xs
xsm
sm
md
lg

เตือนดื่ม “น้ำเมา” มาก ทำน็อก-กดการหายใจ ย้ำไม่มีระดับที่ปลอดภัย พบอายุน้อยป่วยเบาหวาน-ความดันพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เตือน ดื่มน้ำเมามาก กดการทำงานสมอง ทำซึม น็อก กดการหายใจได้ ย้ำ ไม่มีระดับการดื่มที่ปลอดภัย ระยะยาวทำตับแข็ง มะเร็งตับ พบการดื่มทำให้ป่วยป่วยเบาหวาน ความดันสูงพุ่ง เจอในคนอายุน้อยมากขึ้น

จากกรณี น.ส.นงผณี มหาดไทย “จ๊ะ อาร์สยาม” นักร้องสาวชื่อดัง ไปร่วมแสดงคอนเสิร์ตที่ผับแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่ แล้วดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูตรพิเศษชื่อ “แสงสว่าง” และ “แสงสุดท้าย” จนทำให้หมดสติขณะกำลังร้องเพลง

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีข่าวดังกล่าว ว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ถ้าพูดถึงเรื่องผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีจำนวนมาก หากดื่มน้อยๆ ก็จะไปกระตุ้นพฤติกรรม กระบวนการคิด คึกคะนอง ให้เกิดความสนุกสนาน แต่หากดื่มมาก ดื่มนานๆ ไปจะเกิดการกดการทำงานของสมอง ซึม น็อก กดการหายใจ ควบคุมหรือระงับสติอารมณ์ไม่ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดื่มมาก หรือดื่มน้อย ในแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนดื่มเพียงเล็กน้อยก็ออกฤทธิ์มาก บางคนดื่มมากก็อาจจะไม่เป็นอะไรมาก แต่ทั้งหมดนั้นตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกก็ไม่มีปริมาณที่ปลอดภัย การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์ล้วนมีผลกระทบทั้งสิ้น

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาว ที่รู้จักกันดี คือ ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง มะเร็งตับตามมาได้ แต่กว่าจะเห็นอาจจะใช้เวลากว่า 30-40 ปี แต่ปัจจุบันเริ่มมีการศึกษา และมีข้อมูลมากขึ้นว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเมตาบอลิซึม ทำให้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันมากขึ้น ซึ่งคนจะไม่ค่อยทราบผลกระทบตรงนี้เท่าไร แต่ตอนนี้เราพบมากขึ้น และพบได้เร็วกว่าการเป็นตับแข็งและมะเร็งตับ โดยเริ่มพบเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในคนอายุน้อยประมาณ 30 ปีปลายๆ และ 40 ปีต้นๆ ซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

“ผลกระทบที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีอีกมาก ทั้งผลกระทบเรื่องสุขภาพของตัวเอง ยังมีเศรษฐกิจของครอบครัว เกิดความรุนแรงในครอบครัว สังคม ปัญหาการข่มขืน ปล้น ฆ่า ซึ่งมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น ปัญหาเมาแล้วขับ ต้องมีคนเสียชีวิต พิการ ครอบครัวสูญเสีย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้” นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น