xs
xsm
sm
md
lg

"เครียดลงกระเพาะ" โรคยอดฮิตที่เกิดขึ้นได้กับทุกวัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...นพ.สุขประเสริฐ จุฑากอเกียรติ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลเวชธานี


“ความเครียด” เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย และอาจนำมาสู่โรคทางกายต่าง ๆได้ หนึ่งในนั้นคือโรคกระเพาะหรือที่รู้จักกันว่า “เครียดลงกระเพาะ” ซึ่งเป็นโรคไม่รุนแรง แต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง

กลุ่มโรคกระเพาะในทางการแพทย์สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มอาการ ได้แก่

1.อาการปวดลิ้นปี่ เกร็งจุกเสียด

2.อาการปวดแสบท้องบริเวณลิ้นปี่

3.อาการท้องอืด แน่น หลังรับประทานอาหาร

4.อาการไม่อยากอาหาร อิ่มเร็ว

หากมีอาการเหล่านี้ แต่ตรวจแล้วพบว่าไม่มีสาเหตุทางกายภาพ หรือไม่มีแผลในกระเพาะอาหาร ทางการแพทย์จะเรียกว่า โรคกระเพาะอาหารแปรปรวน หรือ Functional Dyspepsia ซึ่งเป็นกลุ่มโรคกระเพาะที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน แต่มีปัจจัยกระตุ้นที่ชัดเจน

ความเครียด เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดท้องโรคกระเพาะได้ เนื่องจากสารสื่อประสาทในสมองมีผลต่อการทำงานของกระเพาะ ไม่ว่าจะเป็นทำงานช้าลง ส่งผลให้มีการกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะเยอะขึ้น จึงเป็นที่มีของคำว่า “เครียดลงกระเพาะ” ซึ่งสามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ เพราะในแต่ละวัยมีความเครียดตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น วัยเรียนอาจจะมีความเครียดมากในช่วงสอบ โดยเฉพาะการสอบเพื่อเลื่อนระดับชั้น หรือสอบเพื่อย้ายเข้าโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ในขณะที่วัยทำงาน อาจมีความเครียดจากความกดดันในหน้าที่การงาน

“เครียดลงกระเพาะ” ไม่ใช่โรคที่รุนแรง แต่เมื่อไหร่ที่มีอาการปวด อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งการดูแลตัวเองเบื้องต้นได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ออกกำลังกาย หรือทำงานอดิเรกที่ผ่อนคลาย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเครียด นอกจากนี้แนะนำให้ปรับเปลี่ยนอาหาร เพราะอาหารบางอย่างอาจไปกระตุ้นอาการปวดท้องกระเพาะได้ โดยเฉพาะประเภทอาหารเหล่านี้ได้แก่ ของมัน ของทอด อาหารปิ้งย่าง อาหารรสจัด และเครื่องดื่มคาเฟอีน ที่มักกระตุ้นให้การหลั่งกรดในกระเพาะเยอะขึ้น ทั้งนี้ ควรกระจายมื้ออาหารโดยการลดปริมาณอาหารต่อมื้อ และเพิ่มความถี่ในการรับประทานอาหารแทน

สำหรับการรักษาด้วยยา จะขึ้นอยู่กับว่ามีอาการปวดท้องกระเพาะแบบไหนตาม 4 กลุ่มอาการ หากเป็นกลุ่มอาการปวดจุกเสียด หรือปวดแสบท้องกระเพาะ สามารถรับประทานยาเคลือบกระเพาะ ลดกรด เช่น ยาธาตุน้ำขาวในการดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ หากเป็นกลุ่มอาการอืดแน่นท้องหลัง หรือรับประทานแล้วอิ่มง่าย อิ่มเร็ว แนะนำให้รับประทานยาที่ช่วยปรับการทำงานของกระเพาะ เช่น ยาขับลมช่วยย่อย หากรับประทานยาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 สัปดาห์ ควรมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับอาการที่เป็น

ความเครียดและความวิตกกังวล สามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร หากผู้ป่วยไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ด้วยตนเอง แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์ ส่วนผู้ที่มีอาการปวดท้อง จุกหรือเสียดท้องติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือมีอาการกรดไหลย้อนร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหาร เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H.Pylori ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคแผลในกระเพาะอาหาร


กำลังโหลดความคิดเห็น