ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ แถลงจุดยืนกรณีปลดล็อก "กัญชาเสรี" หวั่นเด็กวัยรุ่นเข้าถึงง่าย ใช้นันทนาการ แนะห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าถึง เหตุมีผลกระทบต่อพัฒนาการสมอง สื่อสารโทษที่มีต่อเด็ก คุมโฆษณาไม่ให้เชิญชวนเด็กเข้าถึง ติดตามผลกระทบต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ลงนามเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ออกแถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น เกี่ยวกับการประกาศปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติดที่มีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีใจความโดยสรุปว่า การปลดล็อกดังกล่าวจะส่งผลให้ทุกคนในประเทศ รวมถึงกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กและวัยรุ่นสามารถเข้าถึงกัญชาและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชาซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดมาใช้เพื่อนันทนาการ
ในพืชกัญชามีสารแคนนาบินอยด์หลายชนิด แบ่งเป็น สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ ได้แก่ THC นำมาใช้ในทางการแพทย์ เช่น รักษาประคับประคองของมะเร็งระยะสุดท้าย และสารไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่สำคัญ ได้แก่ แคนนาบินอยด์ (cannabidiol-CBD) ซึ่งนำมาใช้รักษาโรคลมชักชนิดดื้อยากันชัก หากมีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารหรือแปรรูปต่างๆ หรือให้มีการใช้กัญชาอย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนจะมีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์เข้าไปจนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะผลกระทบต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท ภาวะฆ่าตัวตาย เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่นๆ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมกุมารประสาทวิทยา (ประเทศไทย) ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมพัฒนาการและพฤติกรรมเด็กแห่งประเทศไทย มีความห่วงใยและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น จึงมีคำแนะนำเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดจากกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น ดังนี้
1. เด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปีไม่ควรเข้าถึงและบริโภคกัญชา เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และกัญชามีสาร THC ที่มีผลต่อสมองเด็กในระยะยาว ดังนั้น เด็กจึงไม่ควรได้รับ THC ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นทาง
การแพทย์ เช่น ประกอบการรักษาประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โรคลมชักรักษายาก ซึ่งอยู่
ภายใต้การดูแลรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด
2. ประชาสัมพันธ์กับประชาชนเรื่องโทษของการใช้กัญชากับสมองเด็ก เพื่อให้เกิดความตระหนักต่อการเข้าถึงกัญชาในเด็กและวัยรุ่นเพื่อนันทนาการว่า กัญชาเป็นสารที่มีฤทธิ์เสพติด ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตในระยะเฉียบพลัน และอาจรุนแรงถึงกับชีวิตได้ รวมถึงมีผลกระทบในระยะยาวต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของสมองที่กำลังพัฒนา
3. ให้มีมาตรการควบคุมการผลิตและขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมาย/ข้อความเตือนอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ "ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำ
กว่า 20 ปีบริโภค"
4. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อไปในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้
5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการติดตามผลกระทบของกัญชาต่อเด็กอย่างต่อเนื่องและจริงจังหลังจากใช้
กฎหมายกัญชาเสรี
ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พร้อมเสมอที่จะให้ข้อมูลที่เที่ยงตรงและถูกต้องบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงให้ข้อแนะนำที่เหมาะสมแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของกัญชาต่อเด็กและวัยรุ่น