การรอคอยที่แสนยาวนานของนักศึกษาไทยที่เรียนในจีนที่จะได้กลับจีนกำลังเป็นจริง !
ลูกชายดิฉัน 2 คนเป็นนักศึกษาระดับชั้นปริญญาตรีกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ประสบปัญหาสถานการณ์โควิด-19 กว่า 2 ปี เหมือนกับเด็กไทยจำนวนมาก ก็เฝ้ารอคอยการได้กลับไปเรียนที่จีนเช่นกัน รอจนกระทั่งลูกชายคนโตเรียนจบออนไลน์ ส่วนลูกชายคนเล็กยังมีโอกาสได้กลับไปเรียนต่อที่จีน
ส่วนหนึ่งก็เพราะสาเหตุที่ทางการจีนใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” เพราะต้องการควบคุมสถานการณ์ให้ได้ ทำให้นักศึกษาไทยต้องอดทนรอคอย จนถึงขั้นต้องพยายามดิ้นรน โดยมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งรวมตัวกันเพื่อพยายามหาทางประสานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งจากทางการไทยและจีน เพื่อหาทางช่วยเหลือให้พวกเขาได้เดินทางกลับไปศึกษาต่อที่จีนให้ได้ จนเกิดเป็นสมาคมนักเรียนไทย-จีน
จนกระทั่งกลายเป็นความสำเร็จ เมื่อนักศึกษาไทยได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศจีนได้บ้างแล้ว มีการทะยอยกลับ แต่ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน และไม่ง่าย
เพราะทุกขั้นตอนมีความเข้มงวดชนิดที่แม้บางคนจะมีตั๋วเครื่องบินแล้ว ก็ไม่สามารถเดินทางได้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน หรือติดโควิดเสียก่อน
ขั้นตอนในเมืองไทยที่ว่าเข้มก็เหมือนกับการกักตัวดี ๆ นี่เอง ซึ่งเด็กที่พร้อมและต้องการกลับไปเรียนที่จีนต้องแจ้งความประสงค์เพื่อลงชื่อไว้ก่อน แล้วรอเวลาว่าจะได้รับอนุญาตเมื่อไหร่
และหลังจากเจ้าลูกชายคนเล็กได้รับอนุญาตแล้ว ก็เป็นขั้นตอนต้องได้รับความร่วมมือจากคนในครอบครัว ไม่เดินทางไปไหนมาไหนในสถานที่เสี่ยง หรือผู้คนพลุกพล่าน เพื่อไม่นำเชื้อโควิด-19 เข้ามาในบ้าน เรียกว่าตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ครอบครัวเราเคร่งครัดมาก ยิ่งใกล้วันยิ่งเก็บตัว มีการตรวจ ATK กันถี่มาก ส่วนลูกชายคนเล็กต้องตรวจ RT-PCR ถึง 3 ครั้ง และต้องลุ้นทุกครั้งว่าแต่ละครั้งจะได้ไปต่อไหม เพราะก็มีบางคนที่รู้ผลตรวจแล้วไม่ได้ไปต่อ นั่นหมายความว่าต้องเสียค่าตั๋วเครื่องบินและค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้
ขณะที่ดิฉันเขียนต้นฉบับก็ยังไม่รู้ว่าถึงเวลาวันเดินทางแล้ว ลูกชายคนเล็กจะได้เดินทางหรือเปล่า เพราะต้องรอผล RT-PCR เช้าวันเดินทาง ซึ่งถือเป็นการลุ้นครั้งสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่อง แล้วที่เท่ห์ไปกว่านั้น ทุกคนต้องใส่ชุด PPE ขึ้นเครื่องด้วย
และเมื่อได้ขึ้นเครื่องบินแล้วไม่ได้หมายความว่าจบนะคะ แค่เริ่มต้นเท่านั้น !
เพราะเด็กไทยทุกคนขึ้นเครื่องบินไปลงที่เมืองกว่างโจวเพื่อแยกกักตัว 14 วัน จากนั้นค่อยแยกตามมหาวิทยาลัยในแต่ละเมืองของตัวเอง เพื่อไปกักตัวต่อที่เมืองนั้น ๆ ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับมาตราการของแต่ละเมืองว่าจะต้องกักตัวอีกกี่วัน เรียกว่ากว่าจะได้เข้าหอในมหาวิทยาลัยของตัวเองก็ปาเข้าไปเกือบเดือนแล้ว
ทั้งหมดที่ว่ามานี่นักศึกษาต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่น้อยเลย เพราะทุกอย่างเป็นสถานการณ์พิเศษ ค่าใช้จ่ายก็เลยพิเศษไปด้วย
ลูกชายดิฉันเรียนอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ก่อนหน้านี้ ทางการจีนประกาศล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ เพราะเจอผู้ติดเชื้อ โควิด-19 รายใหม่หลายคนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ ทำให้ทางการจีนยอมไม่ได้ จึงเข้มงวดมากที่จะทำอย่างไรก็แล้วแต่ต้องให้มีผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด
จริงอยู่ว่าผลกระทบเชิงลบจากนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” นำมาซึ่งการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทาง จำกัดการใช้ชีวิตของผู้คน และก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทางการจีนจึงพยายามปรับใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ CDC ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน เผยแพร่บทความวิจัยผลกระทบต่อจีนหากไม่ใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ โดยเปรียบเทียบกับนโยบายใช้ชีวิตร่วมกับโควิด-19 ของอเมริกาและหลายประเทศ โดยเฉพาะในโลกตะวันตก มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า
“ถ้าจีนใช้นโยบายรับมือโควิด-19 เฉกเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวัน ตัวเลขต่ำที่สุดที่เป็นไปได้ที่จีนจะต้องเจออยู่ที่มากกว่า 6 แสนราย และจะเจอเคสผู้ป่วยหนักมากกว่า 2 หมื่นรายต่อวัน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่สอดรับกับความสามารถทางการแพทย์ที่จีนมี อย่างสัดส่วนเตียงผู้ป่วย ICU หรือผู้ป่วยขั้นวิกฤติในจีนอยู่ที่ 4.3 เตียง ต่อคนจีน 100,000 คน เท่านั้น ถ้าปล่อยให้มีการติดเชื้อเพิ่มขนาดนั้น ระบบการแพทย์ในจีนจะล้มเหลว”
เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ !
ดังนั้น ด้วยนโยบายและมาตราการเข้มงวดของทางการจีน การเปิดให้นักศึกษาไทยได้กลับเข้าประเทศครั้งนี้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ แต่ถือเป็นการให้เกียรติและแสดงตนเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดกับประเทศไทยมาก ทำให้นักศึกษาไทยต้องปฏิบัติตนให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวเองจากโรคทุกอย่าง เพราะรู้ดีว่าเมื่อมองจากอีกมุมหนึ่งถือเป็นการเดิมพันกับนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของเขาไม่น้อยเลย เพราะถึงตอนนี้ยังมีนักศึกษาจากชาติอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้กลับเข้าไปในจีน
เดิมพันครั้งนี้จึงสำคัญมากว่าทางการจีนจะเดินหน้าอย่างไรกับก้บนโยบายเรื่องนักศึกษาต่างชาติ รวมทั้งการเปิดประเทศในอนาคต
เชื่อว่านักศึกษาไทยในจีนที่เป็นกลุ่มนำร่องจะเป็นตัวแบบของการเริ่มต้นเปิดประเทศอีกครั้งในอนาคตอันใกล้