xs
xsm
sm
md
lg

ไกด์ไลน์ใหม่ปรับลำดับให้ยารักษา "โควิด" กลุ่มไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ เริ่มจากโมลนูฯ แทนฟาวิฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไกด์ไลน์รักษาโควิดฉบับล่าสุด ปรับลำดับการให้ยาต้านไวรัสกลุ่มผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง 1 ข้อ จากเดิมให้ยาฟาวิพิราเวียร์ก่อน ปรับเป็นให้ยาโมลนูพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ แพกซ์โลวิด และฟาวิพิราเวียร์ ยึดตามปริมาณยาที่มี ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราป่วยตาย การบริการจัดการยา และราคายา

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการแพทย์ได้เผยแพร่แนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565 โดยมีการปรับลำดับการให้ยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลางที่ยังไม่ต้องให้ออกซิเจน แนะนำให้ยาต้านไวรัสเพียง 1 ชนิด โดยควรเริ่มภายใน 5 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการจึงจะได้ผลดี โดยพิจารณาการให้ยาจากปัจจัยตอ่ไปนี้ คือ ประวัติโรคประจำตัว ข้อห้ามการใช้ยา ปฏิกิริยาต่อกันของยาต้านไวรัสกับยาเดิมของผู้ป่วย การบริหารเตียง ความสะดวกของการให้ยา รวมถึงปริมาณยาสำรองที่มี โดยไม่มีการนำปัจจัยเรื่องประวัติการรับวัคซีนมาร่วมด้วย

สำหรับลำดับการให้ยานั้น หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง 1 ข้อ จาก 10 ข้อ คือ 1.อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 2.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เกรด 2 ขึ้นไป 3.โรคไตเรื้อรังระยะ 3 ขึ้นไป 4.โรคหัวใจและหลอดเลือด 5.โรคหลอดเลือดสมอง 6.เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ 7.ภาวะอ้วน 8.ตับแข็ง 9.ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ 10.ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีค่า CD4 น้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลบ.ม. จากเดิมที่ให้เริ่มจากฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และแพกซ์โลวิด ให้เปลี่ยนลำดับใหม่เป็น เริ่มจากโมลนูพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ แพกซ์โลวิด ฟาวิพิราเวียร์

ข้อควรระวังในการให้ยานั้น การจัดลำดับการให้ยาให้พิจารณาจากปริมาณยาที่มีในประเทศ ประสิทธิภาพของยาในการลดอัตราการป่วยหนักและอัตราตาย ความสะดวกในการบริหารยา และราคายา ซึ่งข้อมูลปัจจุบันแพกซ์โลวิดมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีราคาสูงสุด ส่วนฟาวิพิราเวียร์ ไม่ช่วยลดอัตราการป่วยหนัก แต่ช่วยลดอาการได้ หากได้รับยาเร็วตั้งแต่วันแรกที่มีอาการในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง การเลือกใช้ยาใดกับผู้ป่วยรายใด แพทย์อาจใช้ยาตามรายการนี้ก็ได้โดยพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าว สถานพยาบาลแต่ละแห่งในช่วงสถานการณ์อาจจะมีความแตกต่างกัน

สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอื่นแนวทางการให้ยายังเป็นไปตามเดิม คือ ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือสบายดี ให้รักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ให้ยาต้านไวรัส ดูแลรักษาตามอาการตามดุลยพินิจแพทย์ อาจให้ยาฟ้าทะลายโจร , ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงรุนแรง พิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุด หากมีอาการเกิน 5 วันและไม่มีอาการหรืออาการน้อย อาจไม่ต้องให้ยาต้านไวัรสเพราะหายเองได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน , ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง มีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า 2 ข้อ ให้ยาเรมดิซิเวียร์ หรือแพกซ์โลวิด หรือโมลนูพิราเวียร์ และผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรงไม่เกิน 10 วัน หลังจากมีอาการและได้รับออกซิเจน แนะนำให้เรมดิซิเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ควรติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ร่วมกับการให้ยาสเตียรอยด์


กำลังโหลดความคิดเห็น