กรมวิทย์เผยสัดส่วน BA.4/BA.5 ในไทยเพิ่มขึ้น พบแล้ว 51% คาดเบียดตัวเก่าออกไปเร็วๆ นี้ ยังไม่พบความรุนแรงมากขึ้น พบกลุ่มปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจสัดส่วน BA.4/BA.5 ไม่ต่างจากผู้ป่วยกลุ่มอื่น แต่ตัวอย่างยังน้อย 11 ราย ขอ รพ.ส่งตรวจมากขึ้น ชี้ต้องพิสูจน์ผู้ป่วยอาการหนักใน รพ.มากขึ้น มาจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือตัวเชื้อรุนแรงขึ้น
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิด 19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า การตรวจสายพันธุ์เบื้องต้นช่วงวันที่ 25 มิ.ย. - 1 ก.ค. 2565 พบว่าเป็นโอมิครอน 100% สายพันธุ์ย่อยเป็น BA.1 จำนวน 10 ราย คิดเป็น 1.05% BA.2 พบ 447 ราย คิดเป็น 47.15% และ BA.4/BA.5 จำนวน 489 ราย คิดเป็น 51.58% เพิ่มขึ้นจาก 2 สัปดาห์ก่อนที่พบจากประมาณ 6.7% และ 44.3% คาดว่าอีกไม่นานจะครองพื้นที่การติดเชื้อในไทย ซึ่งขณะนี้พบเกือบทุกเขตสุขภาพ ยกเว้น เขตสุขภาพที่ 3 , 8 และ 10 แต่เป็นการสุ่มตรวจตัวอย่างเข้าใจว่าอาจมีในพื้นที่แล้ว ส่วน กทม.เป็นพื้นที่ตรวจพบมากที่สุด สำหรับสัดส่วนของ BA.4/BA.5 ยังเป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ 78.3% ส่วนในประเทศพบสัดส่วน 50.3%
นอกจากการตรวจเบื้องต้นแล้ว ยังนำจำนวนหนึ่งมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและวิเคราะห์ข้อมูล ใช้เวลา 1 สัปดาห์ บางส่วนจึงซ้ำกัน ซึ่งวันนี้น่าจะมี BA.4/BA.5 ในประเทศไทยประมาณพันราย แต่จำนวนไม่มีความหมาย เพราะต้องดูสัดส่วน ถ้าสัดส่วนเยอะกว่า ก็จะแพร่เร็วกว่าและจะเบียดสายพันธุ์เก่าออกไป ซึ่งสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างภายในประเทศทั้งหมด 175 ราย เป็น BA.4/BA.5 ประมาณ 35.8% เมื่อมาดูตัวอย่างการติดเชื้อของแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 44 ราย พบ 29.5% กลุ่มที่ค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ 19 ราย พบ 29.5% และกลุ่มที่มีอาการรุนแรง 11 ราย พบ 36.4% จะเห็นว่าสัดส่วนไม่ได้แตกต่างกัน จึงยังไม่ปรากฏว่ามีความรุนแรงจาก BA.4/BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 เดิม แต่เพียงในกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงมีเพียง 11 ราย ยังต่ำเกินไป จึงต้องขอเวลา โดยขอความร่วมมืออีกรอบให้ รพ.ที่มีคนไข้ใส่เครื่องช่วยหายใจ ปอดอักเสบ ส่งมาตรวจเพิ่มขึ้น ถ้าตัวอย่างมากขึ้น ตัวเลขทางสถิติก็จะแม่นยำมากขึ้น
"สรุปขณะนี้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสัดส่วนเป็น 50% แล้ว และค่อยเบียดตัวเก่าออกไป ความรุนแรงข้อมูลยังไม่มากพอต้องติดตามต่อว่า คนใส่ท่อช่วยหายใจและปอดอักเสบ หรือเสียชีวิตมีสัดส่วน BA.4/BA.5 ต่างจากคนติดเชื้อทั่วไปหรือไม่ ย้ำว่ามาตรการส่วนบุคคลยังจำเป็น ใส่หน้ากาก ล้างมือเลี่ยงไปกิจกรรมสถานที่แออัด แม้เราไม่ได้บังคับกันแล้ว ก็ขอให้เป็นสุขนิสัยส่วนบุคคล ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอ เรายังไม่มีวัคซีนรุ่นใหม่ ยังเป็นรุ่นเดิม ลักษณะสำคัญคือเมื่อเวลาผ่านไป ภูมิคุ้มกันจะลดลงและสู้กับสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้น้อยลง เป็นข้อสรุปค่อนข้างชัดเจนทั่วโลก" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า วิธีหนึ่งที่เรายังไม่มีวัคซีนใหม่ คือ ฉีดกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันยกสูงขึ้น ในการทดสอบภูมิคุ้มกันของเรา ก็พบว่า ถ้ากระตุ้นแล้วภูมิยกสูงมากพอจะช่วยต่อสู้เชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้ วันนี้เรามี BA.5 ในสต๊อก กำลังจะเพาะให้ได้มากพอ เพื่อทดสอบกับวัคซีนเข็มกระตุ้นว่าสู้ได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น ข้อแนะนำคือ คนได้แค่ 2 เข็มไม่พอ ต้องฉีดเข็มกระตุ้น คนฉีดเข็ม 3 นานแล้ว ภูมิคงตกระดับหนึ่งก็ต้องกระตุ้นให้ภูมิยกสูงขึ้นมาเพื่อสู้ BA.4/BA.5 ก็เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ อย่าเพิ่งตกใจเกินกว่าเหตุ เราอาจเห็นข้อมูลการนอน รพ.มากขึ้น อาจมาจากติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะ BA.4/BA.5 อาจหลบภูมิได้บ้าง คนเคยเป็น BA.1 แล้วอาจเป็นซ้ำได้และเมื่อแพร่เชื้อเร็วขึ้นก็ติดง่ายขึ้น ก็อาจมีคนไปนอนรพ.เยอะขึ้น แต่สัดส่วนต้องว่า BA.4/BA.5 เป็นสาเหตุหรือไม่ หรือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มไปตามจำนวนคนติดเชื้อ เพราะเมื่อติดเชื้อมากขึ้นก็มีคนอาการหนักมากขึ้นตามไปด้วย
นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เราเพาะเชื้อ BA.5 เรียบร้อย เชื้อมีความแข็งแรง ได้ทำการทดสอบแล้ว 21 ตัวอย่าง แบ่งเป็น กลุ่มฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 10 ตัวอย่าง และซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ 11 ตัวอย่าง ผลจะออกวันศุกร์นี้ ส่วน BA.4 กำลังพยายามเพาะ เนื่องจากเชื้อที่ได้ยังไม่แข็งแรงพอ ตัวอย่างอีกกลุ่มของมหาวิทยาลัยเป็นเคสที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์แบบโลว์โดสอีก 2 กลุ่ม คือกลุ่มฉีดเข็มสามครบ 14 วัน จำนวน 6 ตัวอย่าง และกลุ่มฉีดครบ 28 วันหลังเข็มสาม ผลทั้งหมดจะออกในสัปดาห์หน้า
เมื่อถามถึงสายพันธุ์ BA.2.75 ที่พบในอินเดีย อเมริกา อังกฤษ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สายพันธุ์ที่น่ากังวลและต้องเฝ้าระวัง (VOC LUM) มีประมาณ 6 สายพันธุ์ ซึ่งมี BA.4 และ BA.5 ด้วย แต่ BA.2.75 ยังไม่ได้รับการจัดอยู่ใน VOC LUM แต่ถ้าดูแล้วมีปัญหามากขึ้นก็อาจมีการจัดอันดับได้ แต่อมูลใน GISAID ยังมีเพียง 60 กว่าตัวอย่าง ถือว่ายังน้อยเกินไป จึงอย่าเพิ่งกังวล ส่วนไทยมีการเฝ้าระวังถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวไม่น้อยกว่า 500 ตัวอย่าง ถ้าโผล่มาก็จะจับได้ ตอนนี้ยังไม่มีในไทย แต่จะเฝ้าระวังต่อไป
ถามว่าผู้ป่วยใน รพ.เริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ปัจจัยหลักคืออะไร BA.4 BA.5 มีส่วนหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า คนไข้หนักสมมติมี 2% ถ้าตัวเชื้อไม่ได้รุนแรง แต่ทำให้ติดเชื้อเร็วง่ายขึ้น จำนวนคนไข้หนักก็เพิ่มขึ้น เป็นตรรกะพื้นฐาน เราพยายามพิสูจน์ว่า BA.4/BA.5 ที่แพร่เร็วขึ้นทำให้หนักขึ้นด้วยไหม เราขอพิสูจน์ก่อน เบื้องต้นยังไม่เห็นจาก 11 รายที่จำนวนน้อย ก็ไม่ได้มีสัดส่วน BA.4 BA.5 ต่างจากคนทั่วไป ขอพิสูจน์อีกระยะ ถ้าได้ข้อมูลชัดว่า นอกจากติดเชื้อเพิ่มขึ้นและตัวเองยังทำให้เกิดรุนแรงขึ้นด้วย ก็จะทำให้คนไข้หนักนอน รพ.เยอะขึ้นโดยปริยาย
ถามว่า BA.5 ส่งผลต่ออาการผู้ป่วยโควิดมากขึ้นจากเดิมหรือไม่ ต้องเฝ้าระวังกลุ่มใด นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เป้าหมายยังเป็นกลุ่ม 608 แม้โอมิครอนระยะหลังแทบไม่มีอาการ ป่วยไม่กี่วันก็หาย ไม่ต้องกินยา แต่กลุ่มที่ภูมิคุ้มกันไม่สามารถต่อสู้เชื้อตามปกติ อาจเกิดปัญหาง่ายขึ้น ขณะนี้ถ้าจะลดเสี่ยงการรับเชื้อด้ยวิธีไหนก็ควรทำ กลุ่มได้วัคซีนแล้วภูมิไม่สูงพอเมือ่ถึงเวลาก็มีรับเข็มกระตุ้น หากมีปัญหาโรคเรื้อรังที่จัดการโรคได้ไม่ดีก็ต้องระวังเพิ่มขึ้น ส่วนอาการ BA.4 BA.5 ต่างไปไหม กรมการแพทย์กำลังรวบรวม แต่โดยตลอดมาตั้งแต่อัลฟา เดลตา อาการไม่สามารถเอามาใช้แยกอะไรได้ชัดๆ ว่ามีอาการอันนี้เป็นสายพันธุ์นี้ ไม่มีเป็นสายพันธุ์นี้ มันแยกไม่ได้ เพราะเป็นลักษณะทั่วไปของการติดเชื้อไวรัส มีไข้ได้ ไอบ้าง ต่อให้เป็น BA.4 BA.5 บางคนก็สบายดี ไม่มีข้อมูลหนักแน่นพอว่าอาการต่างกันเพราะประเด็นไหน
ถามถึงการตรวจสายพันธุ์ BA.4/BA.5 มีในกลุ่มผู้เสียชีวิตแล้วหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ยังไม่มี เนื่องจากการเสียชีวิตจะล่าช้ากว่า เพราะมีความพยายามในการช่วยดูแลรักษาชีวิต บางคนเป็นเดือนถึงค่อยเสียชีวิตหลังมีการติดเชื้อ ดังนั้น เราเคยเอาข้อมูลเสียชีวิตมาดูยังเป็น BA.2 จึงยังบอกไม่ได้ เพราะเป้นการติดเชื้อสมัยก่อน ตอนนี้เรากำลังเก็บไปข้างหน้า วันนี้หากเสียชีวิตก็ขอให้ส่งมาตรวจ เพราะสัปดาห์ที่แล้วยังส่งมาน้อย วันนี้ที่ประชุมอีโอซีขอความร่วมมือให้ส่งมาตรวจมากขึ้น หากส่งมาเป้น 100 ตัวอย่างข้อมูลก็จะชัดขึ้น ส่วนตัวอย่าง 11 รายพบว่า 9 รายมาจากต่างจังหวัด อีก 2 รายมาจาก กทม. ซึ่งจริงๆ กทม.เป็นพื้นที่หลักที่มี BA.4/BA.5 เยอะกว่า โดยภูมิภาคพบเพียง 15% แสดงว่าป็น BA.2 เยอะ ก็เป็นไปตามธรรมชาติ จากต่างประเทศมา กทม. และไปต่างจังหวัด ส่วนข้อมูลเรื่องของวัคซีนของทั้ง 11 รายยังไม่มี ก็จะขอข้อมูลมาให้เห็นมากขึ้น และต้องให้มีจำนวนมากขึ้นถึงจะตอบได้