"ผู้ว่าฯ ชัชชาติ" ยกพนักงานฝ่ายรักษาฯ เป็นหัวใจสำคัญของ กทม. ไม่ใช่แค่ทำความสะอาด แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยการดูแลเมืองให้ปลอดภัย พร้อมดูแลสวัสดิการให้เหมาะสม
(29 มิ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะสำนักงานเขต ครั้งที่ 1/2565 โดยมี นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า และประชุมผ่านระบบทางไกล
สำหรับระเบียบวาระการประชุมมีเรื่องเพื่อทราบ 2 เรื่อง คือ 1. การขับเคลื่อนนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม 2. เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามโครงการ Green Bangkok 2030 ส่วนเรื่องเพื่อพิจารณา มี 4 เรื่อง ได้แก่ 1. นโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง 2. แนวทางการดำเนินโครงการตามนโยบายสวน 15 นาทีทั่วกรุง 3.การพัฒนาแนวทางการเก็บขนมูลฝอย เพื่อสภาพแวดล้อมเมืองที่ดี จุดคัดแยกขยะถูกสุขอนามัย ไม่มีขยะตกค้าง 4. การจัดตั้งจุดรับพลาสติกรีไซเคิล และขยะกำพร้าส่งคืนสู่ระบบหมุนเวียนใช้ประโยชน์ “แยกเพื่อให้พี่ไม้กวาด”
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เป็นหัวใจสำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่จะดูแลประชาชน เวลาลงพื้นที่จะพบพนักงานกวาดตลอด ต้องดูแลพนักงานทั้งในส่วนของลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ความมั่นคงในชีวิต ที่ได้ยินบ่อยคือ เป็นลูกจ้างชั่วคราวมา 10 ปีแล้วยังไม่ได้บรรจุ ต้องดูเรื่องความเป็นธรรมให้ดี ผลงานของพนักงานรักษาความสะอาดมีผลต่อผลงานของ กทม. พวกเขาคือโซ่ที่เชื่อมระหว่าง กทม. กับประชาชน ถ้าโซ่ที่เชื่อมนี้อ่อนแอ สุดท้ายเราก็ไม่สามารถดีกว่าโซ่ข้อนี้ไปได้ หัวหน้าฝ่ายต้องให้ความเมตตากับลูกน้องและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
“พนักงานฝ่ายรักษาความสะอาด เป็นเหมือนหูตาให้กับเรา ช่วยดูเรื่องต่าง ๆ ให้เรา อาจจะดูเรื่องทางม้าลายให้ปลอดภัย ดูแลในเรื่องของจุดที่มีปัญหา อยากให้มีการจัดอบรมเพิ่มเติมเรื่องเทคโนโลยีพวกเขา อย่างระบบ Traffy Fondue ให้กับพนักงานรักษาความสะอาดทุกคน เพื่อให้เขาช่วยแจ้งเหตุ เมื่อเขาแจ้งมาเชื่อว่าทุกจุดได้รับการแก้ไขทั้งหมด เพราะทุกที่ในกรุงเทพฯ ต้องมีคนกวาด หน้าที่ของเขาไม่ใช่แค่ทำความสะอาด แต่หมายถึงการเป็นหูเป็นตาในการดูแลเมือง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีการประกวดพนักงานรักษาความดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยมีคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอในที่ประชุมว่า ขอให้เพิ่มการคัดเลือกพนักงานดีเด่นทุกอาทิตย์ด้วย เนื่องจาก กทม. มีกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ทุกวันอาทิตย์ โดยสัญจรไปที่สำนักงานเขตไหน ก็ให้ทางสำนักงานเขตนั้นคัดเลือก ประมาณ 4-5 คน เพื่อร่วมทานข้าวด้วยกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาในการปฏิบัติงาน และสร้างขวัญกำลังใจ
ในส่วนของการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพิ่มเติมว่า ไม่อยากจำกัดอยู่ในกรอบของนโยบาย หากใครมีความคิดที่ทำให้เขตดีขึ้นสามารถเสนอได้เลย เพราะผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้วย่อมรู้ปัญหาดีกว่า แต่ละเขตก็มีปัญหาไม่เหมือนกัน
“ผมชอบคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เราบอก 1 แล้วได้ 10 แสดงถึงความใส่ใจในการมองปัญหาให้แตก แต่บอก 1 แล้วได้ 0 ไม่ได้ ถ้าบอก 1 แล้วได้ 1 ก็ยังเสมอตัว อย่างที่บอกพวกเรารู้ละเอียดกว่าผมเยอะ ผมก็ทำแบบคนนอกที่คิดนโยบายมา อย่าไปผูกติดกับนโยบาย ต้องพยายามดูปัญหาบางทีอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ อาจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากงบประมาณเรามีจำกัด เราอยากทำน้อยแล้วได้เยอะ อย่างที่เราให้พนักงานกวาดช่วยดูเรื่องความปลอดภัย เรื่องทางม้าลาย เท่านี้ก็ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม หรือตรงไหนไฟดับ พนักงานกวาดก็เห็นแล้ว ถ้าเขาใช้ Traffy Fondue เป็น ก็สามารถถ่ายรูปแจ้งเหตุได้ ถ้าเรามีแนวคิดที่เสนอขึ้นมาก็จะดี ความแตกต่างของการทำงานอยู่ตรงนี้ ว่าใครจะมีความคิดมีความกระตือรือร้นในการเสนอคำตอบนอกเหนือจากที่เราคิดให้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว