xs
xsm
sm
md
lg

กทม. พร้อมทำงานผ่านข้อจำกัด เพื่อสร้างสุขภาพที่ดีให้แก่ประชาชนอย่างครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (8 มิ.ย.) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ (Big Rock1) ภายใต้โปรแกรมยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม (Ending Pandamics through Innovation : EPI) โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิธี ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ จ.นนทบุรี

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กิจกรรมที่ 1 (Big Rock 1) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร ขึ้น ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2565 เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดเชื้อโรคระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ เพื่อส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีความจำเป็นและการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลให้ประชาชนมีความปลอดภัยและความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยยึดการบริการประชาชนเป็นศูนย์กลาง การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้มีกรอบแนวทางการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานเครือข่ายระหว่างหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน สนับสนุนให้เกิดระบบการบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในกรุงเทพมหานคร

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการเฝ้าดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีครึ่ง พบว่า วิกฤตสุขภาพคือการบริหารจัดการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่แข็งแรงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก นโยบายเน้นเส้นเลือดฝอยของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่ชุมชนเพื่อให้ตรงจุด โดยหาวิธีให้ประชาชนได้เข้าถึงการแพทย์และสาธารณสุขที่ดีและครบวงจรได้ ซึ่งระบบการแพทย์ที่ดีที่สุดคือการแพทย์ตั้งแต่ที่บ้าน เมื่อเราดูแลสุขภาพได้ดีตั้งแต่บ้านจะทำให้ระบบสาธารณะที่มีอยู่เพียงพอ

“การริเริ่มความร่วมมือระหว่างทุกหน่วยงานในวันนี้ จะเป็นความหวังในการดูแลประชาชนตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่แม่ที่เริ่มครรภ์ จนถึงประชาชนที่เจ็บป่วย หรือเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งการดูแลประชาชนได้อย่างครบวงจรต้องมีความตั้งใจภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ อาทิ อัตรากำลัง งบประมาณ กฎ ระเบียบ แต่ไม่ควรมีข้อจำกัดด้านการร่วมมือ ขณะนี้หากทุกหน่วยงานรวมใจทำข้อจำกัดที่มีอยู่ให้คลี่คลายเพื่อเดินหน้าทำงาน ตนและผู้ว่าฯชัชชาติพร้อมที่จะยื่นมือ อำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดความร่วมมือ รวมถึงกทม.จะปรับรูปแบบการทำงานทั้งหมดเพื่อให้พร้อมการทำงานแบบเครือข่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าว

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ จะมีการปาฐกถาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย การปาฐกถา เรื่องทิศทางการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข  ความท้าทายของระบบบริการสุขภาพในเขตกรุงเทพมหานครในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม โดย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานกรรมการบริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ การนำเสนอร่างข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร โดย คณะทำงานจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบปฐมภูมิ กทม. และการระดมความคิดเห็นเพื่อเพิ่มเติมข้อเสนอเชิงนโยบายใน 4 มิติ สำหรับในวันที่ 9 มิถุนายน จะมีพิธีแถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธี














กำลังโหลดความคิดเห็น