xs
xsm
sm
md
lg

‘สสส.’ ผนึกกำลัง ‘เอ็นไอเอ’ เซ็น MOU ร่วมสนับสนุนนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาวะคนไทยอย่างเท่าเทียม-ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส.-เอ็นไอเอ ผนึกกำลัง เพื่อขยายผลนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะสู่วงกว้าง ตั้งเป้านำนวัตกรรมหนุนให้คนไทยสุขภาพดีอย่างเท่าเทียม ยั่งยืน

ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไทยในภายภาคหน้าอย่างมาก และถือเป็นครั้งแรกที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้จับมือร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนการสนับสนุนระบบนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนคนไทย ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการต่อยอดขยายผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะไปในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในระดับภาคีเครือข่าย องค์กรภาครัฐ เอกชน สังคม ชุมชน และประชาชน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ว่า จุดประสงค์ในครั้งนี้เกิดจาก ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน คือ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่ได้เล็งเห็นว่า “สุขภาพ” เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพัฒนา และแก้ไขปัญหา โดยนำนวัตกรรมที่เป็นเครื่องมือและทักษะสำคัญเข้ามาช่วย ให้ตอบสนองความต้องการและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง


“ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มุ่งเน้นการทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ โดยภารกิจหลักของเราคือ การสร้างเสริมให้คนมีสุขภาพที่ดี อีกทั้ง สสส. ยังมุ่งเน้นทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนไทยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น และหนึ่งในนโยบายสำคัญ คือ แนวคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และการมองหากลุ่มคนใหม่ ๆ เพื่อมาเป็นแรงขับเคลื่อนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในยุคปัจจุบันนี้ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านนโยบาย สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ การสร้างทักษะและพฤติกรรมส่วนบุคคลให้มีสุขภาพดี ครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญา เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เห็นผลต่างไปจากเดิม”

ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า เทคโนโลยี การแข่งขัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่ง “สุขภาพ” ก็เช่นเดียวกัน เหตุนี้เองจึงทำให้การแก้ไขปัญหาสุขภาพมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาสุขภาพมีความท้าทายมากขึ้น ทำให้ต้องมองหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้ก้าวทันและรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งเรามองว่า “นวัตกรรม” เป็นเครื่องมือและทักษะสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทั้งที่ยังแก้ไขไม่ได้ รวมไปถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งนวัตกรรมยังเป็นทักษะความรู้ที่สำคัญที่จำเป็นต่อผู้ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพด้วย”

“ในบันทึกการตกลงครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้เห็นพื้นที่ที่จะร่วมงานกันหลายอย่างมาก โดยทาง สสส. มองว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นองค์กรที่ดำเนินงานด้านเสริมสร้างนวัตกรรมประเทศ เป็นผู้สร้างระบบนิเวศที่ทำให้เกิดนวัตกรรม นวัตกรใหม่ ๆ ในขณะที่ทาง สสส.ก็ได้มุ่งสร้างสุขภาพที่ต้นน้ำที่หมายถึงวิถีชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหล่านี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อเอื้อให้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และการร่วมมือกันในวันนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนานวัตกรรม รวมไปถึงเพาะบ่มนวัตกร และทักษะการเรียนรู้ใหม่ ๆ เพื่อสุขภาวะที่เป็นรูปธรรม และสามารถขยายผลสู่วงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนคนไทยต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว


หากพูดถึงเรื่อง “นวัตกรรม” แล้วนั้น ต้องบอกว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทาง สสส. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายมากมาย ริเริ่ม คิดค้น และสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ และนำมาประยุกต์ใช้จริงเพื่อให้เกิดประโยชน์แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น นวัตกรรมตัวช่วยเลิกสูบบุหรี่ ได้แก่ รองเท้านวดไฟฟ้า ยาเลิกบุหรี่ “ไซทิซีน” สารสกัดจากสมุนไพร “เมล็ดจามจุรีสีทอง” นวัตกรรมด้านอาหาร เช่น ช้อนปรุงลด เครื่องวัดความเค็ม นวัตกรรมส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เช่น โต๊ะประชุมยืน ก้านตาลยืดเส้น และนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร เช่น Happinometer เครื่องมือวัดความสุขด้วยตนเอง ทั้งนี้ยังรวมไปถึง การส่งเสริมการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนให้เป็น “นวัตกรสร้างเสริมสุขภาพ” ผ่านการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ หรือ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation ที่จะสามารถต่อยอดพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้ต่อไป

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้กล่าวถึง การลงนามความร่วมมือกับทาง สสส. ครั้งนี้ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งสองหน่วยงานร่วมมือกัน เพื่อส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการ แก้ปัญหาสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทยอย่างเข้มแข็งเป็นรูปธรรม และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง


“สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือNIA เป็นผู้ส่งเสริมให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สร้างนวัตกรรมNIA ในฐานะหน่วยงานหลักในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมของประเทศจึงให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหาสังคมภายใต้การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อสังคม

“โดยโจทย์ที่ทางNIA และ สสส. เห็นร่วมกันคือการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ เปลี่ยนแปลงของโลก และนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมสังคม นวัตกรรมทางเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมที่เปลี่ยนวิธีคิด การดำเนินชีวิตของคนร่วมกัน เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น

“เพราะสุขภาวะถือเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ปัญหาสุขภาวะหลายด้านมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องอาศัยแนวคิดและเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการรับมือ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อการรับมือประเด็นด้านสุขภาวะ โดยประเด็นด้านสุขภาวะเป็นอีกหนึ่งโอกาสของนวัตกรรม”

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนสามารถช่วยกันหาวิธีใหม่ๆ และหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเดิม ๆ ได้ และทุกคนสามารถเป็นนวัตกรได้

“ก่อนหน้านี้เราอยู่ในยุคที่ฝากสุขภาพไว้กับผู้เชี่ยวชาญ หมอ โรงพยาบาล ยารักษาโรคต่าง ๆ มาเนิ่นนาน แต่ในความเป็นจริงแล้วสุขภาพในยุคปัจจุบันต่อไปจนถึงในอนาคต  โรคภัยที่เราเป็นกันอยู่ที่คนส่วนใหญ่เสียชีวิตเป็นอันดับต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น
โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน ฯลฯ  อยู่ที่วิถีชีวิตและพฤติกรรมรอบตัวเราทั้งนั้น ฉะนั้นทุกคนต้องมาร่วมเป็นเจ้าของสุขภาพ  สิ่งที่ สสส. อยากเชิญชวนก็คือชวนมาสร้างสุขภาพด้วยกัน  ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของตัวเราเอง ของครอบครัว ของชุมชน ของสังคม หรือของประเทศอยู่ในมือของเราทุกคน มาช่วยกันหาวิธีใหม่ ๆ หาหนทางใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาเดิม ๆ ที่เรายังแก้ไม่ตก และส่วนนี้เองผมคิดว่าทุกคนจะเป็นนวัตกรได้

“โดยการทำงานแรกระหว่าง สสส. และNIA ที่จะเกิดขึ้นในภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ คือPrime Minister Award สำหรับนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เป็นรางวัลของนายกรัฐมนตรี ที่จะให้รางวัลกับงานนวัตกรรมชิ้นเด่นของนักเรียนนักศึกษา ภาคีสร้างเสริมสุขภาพ และสตาร์ทอัพกลุ่มต่าง ๆ ที่จะเป็นงานรูปธรรมชิ้นแรก  ส่วนอนาคตในส่วนงานอื่น ๆ จะทยอยตามมาอีกเรื่อย ๆ ครับ” ดร. สุปรีดา กล่าว


ด้าน ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ได้กล่าวเสริมอีกว่า นวัตกรรมคือการที่เราสร้างแพตฟอร์มการทำงานร่วมกัน การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพเชิงพื้นที่ในการรับมือประเด็นสุขภาวะ หากทำได้ก็จะเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้กับประเทศไทย

“ทาง NIA จะเป็นผู้เข้ามาส่งเสริม สนับสนุนการทำนวัตกรรมซึ่งจะมีผลโดยตรงในการปรับวิธีคิด การดำเนินชีวิต ซึ่งจะเข้ากับยุคสมัยให้มากขึ้น โดยจะสอดแทรกในประเด็นที่ทาง สสส. ให้ความสนใจ ทั้งสองหน่วยงานต่างมีภาคีเครือข่ายของตนเอง ซึ่งเราจะนำเครือข่ายให้กลายมาเป็นนวัตกรรมสังคม นวัตกรรมเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมที่จะเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการดำเนินชีวิตของคนร่วมกัน”

“โดย NIA คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพเชิงพื้นที่ในการรับมือประเด็นสุขภาวะ ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำคัญต่อทั้งคุณภาพชีวิต ความสามารถในการแข่งขัน และความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทย” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้กรอบและแนวทางการดำเนินงานมีทั้งหมด 3 ประเด็น ได้แก่

1) การสร้างความร่วมมือเชิงพื้นที่ด้วยการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะที่ตอบสนองความต้องการและแก้ปัญหาสุขภาวะในพื้นที่ เพื่อไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์และเป็นต้นแบบในการต่อยอดขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่น

2) การพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมและแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่เครือข่ายองค์กรภาครัฐ เอกชน สังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไป ผ่านหลักสูตรและแพลตฟอร์มเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศึกษาดูงาน ให้คำปรึกษาแนะนำสำหรับต่อยอดไปสู่การปฏิบัติงานจริง

และ 3) การสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ และส่งเสริมจุดจัดการด้านนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และต่อยอดขยายผลในพื้นที่ ผ่านเครือข่ายของทั้งสองหน่วยงาน




กำลังโหลดความคิดเห็น