xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "แป้งหมี่" รักษาแผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก-ดับไฟไม่ได้ เสี่ยงติดเชื้อเพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอย้ำ "แป้งหมี่" รักษษแผลพุพอง ไฟไหม้ น้ำร้อนลวกไม่ได้ ใช้ดับไฟก็ไม่ได้ แต่อาจทำให้ติดไฟยิ่งขึ้น แนะวิธีปฐมพยาบาล หากถูกไหม้ลวกที่หน้าต้องรีบพบแพทย์ อย่าทายาหรือสารอื่น โดยเฉพาะยาสีฟันและน้ำปลา อาจระคายเคือง เสี่ยงติดเชื้อเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีโซเชียลมีเดียมีการแชร์เรื่องใช้ "แป้งหมี่" ทำให้ไม่มีรอยแผลพุพองหรือรอยแดงจากแผลน้ำร้อนลวก แผลไฟไหม้ ว่า ย้ำว่าแป้งหมี่ไม่สามารถรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกได้ แต่ยิ่งทำให้เสี่ยงแผลติดเชื้อ ทั้งนี้ เมื่อเกิดบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หลังทำความสะอาดแผล โดยล้างด้วยน้ำสะอาดที่อุณหภูมิปกติ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลช่วยลดการหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณบาดแผลได้ หลังจากนั้นซับด้วยผ้าแห้งสะอาด เมื่อเสร็จแล้วให้ใช้ความเย็นประคบบริเวณแผล จะบรรเทาอาการปวดได้ ส่วนที่แชร์ว่า แป้งหมี่ช่วยดับไฟได้ก็ไม่เป็นความจริง และอาจยิ่งก่อให้เกิดอันตรายมากขึ้น เพราะแป้งเป็นวัตถุติดไฟได้

ทั้งนี้ หากสังเกตว่าผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ควรรีบไปพบแพทย์ แต่ถ้าไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้าต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบริเวณใบหน้ามักจะเกิดอาการระคายเคืองจากยาที่ใช้ ห้ามใส่ยาใดๆ ก่อนถึงมือแพทย์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการตอบสนองต่อตัวยาไม่เหมือนกัน ต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากนี้ ไม่ควรใส่ตัวยาหรือสารใดๆ ทาลงบนบาดแผล ถ้าไม่แน่ใจในสรรพคุณของยาชนิดนั้น โดยเฉพาะ "ยาสีฟัน" หรือ "น้ำปลา" เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อบาดแผล เพิ่มโอกาสการเกิดบาดแผลติดเชื้อ และทำให้รักษาได้ยากขึ้น

"เนื่องจากแป้งหมี่คือแป้งข้าวสาลี เป็นวัตถุไวไฟ ไม่มีคุณสมบัตินำมารักษาพยาบาลได้ เหมาะสำหรับทำอาหารและขนมต่างๆ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ควรส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ หากเกิดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ควรมาทำการรักษาที่โรงพยาบาลเป็นการดีที่สุด" นพ.สมศักดิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น