ท่ามกลางการเติบโตของยุคสมัย โลกแห่งเทคโนโลยีที่ถาโถมปรับโฉมทุกวัน ทำให้ผู้คนปรารถนาถึงชีวิตที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย
จึงไม่แปลกใจที่คนเป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วงรอยต่อและเข้าสู่ยุคดิจิทัล มีแนวทางการเลี้ยงดูลูกด้วยการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่กังวลว่าจะเลี้ยงลูกเป็นคนดีไหม แต่กังวลว่าจะเลี้ยงลูกไม่ดีไม่สะดวกสบายเพียงพอ กลัวลูกลำบาก จึงมักโอบอุ้มลูกเสมอ ไม่ปล่อยให้ลูกได้เผชิญชีวิตของตัวเองอย่างแท้จริง !
ตั้งแต่เล็กก็คอยโอบอุ้ม กลัวลูกเจ็บ กลัวลูกลำบาก เมื่อเกิดปัญหาจึงมักทำแทน หรือออกรับแทนแทบทุกเรื่อง ด้วยเหตุผลรักลูก ทำทุกอย่างให้ลูก และเพื่อลูก
ถึงที่สุด ลูกจึงสะกดคำว่า “ยาก” และ “ลำบาก” ไม่เป็น เพราะไม่เคยได้ต้องเผชิญกับสิ่งยากๆ หรือลำบากด้วยตัวเอง จนกลายเป็นคนยอมแพ้อะไรง่ายๆ
แต่พอถึงวันหนึ่ง กลายเป็นว่าพวกเขาถูกเหมารวมว่า
“เด็กยุคนี้เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ”
“เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน”
“เด็กรุ่นนี้แก้ปัญหาไม่เป็น ชอบหนีปัญหา”
กลายเป็นปัญหาของเด็ก ทั้งที่พวกเขาเป็นเมล็ดพันธ์ที่ถูกบ่มเพาะจากพ่อแม่ คนใกล้ชิด และผู้ใหญ่แห่งยุคสมัยของพวกเรา
ในขณะที่โลกแห่งเทคโนโลยีต้องการคนที่ไม่ใช่มี IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางสติปัญญาดีอย่างเดียว หรือมี EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ดีด้วยเท่านั้น แต่ยุคนี้เด็กต้องมี AQ (Adversity Quotient) ความสามารถในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค ซึ่งหมายถึงความสามารถทั้งกายและใจ มีความอดทนอดกลั้น พร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหา และก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือท้าทาย ไม่มีความแน่นอน และเอาชนะเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ยิ่งในโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่าน และถูก Disruption จากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างเช่น COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงของโลกแทบจะทุกมิติ การรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจึงยากเกินกว่าจะใช้เพียง IQ และ EQ แก้ปัญหาได้
AQ จึงถูกพูดถึงมากในยุคนี้
Paul G.Stoltz พอล จี สตอลทซ์ ผู้เขียนหนังสือ AQ พลังแห่งความสำเร็จ ได้เปรียบชีวิตเหมือนการไต่ขึ้นภูเขา ผู้ที่ประสบความสำเร็จจะไต่ขึ้นไปยังจุดสูงขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน บางครั้งช้าบ้างเร็วบ้าง เจ็บปวดบ้างก็ยอม ความสำเร็จนั้นเป็นเพียงจุดๆหนึ่งของชีวิต ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จากนั้นก็ก้าวต่อไปตลอดชีวิต แม้ว่าจะมีอุปสรรคเพียงใด ก็สามารถเผชิญปัญหา และพยายามหาหนทางแก้ไข โดยแบ่งลักษณะของบุคคลโดยเทียบเคียงกับนักไต่เขาไว้ 3 แบบ ได้แก่
แบบแรก Quitter
ผู้ยอมหยุดเดินทางเมื่อเผชิญปัญหา
กลุ่มนี้มี AQ ต่ำ เมื่อเห็นยอดเขาก็จะบอกตัวเองว่ามันยากเกินไป ไม่มีทางข้ามได้ ปีนไปก็เหนื่อยเปล่า ปฎิเสธความท้าทายโดยไม่ลองพยายาม คนกลุ่มนี้มักปฏิเสธความท้าทายอย่างสิ้นเชิง ไม่คำนึงถึงศักยภาพของตนเอง พยายามหลบหลีกหนีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นทุกวิถีทาง ไม่มีความทะเยอทะยาน และขาดแรงจูงใจ
แบบสอง Camper
ผู้หยุดพักพิงเมื่อได้ที่เหมาะ
กลุ่มนี้มี AQ ปานกลาง เมื่อมองเห็นยอดเขา ก็ยังมีแรงใจและแรงกายที่จะปีนเขา แต่เมื่อทำไปได้สักพักอาจจะเหนื่อยและท้อ ขอแวะตั้งแคมป์พักก่อน พอได้พักก็อาจจะรู้สึกว่าไม่อยากไปต่อและล้มเลิกความตั้งใจ คนกลุ่มนี้แม้ไม่หนีปัญหาแต่ก็ไม่ท้าทายสิ่งใหม่ๆ อาจเพราะหมดไฟหรือติดอยู่ในคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง แต่ถ้าได้รับแรงกระตุ้น แรงจูงใจ หรือคำชมเพื่อเป็นกำลังใจ ก็อาจไปต่อ และทำในระดับเพียงพอของตัวเอง จะไม่พยายามทำให้โดดเด่นเกินหน้าใคร
แบบสาม Climber
ผู้รุกไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง
กลุ่มนี้มี AQ สูง แม้ยอดเขาจะสูง แต่พวกเขาก็มีเป้าหมายชัดเจน และทำทุกวิถีทางที่จะก้าวข้ามไปให้ได้ รู้จักปรับตัว อดทน และไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก สามารถสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง และสร้างวินัยแก่ตนเอง สนุกกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ พร้อมจะพุ่งไปสู่เป้าหมายให้ได้
สรุปก็คือ AQ คือ "ความสามารถในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้ " เป็นคุณลักษณะที่สำคัญมากสำหรับผู้คนในยุคนี้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ต้องเติบโตมาในยุคดิจิทัล และต้องเผชิญกับความท้าทาย ปัญหา อุปสรรคใหม่ๆ มากมายที่ไร้พรมแดน
ยิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทัศนคติต่อการเลี้ยงดูลูกให้เผชิญกับความยากลำบากยิ่งเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นทักษะที่เด็กทุกคนพึงมี เพื่อสร้างภูมิต้านทานชีวิต และมีความใฝ่สัมฤทธิ์ในชีวิต
แล้วคุณเป็นพ่อแม่ที่ปลูกฝังลูกให้เป็นนักปีนเขาแบบไหน ?