xs
xsm
sm
md
lg

สสส.-จุฬาฯ เซ็น MOU ผสานความรอบรู้ด้านสุขภาพเข้ากับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลุยหลักสูตรเสริมทักษะเท่าทันสื่อ ก้าวทันโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสส. จับมือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาหลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร นำร่องหลักสูตรระยะสั้น (CUVIP) หัวข้อ “เท่าทันสื่อ ก้าวทันโลก” พร้อมลุยหลักสูตรเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านแพลตฟอร์ม CU Neuron

เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ระยะเวลา 3 ปี ระหว่าง นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy), ศ.ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ รองอธิการบดี ด้านวิชาการและการเชื่อมโยงกับสังคม และ ผศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึงการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวิสัยทัศน์ว่า ทุกคนในประเทศไทยจะต้องมีวิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดี และการเสริมสร้างศักยภาพ การสร้างเสริมสุขภาพ เป็นเรื่องที่ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสำคัญมาโดยตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
“เราอยากให้บุคคล องค์กรที่ร่วมงานกับเราสามารถส่งต่อเรื่องการพัฒนาศักยภาพให้กับบุคคลอื่น ๆ ต่อไปได้ โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ที่เราได้ร่วมทำงานกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรามีความคาดหวังว่า ยุทธศาสตร์การทำงานครั้งนี้ จะสามารถเสริมสร้างศักยภาพในการทำงาน เสริมสร้างวิถีชีวิตที่สามารถส่งเสริมในสายงาน เพื่อทำให้ทุกคนมีความสามารถที่มากขึ้นได้”

ด้าน รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) กล่าวถึ รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ง การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งนี้ว่า เป้าหมายหลักของสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (ThaiHealth Academy) คือ ‘คน’ เพราะ ‘คน’ มีส่วนร่วมทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นและน่าอยู่ขึ้นได้

 รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ
“เรามองว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถทำให้คนดูแลตัวเองได้ เข้าใจบริบททางสังคม ตามเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก และจะทำอย่างไรให้สามารถทำให้เกิดสังคมสุขภาวะ ซึ่งสิ่งนี้คือภารกิจหลักของสถาบันฯ เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานขับเคลื่อนสร้างการพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาศักยภาพบุคลากร นิสิตนักศึกษา และบุคลากรประชาชนทั่วไป ทำให้เกิดการขยายพื้นที่การเรียนรู้และส่งเสริมให้เกิดโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมวางแผนเปิดหลักสูตรการสร้างเสริมสุขภาพในมิติต่าง ๆ เช่น หลักสูตรเมืองน่าอยู่ หลักสูตรการสื่อสารเพื่อสังคม หลักสูตรการสื่อสารเพื่อสร้างองค์กรแห่งความสุข เป็นต้น

“ทั้งนี้ ในอนาคต สถาบันฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ผลิตหลักสูตรให้ตอบโจทย์กับสังคม ตอบโจทย์กับเทรนด์ ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดียิ่งขึ้น เกิดประโยชน์กับทั้งชุมชน สังคม ระดับประเทศ และต่อไปในระดับนานาชาติ รวมถึงสังคมจะมีสุขภาวะที่ดีขึ้นได้”

ผศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ด้าน ผศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง ทิศทางการร่วมมือกับสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีและการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชนว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากทั้งสององค์กรที่มีความตั้งใจให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการเพื่อยกระดับการพัฒนาหลักสูตร รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพคนทำงาน และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเป็นระบบ

โดยกรอบความร่วมมือระหว่าง Thaihealth Academy และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ในการพัฒนาหลักสูตร E –learning เรียกว่า “Life long Learning” ที่มี micro credit และ learning outcome ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต จะนำเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์ม ที่เรียกว่า CU Neuron เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีทั้งวิชาออนไลน์ของศูนย์การศึกษาทั่วไป คอร์สออนไลน์จาก Chula MOOC และคอร์สระยะสั้นของ CUVIP คอร์สพิเศษจาก PacRim และ SkillLane ให้ผู้เรียนได้เลือกเรียนตามความสะดวก พร้อมรับประกาศนียบัตร CU Neuron ยังรองรับการเก็บหน่วยกิต ผ่านธนาคารหน่วยกิต (credit bank) สำหรับหลายวิชาที่สามารถเทียบโอนใช้ได้เมื่อเลือกเรียนหลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยผู้สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ผ่านทางเว็บไซต์ https://cuneuron.chula.ac.th

“เราคาดว่าจะมีโครงการที่เป็นระบบและเป็นทางการมากยิ่งขึ้นเพื่อให้เส้นทางการเรียนรู้หรือการพัฒนาคนทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเรามองว่าการศึกษาเป็นเรื่องทรงพลังที่สุดที่เราสามารถนำมาใช้เปลี่ยนแปลงสังคมและโลกได้ ซึ่งถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกให้ดียิ่งขึ้นก็ต้องเริ่มต้นจากการวางแผน ออกแบบ และจัดการการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยการศึกษาไม่ใช่เพียงแต่วุฒิปริญญา แต่การศึกษาคือการได้รับการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกด้าน ทั้งเรื่องชีวิต การทำงาน และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การร่วมมือกันในครั้งนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่จะสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้ขยายผลในวงกว้างต่อไป” ผศ.ดร.สุวิธิดา จรุงเกียรติกุล กล่าว

ทั้งนี้ แนวทางที่จะเกิดขึ้นหลังจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ทางศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาฯ ได้จัดทำหลักสูตร CU Learning โดยเริ่มนำร่องจากกิจกรรมหลักสูตรเสริมการศึกษาทั่วไประยะสั้น (CUVIP) ใช้ชื่อว่า “CUVIP series” ในหัวข้อ “เท่าทันสื่อ ก้าวทันโลก” จะจัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 2 เดือน คือ เดือนมิถุนายนและเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2565 นี้


โดย เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ได้ให้ข้อมูลถึงหลักสูตรดังกล่าวว่า จะให้ความสำคัญกับด้านสารสนเทศและดิจิทัล (Media Information Digital Literacy) ดังนี้คือ

โปรแกรมเดือนมิถุนายน 1.เปิดสายตาอ่านสื่ออย่างรู้เท่าทัน MIDL 101 2.สูงวัยรู้ทันสื่อ 3.การใช้สื่อดิจิทัล กับการจัดการอารมณ์ 4.เรียนรู้รับมือคุกคามทางเพศออนไลน์ 5.พื้นฐานการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-Checking 101) การตรวจสอบข่าวลวงต่าง ๆ

โปรแกรมเดือนกรกฎาคม 1.ทำอย่างไรเมื่อซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปก 2.พลเมืองดิจิทัลกับการรับมือข้อมูลข่าวสาร 3.การนำเสนออัตลักษณ์ผ่านสื่อดิจิทัล 4.การเคารพสิทธิบนโลกออนไลน์ 5.พลิกมุมคิด สะกิดมุมมอง วิพากษ์สื่อด้วยสายตาพลเมือง (MIDL for Citizenship) 6.เอาตัวรอดเมื่อถูกกลั่นแกล้ง ระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bullying) 7.วิพากษ์สื่ออย่างรู้เท่าทัน สร้างสรรค์สังคมของทุกคน MIDL for Inclusive Society

“หลักสูตรต่าง ๆ นี้จะสามารถสร้างเสริมให้เป็นพลเมืองดิจิทัล และยังทำให้เรียนรู้ได้ว่าในยุคนี้เราจะมีวิถีชีวิตอย่างไร เราจะต้องคำนึงถึงสื่อ สารสนเทศหรือดิจิทัลอย่างไรบ้างที่จะไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น เคารพสิทธิของคนอื่น ไม่ใช้ไปเพื่อการกลั่นแกล้ง หรือแม้กระทั่งเราจะปกป้องตัวเองอย่างไรที่จะไม่โดนภัยคุกคามจากข่าวลวงต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการละเมิดหรือการคุมคามทางเพศจากสื่อ อีกทั้งเยาวชนจะสามารถมองเห็นถึงบทบาทของตัวเองที่จะนำเทคนิค เครื่องมือ หรือสื่อที่มีในมืออยู่แล้ว นำไปสร้างสรรค์ชุมชน สังคม และประเทศได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น” เข็มพร วิรุณราพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ นอกจากการร่วมมือกับทางศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ทาง สสส. ยังมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมอีกหลายหน่วยงาน และมีวิทยากรที่มีประสบการณ์ตรงมาแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาเชิงลึก อาทิ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (Thai Civic Education – TCE Foundation), Cofact ประเทศไทย, กลุ่มคนตัวดี, ชัวร์ก่อนแชร์, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ฯลฯ

ผู้สนใจสามารถติดตามโครงการรวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป โดยติดตามได้ทางเว็บไซต์ศูนย์การศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย https://gened.chula.ac.th และเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ Thaihealth Academy และศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ




กำลังโหลดความคิดเห็น