน่อยแฮะ..
เมื่อใช้เวลาครุ่นคิดนานเข้า ก็พบว่าชีวิตของผมนั้นขาด "ความเป็นเด็ก" อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และตกผลึกได้ว่า น้องชายผมนั่นเอง ที่เป็นเครื่องมือในการดึงความเป็นเด็กภายในตัวผมมาโดยตลอด
ตอนนี้ คงต้องใช้ชีวิตแบบขาดความเป็นเด็กไปสักระยะ..