xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” จับมือ สวทช. เตรียมขยายโปรเจกต์ ใหม่ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม. จับมือ สวทช. เตรียมขยายโปรเจกต์ ใหม่ ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุง

(5 ก.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่า วันนี้กทม. มาขอบคุณ สวทช. ที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Traffy Fondue ซึ่งทีมงานได้ใช้มาสองปีกว่าแล้ว แต่มาใช้เป็นทางการกับ กทม. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาซึ่งถือว่าเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการทางราชการทำให้การบริหารจัดการก็ดีขึ้น ประชาชนมีความสุขมากขึ้น พร้อมกันนี้ ได้หารือถึงความร่วมมือต่อไปในอนาคตเพราะเชื่อว่า สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีนักวิจัยทำงานได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ของสังคม ซึ่งหลายๆ เรื่องได้ทำการศึกษามานานแล้ว และดูว่าจะต่อยอดอย่างไร เช่น Traffy Fondue อาจจะต่อยอดไปถึง Traffy Garbage เพื่อดูเรื่องขยะ และจะขยายให้มีความครอบคลุมมากขึ้น

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวด้วยว่า การหารือในวันนี้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมหลายเรื่องจากผู้อำนวยการสวทช. เช่น การเก็บข้อมูลสุขภาวะเด็กในโรงเรียนโดยแอปพลิเคชัน หรือรถเข็นประเภทปิ้งย่างที่สามารถเก็บควันได้ ซึ่งสวทช. มีต้นแบบอยู่แล้ว หรือการส่งสัญญาณชีพของผู้ป่วยที่อยู่ในรถฉุกเฉินไปให้โรงพยาบาลก่อนที่รถฉุกเฉินจะถึงโรงพยาบาลเพื่อให้สามารถเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยหรือให้คำแนะนำแก่รถฉุกเฉินได้ สำหรับสิ่งที่ กทม.อยากได้ เช่น ป้ายรถเมล์ ซึ่ง สวทช. มีแอปพลิเคชันที่สามารถบอกตำแหน่งรถสาธารณะได้ว่าอยู่ที่ไหน ทำให้ประชาชนสามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น เช่นจะต้องมาที่ป้ายรถเมล์กี่นาที ไม่ต้องรอนานเพียงแค่ดูแอปพลิเคชันก็รู้ว่าอีกกี่นาทีรถจะมาถึง ซึ่งหากรวมกับป้ายรถเมล์ที่เราต้องการ ที่เป็นป้ายรถเมล์แบบง่ายๆ ไม่ต้องหรูหรา แต่มีระบบบอกข้อมูล มี Wi-Fi มีแสงสว่างที่ดี ก็จะเป็นป้ายรถเมล์ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น ในกรณีรถฉุกเฉินอาจจะขยายไปเป็นรถสำหรับตรวจชาวบ้านในชุมชน แทนที่ชาวบ้านจะต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุขหรือที่โรงพยาบาลก็เอารถนี้ออกไปตรวจ มีพยาบาลวัดความดัน วัดคลื่นหัวใจ และส่งสัญญาณชีพให้หมอที่อยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ลดการเดินทางของทั้งสองฝ่ายได้ รวมถึงการใช้โดรนในการตรวจการจราจร ตรวจจุดไม่ปลอดภัย จุดที่ไฟดับบนท้องถนน หรือแม้กระทั่งใช้ในการดับเพลิงหรือดูต้นเพลิง ต้องขอขอบคุณสวทช. ซึ่งต่อไปอาจจะมีการ MOU ร่วมกัน เพื่อให้การให้บริการและการทำงานขยายวงกว้างและครอบคลุมเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น

ด้านดร.ณรงค์ กล่าวว่า วันนี้ได้หารือกันว่า สวทช. จะมีส่วนในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกทม. ได้อย่างไร ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนได้ใช้ Traffy Fondue และคงมีอีกหลายเรื่องที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถเข้าไปขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ ซึ่ง สวทช. พยายามจะเชื่อมต่อจุดต่าง ๆ ของการเดินทางในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ เรือ บีทีเอส เอ็มอาร์ที ตารางการบินของเครื่องบินต่างๆ ถ้าสามารถเชื่อมต่อไปก็ตอบประชาชนได้ว่าท่านจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกหนึ่ง ควรจะใช้เวลาเท่าไร และอนาคตการซื้อตั๋วการใช้ตั๋วต่างๆ ก็จะดีขึ้น การบริหารจัดการชีวิตก็จะดีขึ้น เพราะสามารถเตรียมเวลาล่วงหน้าได้ รวมถึงป้ายรถเมล์ที่ผู้ว่าฯ กทม. อยากจะเห็น เราจะสามารถบอกได้ว่ารถเมล์คันต่อไปจะมาเมื่อไหร่ รถเมล์คันสุดท้ายไปหรือยัง ซึ่งจะดีทั้งคุณภาพชีวิตของคน และดีต่อชีวิตและทรัพย์สินด้วย โดยในเวลายามค่ำคืน เราจะรู้ว่าควรจะออกมาขึ้นรถเมื่อไร ซึ่งยังมีอีกหลายโครงการที่ สวทช.จะหารือร่วมกับ กทม. เพื่อร่วมงานกันต่อไป

“หัวใจของเมืองคือการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ และให้เทคโนโลยีตอบโจทย์คน โดยเน้นคนเป็นหลัก ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่หรูหรา แต่เป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์คนอย่างแท้จริง เชื่อว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนเมืองได้ เพราะเป็นการลงทุนที่ไม่แพง แต่สามารถสร้างผลที่ขนาดใหญ่ได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น