xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามกินอาหารมีกัญชาเกินวันละ 2 เมนู ใส่ "ใบกัญชา" ได้ 1-2 ใบในการทำ ติดป้ายเตือนป้องกันกินแล้วแพ้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ย้ำใช้ "ใบกัญชา" 1-2 ใบ ทำอาหารต่อเมนู หนึ่งวันไม่ควรกินเกิน 2 เมนู เว้นสั่งมาแบ่งกันกินคนละเล็กน้อย อาจกินได้เพิ่มขึ้น ย้ำกินทีละน้อยป้องกันเกิดอาการแพ้ ร้านต้องติดป้ายเมนูไหนใส่กัญชามากน้อยเท่าไร

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์กรณีร้านอาหารใช้กัญชาประกอบอาหารแล้วผู้บริโภคมีอาการแพ้ ว่า คำแนะนำคือให้ใช้ใบกัญชาปรุงอาหารเพียง 2 -3 ใบ ถ้าไม่เกินกำหนดก็ไม่มีอาการแน่นอน แต่หากเอาน้ำมันสกัดที่ไม่รู้ว่ามีปริมาณ THC เกิน 0.2% หรือไม่ แล้วเทไปทั้งขวดก็จะเกิดอาการแน่นอน ดังนั้น เมื่อกินแล้วเกิดอาการแพ้ก็ต้องมีการตรวจสอบว่าใส่เกินกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ การใช้ที่นอกเหนือกฎหมายถือว่าผิดแน่นอน ต้องดำเนินคดี แต่หากใช้ใบมาวาง ใส่หม้อก๋วยเตี๋ยว 2-3 ใบก็ไม่เกิดเหตุการณ์นี้แน่นอน

“หากเราแพ้ก็ต้องไปดูว่าแพ้อะไร ในหม้อน้ำซุปมีส่วนผสมอื่นด้วยหรือไม่ แต่ถ้าเอาน้ำมันกัญชาไปใช้เกินปริมาณ ก็จะผิดกฎหมายยาเสพติด ถ้าเจ้าหน้าที่ อย.หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจพบมากกว่า 0.2% ก็ผิดกฎหมาย” นายอนุทินกล่าวและว่า นอกจากนี้ ผู้ปรุงอาหารจะต้องบอกว่ามีส่วนผสมของกัญชาอย่างไร ซึ่งกรมอนามัยออกประกาศว่าร้านอาหารต้องแจ้งว่าอาหารใดผสมกัญชา เพื่อให้ประชาชนรับทราบ ซึ่งทุกวันนี้หลายร้านเอาตรงนี้มาเป็นจุดขายด้วย

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยออกคำแนะนำการนำใบกัญชามาปรุงอาหาร ทั้งแบบปรุงสด ต้ม นึ่ง และทอด ว่า ใน 1 เมนูควรใช้ 1-2 ใบ โดยเราคำนวณปริมาณที่ควรได้รับว่า ไม่ควรกินอาหารและเครื่องดื่มผสมกัญชาเกิน 2 เมนูต่อวันกรณีที่กินจนหมด แต่หากเป็นกับข้าวหลายเมนู กินแต่ละเมนูอย่างละเล็กน้อยไม่ได้กินหมดทั้งจานหรือทั้งแก้ว ก็อาจจะกินมากกว่า 2 เมนูได้ แต่แนะนำให้สั่งเมนูที่ไม่มีกัญชาด้วย เพื่อให้รับประทานครบหมู่อาหาร และไม่ควรกินอาหารที่มีกัญชาก่อนขับขี่ยานพาหนะ ทำงานใช้เครื่องจักร หรืออยู่ในที่สูง

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ประกาศกรมอนามัยเรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 กำหนดให้ ร้านอาหารมีคำเตือนให้ผู้บริโภคทราบว่าอาหารมีกัญชาผสม ส่วนผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร ผู้เสิร์ฟ ต้องมีความรู้ เพื่อแนะนำและเตือนไม่ให้กินเกินกำหนด ซึ่งต้องขอให้ทางร้านเข้มในเรื่องเหล่านี้ด้วย ส่วนวิธีสังเกตอาการแพ้กัญชา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ไม่รู้สึกอะไร ซึ่งไม่น่ากังวล 2.กลุ่มที่มีความไวมาก อาการแพ้ หน้าแดง ผื่นขึ้น จนหายใจไม่ออก มีอาการเฉียบพลัน จึงเป็นที่มาว่าต้องออกคำเตือนห้ามกินอาหารผสมกัญชา และ 3.กลุ่มที่ต้องใช้เวลาแสดงอาการ หรือต้องกินมากๆ ถึงแสดงอาการ กลุ่มนี้ถึงต้องจำกัดปริมาณการกิน

"ร้านอาหารต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่ใส่กัญชาเยอะๆ เพื่อหวังเชิญชวนผู้บริโภค และต้องติดป้ายว่าเมนูไหนใส่กัญชามากน้อยอย่างไร ผู้บริโภคที่เริ่มกินอะไรที่ไม่คุ้น ก็จะไม่เริ่มจากปริมาณมากๆ ฉะนั้นก็ให้เริ่มชิมๆ แตะๆ เพราะบางคนไวมาก แค่ชิมก็มีอาการ ส่วนวิธีการแก้ไขอาการแพ้กัญชา ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและลักษณะของอาการ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ออกมาเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการจัดเก็บใบกัญชาที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ จัดเก็บเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา หรือเน่าเสีย โดยสถานประกอบการกิจการอาหาร ต้องควบคุม กำกับ และต้องจัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพและต้องตระหนักด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบของอาหาร ได้แก่ 1.จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา 2.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด 3.แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ ประกอบหรือปรุงอาหาร เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู

4.แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ 5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง หากรับประทานอาหารที่ใช้ใบกัญชาทราบ ด้วยการระบุข้อความ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม , สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน , หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที , ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) หรือสารแคนนาบิไดออล (CBD) ควรระวังในการรับประทาน , อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล และ 6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค


กำลังโหลดความคิดเห็น