xs
xsm
sm
md
lg

มช. พร้อมเดินเครื่องแผนพัฒนา ฯ ระยะที่ 13 สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, เชียงใหม่  เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประกาศความพร้อมในการดำเนินงาน แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม ภายในปี 2570 หลังบรรลุความสำเร็จครบทุกเป้าหมายจากแผน ฯ ระยะที่ 12 ภายในปี 2565

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2565) กำหนดวิสัยทัศน์ คือ "มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยนำแนวทางเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) เป็นแนวทางการบริหารงานให้เกิดคุณภาพ และมุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจหลัก และยุทธศาสตร์สนับสนุนได้แก่ ยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน ประกอบด้วย นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ล้านนาสร้างสรรค์ และการดำเนินการยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ ได้แก่ การจัดการศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง การวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและนวัตกรรม และบริการวิชาการทางวิชาการแก่สังคม นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์สนับสนุน ด้านการแสวงหารายได้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการเชิงบูรณาการเพื่อสนับสนุนให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เชิงรุก และยุทธศาสตร์ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย
 


ผลการดำเนินงานตามแผนฯ ระยะที่ 12 ทำให้มหาวิทยาลัยบรรลุความสำเร็จทั้ง 3 เป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ภายในปี 2565 คือ
1. ได้รับการจัดอันดับของ Time Higher Education Impact Rankings 2022 อยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก
2. ผลการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีผลการประเมิน Social Return On Investment (SROI) คิดเป็นมูลค่า 16,500 ล้านบาท
3. มหาวิทยาลัยได้รับรางวัล "การบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2563 Thailand Quality Class: TQC 2020" จากสำนักงาน

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม”
ขณะที่ผลลัพธ์จากการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุกทั้ง 3 ด้าน นำไปสู่ความสำเร็จของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในด้านต่าง ๆ ได้แก่
ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและต้นแบบระบบผลิตก๊าซมีเทนอัด
ด้านอาหาร สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ มีการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการบริการวิชาการและการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ในด้านอาหาร

ด้านล้านนาสร้างสรรค์ ได้ดำเนินการผ่านการประยุกต์รวมกันระหว่างองค์ความรู้ท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมล้านนาความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน รวมไปถึงการบูรณาการเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นได้

ด้านการจัดการศึกษา ในแผนพัฒนาการศึกษาฯ ฉบับที่ 12 ฉบับปรับปรุง ได้มุ่งเน้นการดำเนินผลักดันในด้านการจัดศึกษาให้กับผู้เรียนทุกช่วงวัย โดยได้จัดตั้งวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต (LE) เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับผู้เรียนทุกช่วงวัยที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ทั้งการ Upskill และ Reskill โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มีจำนวนหลักสูตรระยะสั้นในรูปแบบ On-site/ Online/ Webinar มากกว่า 400 หลักสูตร นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ (TLIC) เพื่อเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอน ให้มีความเหมาะสม และตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนได้อย่างเต็มที่ และได้เตรียมพัฒนานักศึกษาเข้าสู่ Thailand 4.0 เป็นการเตรียมนักศึกษาให้มีทักษะทางด้านดิจิทัล ดำเนินการโดยความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ในการพัฒนากระบวนวิชาเพื่อให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ทุกคนได้เลือกเรียนรู้อย่างน้อย 1 กระบวนวิชาจากคณะใดคณะหนึ่ง เพื่อให้นักศึกษาก้าวทันต่อเทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบัน

ด้านการวิจัย การจัดการนวัตกรรม มหาวิทยาลัยได้สร้างพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนางานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์จริง ตั้งแต่ระดับต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ในรูปแบบ CMU BCG Platform สำหรับการบูรณาการองค์ความรู้ของทุกส่วนงานในมหาวิทยาลัย ทั้งกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกลุ่มมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์
ด้านบริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม มหาวิทยาลัยได้ส่งเสริมการบริการวิชาการจากองค์ความรู้แ ละศักยภาพของคณะ/ส่วนงานต่างๆ โดยได้จัดตั้ง “หน่วยสนับสนุนวิชาการรับใช้สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU Societal Engagement)”ขึ้น เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการและชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน และผลักดันให้เกิดงานวิชาการรับใช้สังคมอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ด้านบริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นการบริหารจัดการตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และพัฒนาระบบงาน รวมทั้งพัฒนาระบบการบริหารและระบบสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในทุกด้าน อีกทั้งยังมุ่งเน้นการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลสมบูรณ์แบบผ่านการสร้างคู่ความร่วมมือที่มีชื่อเสียง เช่น AIS, Huawei และสำนักงานคณะกรรมกรกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการพัฒนาระบบข้อมูลและการวิจัยเป็น Business Intelligence (BI) รวมถึงพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพเป็น CMU Smart Campus


ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ตอบโจทย์ความต้องการและเป็นที่พึ่งอันดับหนึ่งในใจของสังคม มุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกด้วยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและ Digital Transformation โดยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” โดยกำหนดเป้าหมายของวิสัยทัศน์ในปี พ.ศ. 2570 ไว้ 3 ข้อ คือ

1. ผลการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 60,000 ล้านบาท ที่แสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคม การนำงานวิจัยและองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์จริง
2. ได้รับการจัดอันดับ Time Higher Education University Impact Ranking หรือ THE UIR ใน 50 อันดับแรกของโลก โดยเป็นการจัดอันดับที่นำเอาแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติมาประยุกต์ใช้ในการจัดอันดับการดำเนินการ และความมีส่วนร่วมในเป้าหมายด้านต่าง ๆ ซึ่งมีความสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการที่มีความรับผิดชอบต่อประเด็นสำคัญของสังคมโลก ซึ่งปัจจุบันเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 12 มหาวิทยาลัยถูกจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก
3. ได้รับรางวัล TQC+ (Innovation) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่มีคุณภาพการดำเนินการที่เป็นเลิศ ด้านนวัตกรรม

โดยแผนพัฒนา ฯ ระยะที่ 13 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลัก 6 ด้านที่มหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ Biopolis Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพMedicopolis Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ Creative Lanna Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านล้านนาสร้างสรรค์ Educational Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการจัดการศึกษา มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพทั้งในระดับปริญญา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน และผู้ใช้งานบัณฑิต Research and Innovation Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม CMU Excellence Management Platform มุ่งเน้นในการยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการดำเนินการในระบบสนับสนุนต่างๆ ของมหาวิทยาลัย สู่การเป็น Agile and Resilient Organization

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 มหาวิทยาลัยยังมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” โดยนำ Digital Transformation มาสนับสนุนการดำเนินงาน เพิ่มขีดความสามารถใหม่ให้องค์กร ที่มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นพัฒนา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่รากฐาน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน การศึกษา ให้เท่าทันโลกอยู่เสมอซึ่งปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางพัฒนาระบบดิจิทัลในการดำเนินการใน 5 ด้าน คือ Organized and Ready Digital Infrastructure ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Hardware) ระบบเครือข่าย (Networks) ระบบปฏิบัติงานดิจิทัล (Software) ในมหาวิทยาลัย Integrated Digital Operation and Administrations: SMART OFFICE and SMART CAMPUS เพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน ปรับปรุงกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล Digital Platforms for Learning and Human Development พัฒนาการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยีและแพล็ตฟอร์มดิจิทัล Digital platforms for Collaboration and Wisdom ส่งเสริมการบูรณาการการข้ามส่วนงาน เพิ่มขีดความสามารถของการทำงานวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรม และ Digitalized mindset and Digital Ready Culture ส่งเสริมบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบที่เกี่ยวข้อง
“แนวทางทั้ง 5 ประการดังกล่าว ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศ ช่วยเสริมความพร้อมทั้งเรื่องเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล อาทิ การใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารที่เป็นกระดาษ การจ่ายค่าเทอม หรือเงินเดือนผ่านทางออนไลน์ ฯลฯ โดยสิ่งสำคัญคือการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมต่อการดำเนินงาน โดยที่ยังอยู่ภายใต้กฎอยู่ในเกณฑ์ของกฎหมาย”

 


นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาขีดความสามารถของทุกส่วนงานในด้านการเรียนการสอนให้สามารถจัดการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลในรูปแบบออนไลน์ และการบูรณาการระหว่างออนไลน์และออนไซต์ (Hybrid of online and on-site) โดยจัดให้มีการทดลองใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งเสริมให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Virtual Reality, Augmented Reality, Mixed Reality, Digital Twins, และ Metaverse เพื่อเกิดการเรียนรู้ที่ดีของผู้เรียน (User interface and experiences) ช่วยกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการองค์ความรู้ พัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การเรียนการสอนที่ดี มุ่งผลลัพธ์ให้ผลสัมฤทธิ์ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนพันธกิจหลัก เพื่อผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ผสานกิจกรรมทั้งเทคโนโลยีโลกอนาคตกับโลกปัจจุบันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะในโลกการศึกษาและการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นในการพัฒนา

“การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นการกำหนดมาเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยต้องการมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจในทุกภาคส่วน โดยมองถึงประโยชน์ของสังคมโลกเป็นสำคัญ เนื่องจากเรามองว่าเราต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคม ชุมชน เศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับโลกเป็นอันดับแรก นี่คือหัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุป


กำลังโหลดความคิดเห็น