หมอเผยกลุ่มเสี่ยง "สำลัก" พร้อมแนะสัญญาณเตือนคนมีอาการสำลัก และวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างถูกต้อง ป้องกันอาการแทรกซ้อน หรือสำลักจนเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการสำลักเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคอหรือหลอดลม และกีดขวางช่องทางการหายใจ ทำให้ไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มักพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 ปี ซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น ชอบค้นคว้า ทดลองด้วยตนเอง มักเอาสิ่งแปลกปลอมใส่ไปในช่องต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะช่องทางเดินหายใจ ได้แก่ รูจมูกและปาก ประกอบกับฟันกรามที่ยังขึ้นไม่ครบ ทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารชิ้นใหญ่ให้ละเอียด จึงอาจสำลักระหว่างกินอาหารและวิ่งเล่นไปด้วย ส่วนการสำลักในวัยผู้ใหญ่มักเกิดจากเศษอาหาร ดื่มน้ำเร็วเกินไป หรือทำกิจกรรมหลายๆ อย่างขณะกินอาหาร เช่น พูด หัวเราะ เป็นต้น บางครั้งฟันปลอมที่ยึดติดไม่แน่นพอ อาจเลื่อนหลุดเข้าไปในช่องคอหรือหลอดลม และกีดขวางช่องทางหายใจ หรือทางเดินอาหารโดยไม่ได้ตั้งใจ
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า อาการของคนสำลักที่สังเกตได้ทั่วไป คือ มักใช้มือจับที่คอของตนเอง แต่หากผู้ที่สำลักไม่ได้ส่งสัญญาณดังกล่าว ให้สังเกต คือ หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการหายใจแรงและเสียงดังผิดปกติ , ไม่สามารถกลืนได้หรือใช้เวลานานกว่าปกติ , พูดคุยตอบสนองไม่ได้ , ไอแรงๆ ไม่ได้ , ผิวหนัง ริมฝีปาก และเล็บเริ่มเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ เนื่องจากขาดออกซิเจนและขาดสติ ไม่รู้สึกตัว ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสำลัก ได้แก่ เด็กเล็ก , ผู้สูงอายุ , ผู้ที่มีประวัติผ่าตัดบริเวณคอหอย เช่น ผ่าตัดโคนลิ้น ผ่าตัดมะเร็งคอหอย ผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียง , ผู้ที่มีความผิดปกติระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะกลืนลำบาก , ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณใบหน้าและลำคอ ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายแสง ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ , ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ปลอกประสาทอักเสบ บาดเจ็บไขสันหลัง ผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึก และผู้ที่มีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือการได้รับยาคลายเครียด เป็นต้น
"การป้องกันเด็กสำลักทำได้ด้วยการเลือกชนิดและขนาดของเล่นให้เหมาะสมแก่เด็กในวัยต่างๆ หั่นอาหารให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการกลืน ไม่ควรป้อนอาหารเด็กขณะที่กำลังวิ่งเล่น สำหรับผู้สูงอายุควรดูแลสุขภาพเหงือกและฟันให้ดี เลี่ยงอาหารที่ทำให้สำลักง่าย หากมีปัญหาการกลืนควรปรึกษาแพทย์เพื่อฝึกการกลืน และรีบรักษาเมื่อมีปัญหาเรื่องไอหรือเสมหะ นอกจากนี้ สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยการเคี้ยวอาหารให้ละเอียด และหลีกเลี่ยงการคุยหรือหัวเราะขณะรับประทานอาหาร" นพ.จินดากล่าว
พญ.สมจินต์ จินดาวิจักษณ์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก รพ.ราชวิถี กล่าวว่า วิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับเด็กเล็ก หากสังเกตเห็นว่าเด็กมีอาการแปลกไป คือ ดูเจ็บปวดและหายใจเสียงดัง ร้องไห้หรือไอไม่ได้ บางครั้งไม่สามารถส่งเสียงร้องหรือหายใจได้ อาจหมายความว่าเด็กกำลังมีอาการสำลัก สิ่งที่ต้องทำเมื่อเด็กสำลัก คือ 1.เด็กทุกกลุ่มอายุที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจไม่เต็มที่ ยังหายใจได้เอง พูดได้ แนะนำให้ไอแรงๆ เพื่อให้วัตถุแปลกปลอมหลุดออกมา 2.ในเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ให้จับเด็กนอนคว่ำหน้าขนานกับต้นขาและประคองหัวเด็กไว้ จากนั้นใช้สันมือตบเข้าไปแรงๆ 5 ครั้ง ระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง 3.ตรวจดูในปากว่ามีอะไรอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้รีบใช้ปลายนิ้วหยิบออก ไม่แนะนำให้ใช้นิ้วมือกวาดไปในลำคอเด็ก เนื่องจากอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งที่มีการอุดกั้นมากขึ้น 4.หากการช่วยเหลือด้วยการตบหลังยังไม่สามารถนำเอาสิ่งแปลกปลอมที่ขวางทางเดินหายใจออกได้ ให้ใช้วิธีกดที่หน้าอกของเด็ก ด้วยการจับให้เด็กนอนหงายหน้าขึ้นขนานกับต้นขา จากนั้นใช้นิ้ว 2 นิ้วกดลงไปตรงกลางใต้ราวนมของเด็ก 5 ครั้ง ตรวจดูภายในปากว่ามีอะไรหลุดออกมาหรือไม่ แล้วหยิบออกอย่างระมัดระวัง 5.หากช่วยเหลือด้วยวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล โดยระหว่างที่รอรถพยาบาลมาถึงนั้นให้ช่วยเหลือด้วยการตบหลังและกดหน้าอกสลับกัน จนกว่าสิ่งที่เข้าไปอุดตันทางเดินหายใจจะหลุดออกมาหรือรถพยาบาลมาถึง หากเด็กไม่หายใจให้เริ่มทำการกดหน้าอกหรือปั๊มหัวใจด้วยวิธีสำหรับเด็ก ซึ่งอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในคอหลุดออกมาได้
สำหรับวิธีการช่วยเหลือเบื้องต้นในเด็กโตที่มีอายุมากกว่า 1 ปี และผู้ใหญ่ เมื่อสังเกตเห็นคนที่มีอาการสำลักให้พยายามกระตุ้นให้ผู้สำลักไอเพื่อให้สิ่งที่เข้าไปอุดตันทางเดินหายใจหลุดออกมาด้วยตัวเอง หากผู้สำลักไม่สามารถพูดคุย ร้อง หรือไอด้วยตัวเองได้ สามารถให้ความช่วยเหลือด้วยวิธีการดังนี้ 1.แจ้งให้ผู้สำลักทราบว่าจะทำการช่วยเหลือ 2.ยืนซ้อนด้านหลังผู้สำลัก ประคองโน้มตัวไปด้านหน้า แล้วกดกระแทกที่ท้อง 5 ครั้ง โดยใช้แขนทั้ง 2 ข้าง โอบแนบกับผู้ที่สำลักเหนือสะดือ แต่ให้ต่ำกว่าระดับหน้าอก แล้วกำมือเป็นกำปั้น จากนั้นให้ดึงกระแทกกำปั้นเข้าหาตัวและขึ้นทางด้านบนอย่างเร็วและแรง ห้ามใช้วิธีการกระแทกที่ท้องกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ 3.หากยังมีอาการสำลักอยู่ให้รีบโทรเรียกรถพยาบาล ระหว่างที่รอรถพยาบาลให้กระแทกที่ท้องซ้ำจนกว่าสิ่งที่แปลกปลอมที่ติดอยู่จะหลุดออกมา หรือจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง กรณีที่ผู้ที่สำลักหมดสติไป ให้ตรวจดูว่ายังหายใจอยู่หรือไม่ หากไม่หายใจ ให้ประคองผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นราบและเริ่มทำการกดหน้าอกหรือปั๊มหัวใจ ซึ่งการปั๊มหัวใจนั้นอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ติดอยู่ในคอหลุดออกมาได้เช่นกัน ทั้งนี้ การสำลักอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น กรณีที่สำลักเพียงเล็กน้อยอาจเกิดการบาดเจ็บที่คอ หรืออาการระคายเคือง แต่หากสำลักวัตถุขนาดใหญ่ และเกิดการอุดกั้นหลอดลม อาจเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจได้