ปลัด สธ.เผยทั่วโลกตายจาก "เชื้อดื้อยา" ถึง 1.27 ล้านคน เป็นปัญหาระดับโลกและไทย เผยเดินหน้าใช้ยาสมเหตุสมผล 5-6 ปี สถานการณ์ดีขึ้นประชานตื่นตัว ระมัดระวังใช้ยามากขึ้น ย้ำอย่าซื้อยากินเอง ให้กินยาตามแพทย์สั่งให้ครบโดสและเวลา ส่วนแพทย์จ่ายยาให้พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ช่วยกันป้องกันเชื้อดื้อยา จนไม่มียาใหม่รักษา
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดประชุมระดับชาติเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ครั้งที่ 3 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเราพัฒนายาปฏิชีวนะไม่ทันกับเชื้อ และมีการใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียพัฒนาตัวขึ้นมาทำให้ดื้อต่อยาและเพิ่มโอกาสการเสียชีวิต จากเดิมที่เคยใช้ยาตัวนี้ได้ก้ใช้ต่อไม่ได้ เพราะเชื้อดื้อต่อยาแล้ว และเมื่อไม่ค่อยมียาปฏิชีวนะใหม่เข้ามาก็ทำให้คนจ็บป่วยไม่สามารถรักษาได้ โดยข้อมูลล่าสุดทั่วโลกปีที่แลวมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากถึง 1.27 ล้านคน ส่วนประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยามาประมาณ 6-7 ปีแล้ว โดยทำยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังต้องสร้างการเข้าถึงประชาชนในรูปแบบใหม่ One Health หรือสุขภาพหนึ่งเดียว ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ซึ่งเมื่อก่อนทางการแพทย์ทำเรื่องสุขภาพฝ่ายเดียว
"เรื่องเชื้อดื้อยามีความซับซ้อน มีหลายภาคส่วนรวมถึงประชาชนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ใช้ยาต้องกินยาให้ครบโดส ได้ระยะเวลาที่กำหนด คนจ่ายยาต้องจ่ายให้พอดี ไม่จ่ายมากเกินไปจนเกินจำเป็น หรือจ่ายน้อยเกินไปที่ทำให้เชื้อดื้อยา รวมถึงยาสัตว์ก็เช่นกัน ถ้าดื้อยาก็มีผลต่อการใช้ยาในคนเช่นกัน ก็ต้องบูรณาการ วันนี้คนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ 30 หนว่ยงานก็เข้ามาร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นโอกาสที่ดีที่จะแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และเราสิ้นสุดแผนเชื้อดื้อยา 2565 ด้วย เมื่อประชุมเสร็จแล้วก็จะนำไปจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปีเพิ่มเติม โดยปรับตามต้นทุนที่เรามี มีช่องว่างที่ต้องแก้ไขมากแค่ไหน เพื่อวางแผนใช้ในการปรับทิศดูแลเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญและมอบนโยบายตลอด เพราะเป็นผู้นำกลุ่ม G7 และไปรับปฏิญญามา" นพ.เกียรติภูมิกล่าว
นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องลดปัญหาเชื้อดื้อยา แนวโน้มสถานการณ์ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ ขณะนี้ประชาชนก็ตื่นตัว เราพยายามไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น ก็อาจหันมาใช้สมุนไพรบ้างที่รักษาโรคได้เช่นเดียวกัน ซึ่งตนเข้าใจว่าความระมัดระวังในการใช้ยาปฏิชีวนะของประชาชนมีความระมัดระวังมากขึ้นและให้ความร่วมมือดีขึ้น รวมถึงยังต้องให้ความรู้เรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผลต่อเนื่อง โดยไม่ควรไปซื้อปฏิชีวนะมารับประทานเอง ต้องใช้อยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรหากไปซื้อยาเอง แต่ถ้าเราพบแพทย์และกินยาตามที่แพทย์สั่ง ต้องได้ขนาดและระยะเวลาที่เหมาะสม จะทำให้รักษาโรคได้และไม่เกิดการดื้อยา ประชาชนจึงสำคัญมาก ต้องช่วยกันบอกต่อว่าอย่าไปซื้อยากินเองโดยไม่จำเป็น
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อ.ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมาคมและองค์กรวิชาชีพ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำร่างแผนปฏิบัติการแห่งชาติด้านการดื้อยาต้านจุลชีพ พ.ศ. 2566-2570 เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้