xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! วัยรุ่นท้องซ้ำรู้ว่าเสี่ยงพลาดอีก แต่เลือกนับวันไข่ตก-หลั่งนอกคุมกำเนิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยท้องวัยรุ่นลดลง ตั้งเป้าลดเหลือ 15 ต่อพันประชากรในปี 70 ห่วงวัยรุ่นท้องซ้ำรู้ดีว่ามีโอกาสพลาดอีก แต่เลือกวิธีป้องกันที่มีโอกาสพลาดสูง ทั้งนับวันไข่ตก หลั่งนอก กินยาคุมไม่ครบ ย้ำเข้าถึงฝังยาคุมฟรี แต่ต้องใช้ร่วมถุงยาง เพื่อป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์ด้วย
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครั้งที่ 1/2565 ว่า ขณะนี้ออกกฎหมายลูกภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 ครบถ้วนแล้ว ที่ประชุมจึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับการบังคับใช้กฎหมาย ร่วมกับอบรม รณรงค์ให้ความรู้เพื่อลดปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหรือท้องไม่พร้อมอายุ 15-19 ปีให้เป็นไปตามเป้าหมายใหม่ในปี 2570 ให้เหลือ 15 ต่อ 1,000 ประชากร แม้ปัจจุบันจะอัตราท้องไม่พร้อมลงเหลือ 25 ต่อ 1,000 ประชากร แต่ต้องวางเป้าหมายใหม่ถือเป็นเรื่องท้าทายมาก และให้คงค่าเป้าหมาย อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10 - 14 ปี ไม่เกิน 0.5 ต่อพันประชากร ภายในปี 2570 ทั้งนี้ มีการตั้งคณะทำงานบูรณาการฐานข้อมูล กำหนดแนวทางการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพพร้อมจัดทำรายละเอียดชุดข้อมูลแม่วัยรุ่น


นายสาธิต กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติสาธารณสุขล่าสุดพบว่า อัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปี โดยปี 2564 อยู่ที่ 25 ต่อ 1,000 ประชากร ปี 2563 อยู่ที่ 28.7 ต่อ 1,000 ประชากร ปี 2562 อยู่ที่ 31 ต่อ 1,000 ปะชากร ขณะที่กลุ่มอายุ 10-14 ปี อยู่ที่ 0.9 ต่อ 1,000 ประชากร ส่วนอัตรการคลอดซ้ำปี 2563 ลดเหลือ 8.1% จากปี 2562 อยู่ที่ 8.5 % นอกจากนี้ เราพบว่าในกลุ่มที่ตั้งท้องไม่พร้อม ยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาปี 2564 อยู่ที่ 47.5 % เพิ่มจากปี 2563 อยู่ที่ 28 % และที่สำคัญคือมีแนวโน้มเรียนในสถานศึกษาเดิมมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย

เมื่อถามถึงปัญหาการท้องซ้ำในวัยรุ่นที่มีการคุมกำเนิดน้อย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การท้องซ้ำในวัยรุ่นดีขึ้น ดีขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งกลไกนโยบาย การสร้างการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข เช่น ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด หรือกรณีตั้งครรภ์ไม่พร้อมก้มีเครือข่าย RSA ในการดำเนินการ มิติทางสังคมจะต้องดำเนินการเข้าไปเรื่องให้เด็กเรียนต่อหรือมิติอื่นๆ ได้ครบถ้วน การตั้งครรภ์จึงลดลง แต่แม้จะดีขึ้น แต่เทียบกับหลายประเทศก็ต้องลดสานการณ์ลงอีก และยังมีเรื่องปัญหาแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องทำให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพ เพราะทุกงันเรามีเด็กเกิดน้อย หากด้อยคุณภาพก็ยิ่งเกิดผลกระทบ


ถามถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ซ้ำ นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กล่าวว่า การตั้งครรภ์ซ้ำส่วนมากที่มีปัญหามักเป็นการเข้าไม่ถึงบริการ อีกส่วนคือเคยท้องมาแล้วทราบดีว่ามีโอกาสพลาดอีก แต่เรื่องการเลือกวิธีคุมกำเนิดแม้ภาครัฐจะส่งเสริมให้ใช้คุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ คือ คุมกำเนิดกึ่งถาวรคือการฝังยาคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัย แต่หลายส่วนยังเลือกใช้วิธีการที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า เช่น การนับวันปลอดภัย หรือการหลั่งภายนอกที่รู้ว่าโอกาสพลาดสูง หรือเลือกใช้วิธีที่ประสิทธิภาพสูง เช่น ถุงยางอนามัย หรือยาเม็ดคุมกำเนิดที่วัยรุ่นนิยมใช้ แต่มีข้อจำกัดมีโอกาสพลาดสูง ยาคุมมีโอกาสลืมได้บ่อย ประสิทธิภาพก็ลดลง ถุงยางอนามัยก็ต้องใช้ทุกครั้ง ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นบางทีก็ไม่สามารถจัดหาได้ทุกครั้ง ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ภาครัฐก็พยายามสนับสนุนปีที่ผ่านมาเราแจกถุงยางอนามัยเกือบ 2 ล้านชิ้น และยาฝังคุมกำเนิดก้มาเข้ารับบริการได้ฟรี สถานการณ์ดีขึ้นแต่บางส่วนยังไม่ทราบยังเข้าไม่ถึงบริการก็ต้องดำนินการ

ถามต่อว่าพื้นที่ไหนที่ต้องเฝ้าระวังเข้าไปดำเนินการมากขึ้น นพ.บุญฤทธิ์กล่าวว่า เรามีข้อมูลคือจังหวัดที่เดิมอัตราคลอดสุงและลดต่ำลง ซึ่งเมื่อเทียบกับ 7-8 ปีก่อน ภาคที่ลดลงได้น้อยหรือช้ากว่าคือภาคเหนือ หรือพื้นที่เฉพาะ เช่น กลุ่มที่มีชาติพันธุ์เยอะๆ แถวเชียงใหม่ ตาก ก็มีประเด็นวัฒนธรรมความเชื่อในพื้นที่ การเข้าถึงบริการที่ยากลำบากหลายด้าน ทั้งบริการสาธารณสุขหรือการดำเนินทางก็ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ขณะนี้พบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ขอเตือนว่าแม้จะฝังยาคุมกำเนิดแล้ว ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ขอให้สวมถุงยางอนามัยด้วย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะยาฝังไม่ได้ป้องกันโรคทางเพศสัมพันธ์


กำลังโหลดความคิดเห็น