กรมควบคุมโรคเตรียมแก้ไขสัญญา ปรับสัดส่วนซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ มาเป็นยาฉีด Evusheld 2 แสนโดส โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม หลัง อย.อนุมัติใช้ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันไม่ดี เล็งใช้ในกลุ่มล้างไต พร้อมหารือกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพิ่ม ชวนมหา'ลัยร่วมวิจัยการใช้ในกลุ่มอื่น เร่งเจรจาไฟเซอร์ส่งวัคซีนเด็กเล็กฝาสีแดงในโควตาสั่งซื้อปี 65 หากผ่าน อย.ฉีดในเด็กต่ำกว่า 5 ขวบได้
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแนวทางการให้ยาฉีด Evusheld เพื่อป้องกันโควิด หลังจาก อย.อนุมัติใช้ ว่า ครม.อนุมัติให้จัดหา 2 แสนโดส ซึ่งเมื่อ อย.อนุมัติให้ใช้สำหรับป้องกันในกลุ่มที่ภูมิคุ้มกันสร้างไม่ดี จะใช้ตัวนี้เป็นวัคซีนสำเร็จรูปในการให้ประชาชน ก็ปรึกษาว่าจะให้ใช้ในกลุ่มเป้าหมายใด ซึ่งคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบและเสนอ ศบค.เห็นชอบไปแล้วให้นำมาใช้ในผู้ป่วยโรคไต เปลี่ยนถ่ายไต ซึ่งผลศึกษามีความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อเสนอว่าอยากให้ใช้ในกลุ่มที่ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดีด้วย ก็จะตั้งคณะทำงานมาหารือร่วมกันว่าจะระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนอย่างไร และประสาน สปสช.ข้อมูลคนฟอกไตจะเอาไปฉีดให้ครบถ้วน นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นยาใหม่ จะเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัยในการศึกษากลุ่มอื่นด้วย
"การนำมาใช้นั้น ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบ ศบค. ครม.แล้ว ส่วนงบประมาณที่ใช้เนื่องจากเป้นเงินกู้ แต่ไม่ได้ใช้เงินเพิ่ม โดยใช้เงินที่ซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งมีความต้องการใช้วัคซีนลดลงก็จะขอเปลี่ยนมาเป็นตัวนี้แทนไม่ต้องเพิ่มเงิน ซึ่งสภาพัฒน์เป็นเจ้าของเงินกู้ ก็ให้ความเห็นชอบแล้ว นำเข้า ครม.แล้ว โดยขั้นตอนต่อไปกรมฯ จะเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สธ.เห็นชอบ เพื่ออนุมัติให้กรมไปลงนามแก้ไขสัญญา" นพ.โอภาสกล่าว
เมื่อถามถึงการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่ทราบมี 2 บริษัท คือ ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่ง อย.ขอให้ผู้นำเข้ามายื่นทะเบียนกับ อย. เพิ่มเติม หากอนุมัติก็ฉีดได้ ซึ่งไฟเซอร์ฉีดในเด็กเล็กเรียกว่าฝาสีแดง โดยโดสลดลงขนาดกว่าของเดิมเป็น 10 เท่า ก็เหมาะกับการฉีดเด็กเล็ก ซึ่งเราติดต่อไฟเซอร์แล้วว่าขอแก้ไขสัญญาที่ส่งไฟเซอร์เดิมปี 65 จำนวน 30 ล้านโดส จะขอเป็นตัวนี้เพิ่มเติม ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเจรจา และขออนุมัติจากท่านรองนายกฯ เห็นชอบต่อไป
เมื่อถามว่าขณะนี้มีโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 การฉีดวัคซีนโควิดป้องกันมีการพูดกันว่า ชนิด mRNA น่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุด นพ.โอภาส กล่าวว่า จริงๆทุกตัว เมื่อเจอสายพันธุ์ใหม่ๆ ความสามารถในการป้องกันติดเชื้อลดทุกตัว ซึ่งตามทฤษฎีอย่าง BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ตรงสไปก์โปรตีน หรือโปรตีนหนามแหลม และเมื่อนำ mRNA มาสร้างก็จะโปรตีนที่สร้างสไปก์โปรตีน โดยทฤษฎีการตอบสนอง BA.4 และ BA.5 ก็จะลดลง แต่เป็นวัคซีนทุกแพลตฟอร์ม
“เชื้อกลายพันธุ์เร็วกว่าวัคซีนที่ผลิตได้ แต่ประสิทธิภาพลดลง แต่ไม่ทั้งหมด ซึ่งไม่ว่าจะ mRNA ไวรัลเวกเตอร์ หรือเชื้อตายที่ไม่ค่อยได้ฉีด พบว่าทุกตัวประสิทธิภาพการป้องกันติดเชื้อลดลง แต่ลดอาการป่วยหนัก และเสียชีวิตยังมีอยู่ ซึ่ง สธ.พูดด้วยข้อมูล คือ ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 4 เดือนจะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ จึงขอให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่ม 608 บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ สื่อมวลชนที่ไปทำงานหลายๆที่ ก็ควรฉีด” นพ.โอภาส กล่าว
ถามถึงวัคซีนโปรตีนซับยูนิต หากมาใช้เป็นเข็มกระตุ้นจะช่วยกระตุ้นภูมิฯ ได้มากด้วยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เนื่องจากวัคซีนนี้ ผลวิจัยต่างประเทศค่อนข้างน้อย ไม่สามารถบอกได้ว่าหากบูสเตอร์ดีกว่าหรือไม่ แต่ข้อมูลเบื้องต้นการบูสเตอร์ถือว่าใช้ได้ อย่างไรก็ตาม เรามีการกระจายให้ฉีดเป็นเข็มแรก หรือเข็มสอง หรือคนที่แพ้วัคซีนตัวอื่น หรือหากต้องการฉีดชนิดนี้ก็ถือว่าฉีดได้ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า วัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยการตายได้ แต่ BA.4 และ BA.5 ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อลดลง ซึ่งไม่ได้ลดมาก ลดระดับปานกลาง แต่เราต้องใช้มาตรการอื่นๆด้วย คือ สวมหน้ากากอนามัย
“สิ่งสำคัญขอให้มาฉีดวัคซีน อย่างเข็ม 3 โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังพบมากที่ไม่มาฉีดเข็มกระตุ้น ส่วนคนที่เจอกับคนมากๆ ทำงานผับ บาร์ คาราโอเกะ ก็มีความเสี่ยง บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ขอให้ฉีดกระตุ้นทุก 4 เดือน สามารถฉีดวัคซีนตัวไหนก็ได้ และการสวมใส่หน้ากากอนามัยยังจำเป็น ซึ่งจริงๆจะมีประโยชน์มากในคนมีเชื้อ เพราะใส่แล้วจะลดการแพร่เชื้อได้ แต่ที่ดีสุดคือ ทุกคนใส่ ส่วนจะต้องใส่ตลอดเวลาหรือไม่ก็ไม่เหมาะ หากอยู่ในที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ทุกคนต้องใส่ แต่หากอยู่กลางแจ้ง ออกกำลังกายอันนี้ไม่ต้องใส่” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว