เปิดงานวิจัยพบวัคซีนโควิดช่วยเซฟชีวิตคนไทยไม่ให้ตายจากโควิดถึง 4.9 แสนคน และช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษาอาการหนักอีกมาก ย้ำภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลงตามเวลา เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จึงต้องฉีดกระตุ้นเร็วขึ้น เพื่อสู้กับเชื้อโอมิครอนที่เปลี่ยนหน้าตาไปเล็กน้อย
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. รศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (Mathematic Modeling) สำหรับโรคติดต่อ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล แถลงผลการศึกษาวิจัยการฉีดวัคซีนโควิด 19 ต่อการรักษาชีวิตของคนในประเทศไทย ว่า มีงานวิจัยตีพิมพ์ของสถาบัน The MRC Centre for Global Infectious Disease Analysis ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก ซึ่งได้ประเมินว่า หลังจากทั่วโลกฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2563 - 8 ธ.ค. 2564 วัคซีนโควิดช่วยรักษาชีวิตหรือเซฟชีวิตคนทั่วโลกได้เท่าไร การศึกษาได้ทำแบบจำลองศึกษาถ้าไม่ฉีดวัคซีนจะมีคนเสียชีวิตจากโควิดเท่าไร และเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันมีคนเสียชีวิตจากโควิด ซึ่งจากการศึกษา 185 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย พบว่า ช่วยรักษาชีวิตคนได้ประมาณ 20 ล้านคนทั่วโลก
"ส่วนเฉพาะในประเทศไทย วัคซีนทุกชนิดที่มีการฉีดในช่วงวันที่ 28 ก.พ.2564 - 8 ธ.ค.2564 ช่วยรักษาชีวิตคนไทยไว้ได้ 382,600 คน แต่สถานการณ์การระบาดในไทยไม่ได้จบเพียงช่วงเวลานี้ แต่เราเจอสายพันธุ์โอมิครอนช่วงปลายปี 2564 คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร นำแบบจำลองนี้มาศึกษาต่อในของประเทศไทย หลังจากวันที่ 8 ธ.ค.2564 เป็นต้นมา พบว่าวัคซีนช่วยรักษาชีวิตคนไทยอีกประเมาณ 107,400 คน เมื่อรวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 - 3 ก.ค. 2565 วัคซีนช่วยเซฟชีวิตคนติดโควิดไม่ให้เสียชีวิตประมาณ 490,000 คน ถือว่าเยอะมาก ซึ่งยังไม่รวมการช่วยลดค่าใช้จ่ายอื่นๆเช่น เมื่อป่วยหนักก็ต้องเข้าไอซียู เสียค่ารักษามาก เป็นต้น" รศ.ดร.ชรินทร์กล่าว
รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตช่วงที่ยังไม่มีวัคซีน จะไม่เท่ากันในแต่ละบุคคล โดยจะเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยคนอายุ 60 ขึ้นหากติดโควิดมีโอกาสเสียชีวิต 1-10% แต่หากเฉลี่ยทุกช่วงอายุจะอยู่ที่ประมาณ 1.15% ที่จะเสียชีวิตจากโควิด แต่เมื่อฉีดวัคซีนพบว่า อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยของผู้ติดโควิดเริ่มลดลงเรื่อยๆ หลังฉีดวัคซีน และเริ่มลดลงอีกเมื่อมีการฉีดเข็มกระตุ้น จนทั่วโลกอัตราการเสียชีวิตของโควิดน่าจะประมาณไข้หวัดใหญ่หรือต่ำกว่าไข้หวัดใหญ่จมฤดูกาล อย่างไรก็ตาม พบว่าภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีนจะลดลงตามเวลา ถ้าฉีกมาสักระยะหนึ่งภูมิจะลดลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสายพันธุ์โอมิครอน ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนลดลงเร็วมาก และคนที่ติดสายพันธุ์ก่อนหน้ายังติดโอมิครอนซ้ำได้อีก
"มีความจำเป็นที่ต้องฉีดเข็มกระตุ้นเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อาการรุนแรงและเสียชีวิต สรุปว่าวัคซีนมีประโยชน์รักษาชีวิตคนไทยและทั่วโลก แต่จะให้ดีควรฉีดเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิเพียงพอมากขึ้น แต่ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะลดลงไปตามเวลา เป็นธรรมชาติของภูมิคุ้มกันจากวัคซีน คล้ายผลของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดกันทุกปี ซึ่งตอนนี้โควิดมีสายพันธุ์ใหม่ที่หน้าตาเปลี่ยนไปจากเดิมเล็กน้อย จึงต้องฉีดวัคซีนใหม่เร็วขึ้น ซึ่งระยะเวลาที่เหมาะสม 4-6 เดือน ควรฉีดกระตุ้นอีกสักครั้ง โดยประสิทธิผลจะคุ้มค่ามากในผู้สูงอายุ ที่ติดเชื้อมีอัตราเสียชีวิตสูง โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไปที่สูงถึง 10%” รศ.ดร.ชรินทร์ กล่าว