เพราะ Covid-19 เป็นโรคในระบบทางเดินหายใจที่มีการแพร่กระจายทางอากาศ (Covid is airborne.) โดยเชื้อไวรัสสามารถออกมาจากลมหายใจของผู้ติดเชื้อและแพร่ไปกับละอองขนาดจิ๋วที่ลอยลมได้ เช่นเดียวกับ PM2.5 และคุณภาพของการระบายอากาศเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการแพร่เชื้อหากมีผู้ติดเชื้ออยู่ในสถานที่นั้นๆ โรงพยาบาลศิริราช จึงเห็นความสำคัญของการปรับปรุงระบบระบายอากาศในห้องเรียนเพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิด-19 และโรคในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ที่แพร่ทางอากาศ และช่วยลดปริมาณฝุ่น PM2.5 รวมถึงมลพิษทางอากาศที่เด็กนักเรียนจะสูดหายใจเข้าไปด้วยพร้อมๆ กัน
การปรับปรุงระบบระบายอากาศ โครงการ “ห้องเรียนอากาศสะอาด” ได้มีการดำเนินงานแล้วสำหรับโรงเรียนรอบๆ โรงพยาบาลศิริราช ได้แก่โรงเรียนวัดอมรินทราราม โรงเรียนสตรีวัดระฆัง และสำรวจห้องเรียนเปิดหน้าต่างของโรงเรียนโฆสิตสโมสรเสร็จทันก่อนการเปิดภาคเรียนพอดี นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงระบบระบายอากาศของห้องปฏิบัติธรรม วัดระฆังโฆสิตารามด้วยเช่นกัน
รศ. นพ. นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่จะควบคุมการแพร่กระจายของโรคระบาดได้อย่างยั่งยืนคือการลดการกระจายเชื้อในชุมชน โดยเฉพาะในอาคารสถานที่ปิด และควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับกลุ่มเด็กและเยาวชนเนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพและพัฒนาการได้มาก
“จากการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ในโครงการห้องเรียนอากาศสะอาด เชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศในห้องเรียนดีขึ้น ลดโอกาสกระจายเชื้อโรคทางระบบทางเดินหายใจ รวมถึง PM2.5 ซึ่งมีผลในระยะสั้นและระยะยาว โดยฉพาะกับเด็กในวัยเรียนที่จะทำให้สมรรถภาพปอดของเด็กเติบโตได้ไม่เต็มที่ และจะมีผลเสียระยะยาว”
“นี่เป็นโครงการทดลอง เราริเริ่มเท่าที่จะทำได้ ทำให้เห็นผลในขั้นต้นและเกิดเป็นต้นแบบให้ประยุกต์ใช้ในที่ที่มีระบบอากาศแบบปิด ซึ่งในไทยยังให้ความสนใจกันน้อย”
ผศ. ดร.เอกบดินทร์ วินิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) วิศวกรที่ปรึกษาโครงการ กล่าวถึงสภาพแวดล้อมทางอากาศบริเวณรอบๆ โรงพยาบาลศิริราช ว่า อยู่ในพื้นที่การจราจรค่อนข้างติดขัด มลพิษจากการจราจรค่อนข้างสูง แต่ในบางพื้นที่อาจจะมีลมพัดแรงเนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำทำให้เกิดการกระจายตัวของมลพิษได้ดีในช่วงที่มีลมพัด
การปรับปรุงระบบระบายอากาศในโครงการนี้ มีทั้งแบบติดตั้งเครื่องเติมอากาศ และการติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องปรับอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนอากาศสะอาด ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมจากลมหายใจออกของคนในห้อง และเจือจางเชื้อโรคหากมีคนติดเชื้ออยู่ในห้อง จึงลดโอกาสในการแพร่เชื้อ
ส่วนห้องปรับอากาศที่ไม่สามารถติดตั้งพัดลมดูดอากาศจะได้รับคำแนะนำให้เปิดหน้าต่างเพื่อช่วยระบายอากาศเป็นเวลา 3-5 นาทีทุกๆ 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ เครื่องเติมอากาศจะดึงอากาศจากภายนอกเข้าไปในห้องโดยผ่านไส้กรอง 2 ชั้นรวมถึงแผ่นกรองประสิทธิภาพสูง (HEPA filters) ซึ่งจะกรองฝุ่นและละอองลอยออกไปจากอากาศใหม่ที่จะเข้ามาในห้อง ผลของการเติมอากาศสะอาด ทำให้สัดส่วนละอองลอยที่อาจมีเชื้อไวรัสในห้องเรียน ถูกเจือจางลง อย่างไรก็ตาม นักเรียน ครู และบุคลากรยังได้รับคำแนะนำให้สวมใส่หน้ากากให้มิดชิดตลอดเวลา
นายธนะศักดิ์ พึ่งฮั้ว วิศวกรที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า “ระบบระบายอากาศที่ติดตั้งแล้วนี้อาจจะไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดแต่เป็นระบบที่เหมาะสมที่สุดกับแต่ละห้องเมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ลักษณะโครงสร้างอาคาร พื้นที่และกิจกรรมหรือลักษณะการใช้งานของห้อง รวมถึงสภาพของเครื่องปรับอากาศที่มีอยู่เดิม ว่าสามารถรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่” ทั้งนี้โครงการนี้มีจุดประสงค์ 3 ประเด็นหลักคือ 1. ลดการสะสมของละอองลอยที่อาจมีเชื้อไวรัส 2.เป็นห้องเรียนปลอดฝุ่น และ 3. ลดการสะสมของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะส่งผลให้ให้นักเรียนได้รับอากาศที่มีปริมาณอ๊อกซิเจนเหมือนอากาศตามธรรมชาติภายนอกห้องเรียน
โครงการนำร่องฯ ที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม ได้จัดการติดตั้งระบบเติมอากาศสะอาดในห้องเรียนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษาจำนวน 12 ห้อง มีนักเรียนห้องละประมาณ 40 คนครูและบุคลากรอื่นๆ 2-3 คน ทั้งนี้ ในการติดตั้งระบบ ได้ใช้เครื่องเติมอากาศสะอาดขนาดปริมาณลม 180 ลบ.ม./ชั่วโมง จำนวนห้องละ 2 เครื่อง และใช้งบประมาณ 415,200 บาท
ที่โรงเรียนสตรีวัดระฆังมีการติดตั้งระบบเติมอากาศสะอาดให้กับห้องเรียนระดับมัธยมจำนวน 12 ห้องเช่นกัน และมีการติดตั้งพัดลมดูดอากาศในห้องเรียนจำนวน 3 ห้อง ใช้งบประมาณ 435,000 บาท
ในการติดตั้งระบบอากาศสะอาด มีการกำหนดค่าการหมุนเวียนระบายอากาศ มีการวัดค่าความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะใช้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่แสดงถึงคุณภาพของการระบายอากาศเปรียบเทียบกับจำนวนคนที่รวมตัวกันอยู่ในสถานที่นั้นๆ นอกจากนี้ ในฤดูกาลที่มีฝุ่น PM2.5 ในอากาศมาก ก็จะมีการวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ด้วยเช่นกัน
ผศ. ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า “ทุกครั้งที่เราเติมอากาศเข้าไปในห้องปิด เรากำลังเติมอากาศใหม่ที่สะอาดกว่าจากภายนอก ทำให้เด็กได้รับออกซิเจนเข้าไปมากขึ้น ง่วงน้อยลง เนื่องจากในภาวะที่มีการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ (เกิดจากการหายใจออกของคนภายในห้องและมีการระบายอากาศที่ไม่ดี) เด็กจะง่วงนอน”
ทีมที่ปรึกษา กล่าวว่า มีการทดสอบที่โรงเรียนวัดอมรินทราราม วัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์สะสม หลังจากเด็กนักเรียน 40 คนเต้นเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ค่าคาร์บอนไดออกไซด์สะสมอยู่ที่ประมาณ 2,000 ส่วนในล้านส่วน ถือว่าลดความเสี่ยงได้เกินครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับห้องที่ไม่ได้ใช้ระบบเติมอากาศซึ่งค่าคาร์บอนไดออกไซด์สะสมจะมีตัวเลขเฉลี่ยสูงกว่า 6,000 ส่วนในล้านส่วน
นายธนะศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เนื่องจากเป็นงานแก้ไขปรับปรุงจากห้องเรียนที่มีอยู่เดิม หากจะปรับเพิ่มอัตราการระบายอากาศและลดค่าคาร์บอนไดออกไซด์สะสมให้น้อยกว่าที่เป็นอยู่ จะส่งผลให้เครื่องปรับอากาศทำงานหนัก แอร์ไม่เย็น และมีภาระค่าไฟเพิ่มขึ้น อีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มค่าการระบายอากาศคือการแง้มประตูหรือหน้าต่าง 1 เซนติเมตร ระหว่างเปิดแอร์และพัดลมดูดอากาศ
นางภารดี ผางสง่า ผอ. โรงเรียนวัดอมรินทราราม กล่าวว่า “ก่อนโควิด เราเคยมีโครงการเรื่องฝุ่น PM2.5 มีบริษัทเอกชนติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น เชื่อมกับแอป ถ้าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานจะมีการเปิดสปริงเกอร์ (เครื่องพ่นละอองน้ำ) รอบๆ โรงเรียน และเรารณรงค์ให้เด็กใส่หน้ากากตั้งแต่ก่อนมีโควิด แต่ช่วงโควิด ไม่มีการเรียนการสอนที่โรงเรียน โครงการ PM2.5 จึงพับไป” จนกระทั่งได้เร่งศึกษาและดำเนินการโครงการนี้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นางธารทอง ศิริรัตนาวดี ครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/5 กล่าวว่า “ในชั้นเรียนมีเด็ก 34 คน มีเด็กที่เป็นภูมิแพ้ 7 คน ปกติสัปดาห์แรกเด็กต้องมีอาการเวลาอยู่ในห้องปรับอากาศ ที่สังเกตเทอมนี้เด็กหายใจสะดวกขึ้น ส่วนตัวเองก็เป็นภูมิแพ้ ก็รู้สึกหายใจโล่งขึ้น”
นางสาวณัฐรดา หอมมณฑา ครูประจำชั้นอนุบาล 3/4 กล่าวว่า “เพิ่งเปิดเรียนได้ 2 สัปดาห์ อาจยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงมาก แต่รู้สึกได้ถึงความแตกต่างของอากาศที่วนในห้องแอร์กับอากาศที่ถ่ายเทได้ดี รู้สึกได้ว่ามีอากาศถ่ายเทตลอด”
นายเกียรติเกรียงไกร บุญทน รองผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวัดระฆัง กล่าวว่า ตามทฤษฎีและประสบการณ์ที่ผ่านมา หากมีนักเรียนที่ป่วยจามในห้องปรับอากาศ มีโอกาสสูงที่ครูและเพื่อนนักเรียนจะป่วยตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก การที่เติมอากาศใหม่เข้าไปเจือจางละอองเชื้อย่อมลดโอกาสในการแพร่เชื้อลงไปด้วย ซึ่งทางโรงเรียนจะติดตามสังเกตความเปลี่ยนแปลงของอัตราการป่วยของนักเรียนและบุคลากรที่มีการติดต่อระหว่างกัน รวมถึงรอประเมินสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งปกติจะประสบปัญหาฝุ่นฟุ้งมาก
“ความเปลี่ยนแปลงของอัตราการแพร่เชื้อโรคทางระบบทางเดินหายใจในขณะนี้เรายังมองไม่เห็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราเพิ่งเปิดเรียนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์มาไม่นาน ในช่วง 2 สัปดาห์แรกเรายังแบ่งกลุ่มให้นักเรียนสลับวันมาเรียน ตอนนี้เพิ่งเริ่มปรับจำนวนนักเรียนจากห้องละ 25 คนเป็น 45 คน แต่ในแง่ความรู้สึก รู้สึกได้ว่าอากาศในห้องเรียนฟูขึ้น ไม่อับ”
รศ. นพ. นิธิพัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการวัดผลเบื้องต้น นอกจากการวัดความพึงพอใจของผู้ที่ใช้ห้องเรียนแล้วจะมีการเก็บสถิติ ดูการลดลงของอัตราการป่วยและการขาดเรียนของเด็กนักเรียน โดยเปรียบเทียบภายใน 1 ภาคการศึกษา และอาจมีการติดตามวัดผลความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ในระยะยาวต่อไป
ผศ.ดร. เอกบดินทร์ กล่าวว่า ค่าฝุ่น PM2.5 ภายนอกอาคารอาจจะดูจากข้อมูลของ web Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษได้ ส่วนภายในห้องอาจจะต้องใช้ sensor วัด แต่ต้องพิจารณาตำแหน่งที่วางอุปกรณ์ในการวัด และการบันทึกสถิติเพื่อดูค่าเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง
ผศ.ดร. เอกบดินทร์ แนะนำว่า ในโรงเรียนต่างๆ อาจจะมีการตั้งกลุ่มนักเรียนเพื่อทำ sensor ตรวจวัดค่าฝุ่นแบบง่ายๆ และมีการสอบเทียบกับเครื่องมือมาตรฐาน ทำความเข้าใจในการตรวจวัดที่ถูกต้อง และทำหน้าที่คอยแจ้งเตือนคุณภาพอากาศให้แก่นักเรียนในโรงเรียน เช่นมีการใช้ธงสีตามค่า AQI และให้ความรู้นักเรียนคนอื่นๆ เช่น ถ้ามาโรงเรียน เจอธงสีแดง แสดงว่าอากาศไม่ดี ให้ไปที่ห้องเรียนเลย ไม่มีการเล่นที่สนามกับเพื่อนก่อนเข้าเรียน
อย่างไรก็ตาม รศ. นพ. นิธิพัฒน์ กล่าวย้ำว่า การใส่หน้ากากยังมีความสำคัญ
“สถานการณ์ตอนนี้ยังเสี่ยง ไม่ใช่ไม่เสี่ยง อยากให้เป็นวัฒนธรรม ให้ใส่หน้ากากในสถานที่ปิดอย่างห้องเรียน โรงพยาบาล ในรถขนส่งสาธารณะ และในห้องประชุม”
การพิจารณาถอดหน้ากากในที่สาธารณะต้องพิจารณาองค์ประกอบ ความพร้อมของคนที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่กลัวติดโควิดและไม่กลัวจะแพร่เชื้อให้คนอื่น ความพร้อมของช่วงเวลาเช่นอยู่ในที่อากาศเปิดกลางแจ้งและไม่มีคนหนาแน่น
“สถานที่ ต่อให้แข็งแรงดี ถ้าเข้าในพื้นที่ที่มีคนอยู่มากๆ มาจากไหนก็ไม่รู้ เช่นในรถไฟฟ้า ก็ยังต้องใส่หน้ากากต่อไป” รศ.นพ. นิธิพัฒน์ กล่าว
ข้อมูลประกอบเพิ่มเติม:
เครื่องวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ (CO2 Meter) ตัวช่วยบอกคุณภาพอากาศ สะท้อนความเสี่ยงติดเชื้อโควิด ##
เพราะ #โควิดแพร่ทางอากาศ ความเสี่ยงในการติดเชื้อจึงมากับการหายใจเอา "อากาศมือสอง" หรืออากาศที่คนอื่นหายใจออกมา เข้าสู่ร่างกายของเรา เพราะมันอาจมีไวรัสโควิดปะปนอยู่
หากในห้องหรือใกล้ๆ ตัวเรามีคนติดโควิด ย่อมมีความเสี่ยงอย่างมากที่เราจะติดเชื้อตามไปด้วย
แต่ถ้าในห้องที่เราอยู่มีการระบายอากาศที่ดี จะมีอากาศใหม่เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และไล่อากาศเก่าออกจากห้องไป พร้อมๆ กับเชื้อโควิดที่อาจปะปนอยู่ แล้วความเสี่ยงที่จะติดโควิดก็จะน้อยลง
เครื่องวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ เป็นตัวช่วยในการดูระดับการระบายอากาศในสถานที่ต่างๆ ว่ามีอากาศเก่าสะสมหรือมีอากาศใหม่เข้ามาหมุนเวียนมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ ณ สถานที่นั้นๆ
หากวัดแล้วได้ตัวเลขสูงเกิน 800 ppm ให้เรารีบเปิดหน้าต่าง ดูดอากาศใหม่เข้ามา ไล่อากาศเก่าออกไปจากห้องทันที ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดได้