xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" เสนอ 3 ข้อพัฒนาสุขภาพปฐมภูมิคนกรุง เมินอดีตปมข้ามพื้นที่ "ทวิดา" เผยเริ่ม Sandbox กรุงธนเหนือ-ใต้ใน 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" ยันพร้อมหนุน กทม.ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิเมืองกรุง เสนอ 3 แนวทางพัฒนา เผยที่ผ่านมาติดอุปสรรคเรื่องพื้นที่ ด้านรองผู้ว่าฯ กทม.รับสุขภาพปฐมภูมิ กทม.มีข้อจำกัด ต้องพิจารณาตัวเองแก้ไข ต้องเรียนรู้ร่วมมือ ไม่โทษกันเอง คาดเริ่ม Sandbox สุขภาพปฐมภูมิกรุงธนเหนือ-ใต้ก่อน ออกแบบเสร็จใน 1 เดือนเริ่มได้ใน 3 เดือน

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง น.ส.บุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน และ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กทม. แถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ (Big Rock 1) ภายใต้โปรแกรมการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม

นายอนุทินกล่าวว่า ตนรับทราบนโยบาย "สุขภาพดี" ของทีมผู้ว่าฯ กทม.ชุดใหม่ ที่ให้ความสำคัญระบบสุขภาพปฐมภูมิ จึงหวังว่า คน กทม.จะเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็ว หยุดความรุนแรงของโรคและโรคแทรกซ้อนได้ เมื่อสุขภาพดีก็พร้อมทำงาน ไม่สูญเสียรายได้ครอบครัวและเศรษฐกิจ ประหยัดงบค่ารักษาประเทศ นำไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพและมั่งคั่งด้านเศรษฐกิจ (Health for Wealth) แต่ที่ผ่านมามีอุปสรรคเล็กน้อยเรื่องขอบข่ายการให้บริการประชาชน

"เวลาโดนตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ สธ.โดนก่อน เพราะประชาชนไม่ได้แยกว่าตรงนี้เป็น กทม. ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ สธ. ซึ่งตามกฎหมายก็เป็นจริง แต่เรื่องสุขภาพชีวิตประชาชน สธ.คงไม่สามารถออกมายืนแล้วบอกว่าไม่เกี่ยว เป็นเรื่องของ กทม. ที่ สธ.ไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่ง ก็คงไม่มีใครเชื่อ เพราะต่อให้ไม่มีอำนาจขอบข่ายบริหารจัดการ แต่ สธ.ก็ต้องหาทุกวิถีทางสนับสนุนการให้บริการสุขภาพประชาชนและการแพทย์ดำเนินอย่างมีประสิทธิภาพ" นายอนุทินกล่าว


นายอนุทินกล่าวว่า ขอยืนยันว่า สธ.พร้อมสนับสนุนให้ความร่วมมือ ร่วมงานร่วมแรงร่วมใจ เพราะผู้รับประโยชน์คือประชาชนทุกคน ซึ่งไม่ได้หมายถึงคนที่มีภูมิลำเนาใน กทม.เท่านั้น เพราะ กทม.มีคนเข้ามาทำงานพักอาศัยมากมาย ซึ่งช่วงโควิด สธ.เห็นความแออัดยุ่งยากในการดูแลคนใน กทม.ที่มีจำนวนมาก สถานพยาบาลน้อย ก็สนับสนุนต่างๆ ทั้งศูนย์ฉีดวัคซีน เปิดจุดคัดกรอง จัดตั้ง รพ.สนามบุษราคัม แบ่งเบาภาระ ซึ่งความร่วมมือทำให้ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จากนี้การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิใน กทม.ให้เป็นรูปธรรม โดยมี กทม.เป็นแกนกลาง จะสามารถทำงานร่วม สธ.และภาคส่วนต่างๆ ให้เกิดระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพครบทุกพื้นที่ของประเทศ สธ.พร้อมสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิและการแพทย์เฉพาะทางใน กทม. คือ

1.ขยายศักยภาพ ขยาย รพ.เฉพาะทาง ใช้นวัตกรรมผ่านระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการพัฒนาดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home ward) เพิ่มการเข้าถึงสุขภาพและลดแออัดใน รพ. 2.พัฒนาอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) ดูแลสวัสดิการไม่มีแบ่งแยกกับ อสม. อย่างอบรมผู้ช่วยพยาบาลก็มีโควตาของ อสส. เพื่อให้มีความรอบรู้ด้านเทคนิคเพิ่มมากขึ้น เป็นหมอคนแรกของประชาชนตามนโยบาย 3 หมอ และ 3.นโยบายรักษาทุกที่ทุกเวลาไร้รอยต่อ จะต่อยอดร่วมกับ รพ.ในพื้นที่ กทม. หวังว่าประชากรทุกคนสามารถใช้สิทธิรักษาใน กทม.ได้สะดวก แม้มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใดก็ตามของประเทศ และมีระบบเชื่อมต่อข้อมูลสุขภาพข้ามสังกัดที่มีความปลอดภัย รักษาชั้นความลับและข้อมูลทางสุขภาพของผู้ป่วย

"ส่วนข้อเสนอปฏิรูปสุขภาพปฐมภูมิ กทม. ของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ในวันนี้ มีทั้งการปรับรูปแบบการบริการ การจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสม การกำกับดูแลให้ประชาชนทุกสิทธิเข้าถึงบริการได้ จึงมอบหมายหน่วยงานใน สธ. และ สปสช.นำไปพิจารณาร่วมดำเนินการ กำหนดระเบียบปฏิบัติ รวมถึงแนวทางการจ่ายค่าชดเชยการบริการในบริบทชุมชนเมืองให้เหมาะสมต่อไปกับ กทม. ขอฝากผู้บริหาร กทม.ช่วยกันทำให้ประชาชนสุขภาพแข็งแรง รอบรู้ดูแลสุขภาพ และหวังว่าจะทำงานร่วมกันด้วยมิตรภาพ เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของชาว กทม.และคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงาน น่าจะทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพและสบายใจต่อไปในอนาคต" นายอนุทินกล่าว


นายสันติกล่าวว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมาพบประชาชนและผู้ใช้สิทธิข้าราชการบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ทันท่วงที เนื่องจากขาดจุดบริการเชื่อมต่อกับหน่วยบริการระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ หน่วยบริการปฐมภูมิจึงสำคัญในการเชื่อมต่องานบริการสุขภาพในพื้นที่ กทม. ทั้งนี้ ก.คลังดูแลหลักประกันสุขภาพของข้าราชการกว่า 6 แสนคนใน กทม. พร้อมสนับสนุนนโยบายการเพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิใน กทม.ให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรและร่วมผลักดันให้เกิดการลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิข้าราชการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่จัดตั้งขึ้น พร้อมกระจายงบประมาณไปยังหน่วยบริการและเพิ่มศักยภาพของหน่วยบริการให้รองรับประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้สิทธิข้าราชการเข้าถึงงานบริการสุขภาพได้หลากหลายช่องทางและสะดวกสบายเพิ่มขึ้น


น.ส.บุปผา กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ กทม.มีผู้ประกันตน 3,604,602 คน ส่วนใหญ่ลงทะเบียนในสถานบริการระดับ 100 เตียงขึ้นไป ยังขาดการเชื่อมต่อกับหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ซึ่งช่วงโควิดพบว่าการส่งต่อผู้ประกันตนที่ติดเชื้อไปหน่วยบริการมีความยากลำบากมาก เพราะขาดหน่วยบริการเชื่อมต่อหรือหน่วยบริการเบื้องต้น เช่น การระบาดในแคมป์คนงาน ก.แรงงานร่วมกับ สธ.ออกมาตรการ Bubble and seal ทั้งนี้ หน่วยบริการปฐมภูมิมีความสำคัญ เพราะเป็นด่านหน้าใกล้ชิด เป็นจุดเชื่อมต่อบริการจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน โรงงาน บริษัท สถานประกอบการไปยังหน่วยบริการขนาดใหญ่ ทำให้เข้าถึงบริการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับการยกระดับมาตรฐานการบริการสาธารณสุข มีการติดตามผลลัพธ์เชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมนำเทคโนโลยีด้านการดูแลรักษาผ่านระบบทางไกล (Telehealth medicine) เพื่อลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ตอบโจทย์การบริการเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่อยู่ท่ามกลางสังคมเมือง

ด้าน ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ต่อให้ผู้ว่าฯ กทม.และทีมมุ่งพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิแค่ไหน แต่เราเพิ่งเข้ามา การนำให้เกิดขึ้นไม่ใช่เรา ส่วนหนึ่งเป็นความต้องการจากประชาชนและข้าราชการ กทม. ที่มองเห็นปัญหาและยอมรับว่าต้องถูกแก้ไข ซึ่ง กทม.มีข้อจำกัดการบริการและดูแลประชาชน ถ้าไม่ใช่เพราะ สธ.และเครือข่ายสาธารณสุขเห็นว่าการเชื่อมต่อไม่ค่อยราบรื่น ไม่สามารถจัดบริการให้เป็นเครือข่ายองค์รวม ทำผลให้เกิดความเสียหายบาดเจ็บล้มตาย และเกิดผลกระทบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ ทั้งนี้ การเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความซับซ้อน ไม่ว่าคน กทม.เดิมที่อยู่มาตลอด หรือคนใหม่เข้ามาอาศัยและทำงาน ถือว่ามีความโดดเดี่ยวอ้างว้าง

"ถ้าจะต้องทำงานหนักเพื่อให้ชีวิตดีขึ้นทุกวัน โดยไม่รู้ว่ามีเพื่อนอยู่ที่ไหนบ้าง ไม่รู้ว่าเจ็บป่วยไปจะมีใครรู้หรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดทันด่วนหรือดูแลสุขภาพตนเองแต่ต้น กทม.ในฐานะผู้ดูแลใกล้ชิดในชุมชนทุกลักษณะ ไม่ว่าจะเกิดเหตุใดก็ตาม จะเป็นโรคติดต่อ ไม่ติดต่อ หรือโรคคนเมือง เราเรียนรู้ข้อจำกัดจากโรคระบาดที่ผ่านมาว่า ถ้าจะบริการให้ดี ต้องกลับมาพิจารณาตัวเองว่า ข้อจำกัดอยู่ที่ไหน อัตรากำลังพอไหม มาตรฐานการรักษามีหรือไม่ เรามีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง มีคลินิกมากมาย และ รพ.ภายในสังกัด แม้มีข้อจำกัดแห่งที่และเตียง เราไม่สามารถรองรับสถานการณ์ลักษณะนี้ได้ จึงต้องพัฒนาตนเองให้มีมาตรฐานที่ประชาชนเชื่อมั่น" ผศ.ดร.ทวิดากล่าว


ผศ.ดร.ทวิดากล่าวว่า การรักษาพยาบาลดูแลสุขภาพที่ดีตั้งแต่ต้น ไม่ใช่แค่ให้ประชาชนรู้และเข้าใจดูแลตนเองมากขึ้น แต่หมายถึงมีใครสักคน อาจหมายถึงอาสาสมัครสาธารณสุข กทม. (อสส.) หรือเพื่อนบ้านที่รู้ว่าเราเป็นคนหนึ่งที่อยู่ข้างๆ ไม่ว่าเป็นอะไรขึ้นมาสามารถติดต่อได้ว่า ใครจะเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา และทำให้รู้สึกว่าปลอดภัย หากไม่สามารถดูแลปฐมภูมิได้ครบวงจรก็มีระบบส่งต่อ ทั้งมูลนิธิหรือเอ็นจีโอ รพ.เครือข่ายทั้งหมดก็ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันอุดช่องว่างให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ภาพรวมนี้หากเกิดขึ้นได้ไม่ว่าการนำของ กทม.หรือเครือข่ายสาธารณสุข ก็เป็นความร่วมมือ

"หลายๆ ครั้งบทเรียนที่เกิดขึ้นเราถอดแต่ไม่ได้ทำ ครั้งนี้ดีใจมากที่บทเรียนที่ถอดว่าช่องว่างและข้อบกพร่องอยู่ตรงไหน และยอมรับร่วมกัน ช่วยเหลือกันเพราะเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ดังนั้น สุขภาพที่ดีน่าจะส่งเสริมให้ทุกคนมีความสุข ก็มั่นใจว่าการพัฒนาประเทศจะยั่งยืน ไม่ว่าอนาคตจะเกิดอะไร การเรียนรู้ถึงความร่วมมือที่เอาชนะข้อจำกัด ไม่โทษกันเอง รับผิดชอบร่วมกัน น่าจะทำให้เครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิครบวงจรของคน กทม.เกิดขึ้นได้และยั่งยืน" ผศ.ดร.ทวิดากล่าว

ถามว่าคนต่างจังหวัดมาทำงานใน กทม.ใช้ระบบบริการปฐมภูมิได้ใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ทุกวันนี้ก็ได้อยู่แล้ว บางที่มีปัญหาอยู่ก็ตั้งระบบการส่งต่อที่มีประสิทธิภาพก็แก้ไขได้หมด อย่างฉุกเฉินก็มียูเซป จริงๆ ไม่ได้มีปัญหาแต่เป็นคามกังวลของหลายฝ่ายที่นำขึ้นมาพูด แต่ในทางปฏิบัติไม่มีปัญหา ซึ่งเราเน้นตามสิทธิตาม 3 กองทุนสุขภาพ อย่างระบบ Telemedicine ก็ครอบคลุมในสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่ใช่ภาระที่เพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีระบบนี้ก็จะไปแออัดหน้าห้องหน้าคลินิก ระบบหมอคนแรกทำความเข้าใจในพื้นที่จะช่วยแบ่งเบาภาระการแออัดหน่วยบริการ

ถามว่าคนต่างจังหวัดมาอยู่ กทม.ไปใช้สิทธิฟรีปฐมภูมิรูปแบบใด ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวก็ได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า นั่นคือเป้าหมาย ต้องแยกให้ถูก คนต่างจังหวัดเข้ามาเป็นลูกจ้างที่ถูกต้องมีประกันสังคม ถ้าผู้ประกอบการก็ใช้สิทธิบัตรทองได้ ยิ่งข้าราชการไม่ต้องพูดถึง ความครอบคลุมมีหมด แต่ที่ผ่านมาอาจจะต้องมาเช็กสิทธิว่าอยู่ที่ไหน แต่ก็ยังใช้ฉุกเฉิน 2-3 วันแรกได้ก่อนไม่มีปัญหาอะไร เราพยาบยามบูรณาการจากทุกโรคเป็นทุกที่


ถามถึงการเข้าบริการปฐมภูมิสิทธิประกันสังคม น.ส.บุปผากล่าวว่า ผู้ประกันตนมี รพ.ตามสิทธิ ซึ่งการทำคู่สัญญาของประกันสังคมกับ รพ.ตามสิทธิ ซึ่ง รพ.ตามสิทธิต้องมีหน่วยบริการปฐมภูมิ หากผู้ประกันตนเข้ารับบริการปฐมภูมิก็จะสามารถดูแลค่าใช้จ่ายผ่าน รพ.ตามสิทธิ ซึ่งก็จะมีคลินิกประกันสังคม สถานบริการปฐมภูมิจะอยู่ภยใต้สถานพยาบาลคู่สัญญาตามสิทธิ เวลาใช้สิทธิก็จะเรียกเก็บจาก รพ.ตามสิทธิที่เลือก

ถามถึงข้อเสนอในการทำ Sandbox ใน 3 เดือนจะเริ่มทีไหน มีแนวทางอย่างไร ผศ.ดร.ทวิดากล่าวว่า มีการปรึกษากับเครือข่ายสาธารณสุข ภาคประชาชน รพ.ต่างๆ แล้ว คาดว่าเริ่มได้ในโซนกลุ่มเขตกรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ก่อน มีประมาณ 5-6 เขตจะร่วมมือทำกัน อยู่ในช่วงปรึกษาทำกลไกให้เกิดขึ้น คาดว่าการออกแบบ Sandbox เสร็จภายในสิ้นเดือน และเริ่มทำได้ใน 3 เดือน โดย 1 ปีน่าจะได้ผลว่าจะให้บริการที่เต็มรูปแบบได้ดีมีประสิทธิภาพแค่ไหน ซึ่งการสร้าง Sandbox ก็จะเอาข้อมูลวิชาการ หลักทางการแพทย์เข้ามากำกับเพื่อบริการอย่างถูกต้องมั่นใจ ส่วนการขยายผลกลไกจะเหมือนเดิมหรือไม่ เนื่องจาก กทม.ในแต่ละพื้นที่มีความซับซ้อนสูงมาก ไม่ได้หมายความว่ากลไกแบบหนึ่งที่ออกแบบเฉพาะกับพื้นที่หนึ่งจะใช้กับอีกที่ ถ้าเปลี่ยนพื้นที่อาจปรับกลไกระหว่างทาง

"ถ้าจะอธิบายรูปแบบ Sandbox ปฐมภูมิง่ายๆ เช่น อาศัยในหอพัก เกิดรู้สึกไม่สบาย อาจจะโทรศัพท์ เข้าแอปพลิเคชันหรือ Telemedicine เพื่อดูว่าอาการแบบนี้ควรจัดการตัวเองแบบไหน และระบบจะพยายามให้มีคนตอบ ไม่ให้คุยกับเครื่องอัตโนมัติหรือทิ้งข้อความไว้ แต่มีคนตอบให้ปฏิบัติตัว อาจลิงก์ไปที่คลินิกหรือร้านยาใกล้บ้านในความร่วมมือว่า ไปรับยามีคนให้คำปรึกษาการรักษาพยาบาล กลับมาดูแลตัวเองที่บ้าน กรณีกลับมาหายไป 2-3 วัน นิติบุคคลหรืออาสาสมัครอาจไปเช็ก หากพบก็อาจติดต่อ รพ. ศูนย์บริการสาธารณสุขรับรักษา เมื่อรักษาหายก็กลับบ้าน หากต้องรักษามากกว่านี้ก้ส่งต่อ รพ.อื่นได้อีก และอาจมีการฟื้นฟูสุขภาพภายหลัง ทั้งที่ รพ.หรือส่งหน่วยฟื้นฟูตามบ้าน" ผศ.ดร.ทวิดากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น