บอร์ด สปสช. เห็นชอบกำหนดองค์กรประชาสังคมด้านเอชไอวี เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นในระบบบัตรทอง เพิ่มการเข้าถึงบริการด้านเอดส์ เปิดทางขึ้นทะเบียนหน่วยรับส่งต่อได้ ปิดช่องว่างบริการไม่ต่อเนื่องช่วงรอยต่องบประมาณ จากการทำโครงการปีต่อปี
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบการประกาศกำหนดให้องค์กรภาคประชาสังคมที่จัดบริการด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในชุมชน เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เงื่อนไขคือ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ พ.ร.บ.สถานพยาบาล มีประสบการณ์ให้บริการไม่น้อยกว่า 1 ปี ได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช.รับรอง และบุคลากรมีประสบการณ์ได้รับรองสมรรถนะ หรือผ่านการอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริการ เพื่อให้มั่นใจว่า บริการมีคุณภาพมาตรฐาน
ทั้งนี้ ไทยมีเจตนารมณ์ยุติปัญหาเอดส์ ภายในปี 2573 การบรรลุเป้าหมายต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะองค์กรเอกชน องค์กรภาคประชาชน ที่บริการด้านเอชไอวี ที่ผ่านมาองค์กรเหล่านี้ร่วมกับหน่วยบริการในพื้นที่ รับการสนับสนุนจาก สปสช.อย่างต่อเนื่อง ทำสัญญาดําเนินโครงการแบบปีต่อปี ทำให้เกิดช่องว่างช่วงรอยต่อปีงบประมาณไม่สามารถบริการได้ต่อเนื่อง องค์กรภาคประชาสังคมที่พร้อมบริการกว่า 60 แห่ง จึงเสนอมายัง สปสช.ขอให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อด้านเอชไอวี
"ตามขั้นตอนจะต้องให้บอร์ด สปสช. ประกาศกำหนดให้เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่น ตามมาตรา 3 ก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้มีตัวอย่างมาบ้างแล้ว เช่น ศูนย์บริการคนพิการทั่วไป เป็นต้น เมื่อถูกประกาศแล้ว องค์กรเหล่านี้จะมาขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านในระบบหลักประกันฯ ได้ ซึ่งเป็นรูปธรรมความสำเร็จของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่ปรับบทบาทจากผู้รับบริการมาเป็นผู้ร่วมให้บริการ" ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว