สตรอแมนน์ กรุ๊ป ประเทศไทย ผู้นำเข้ารากฟันเทียมภายใต้แบรนด์ “สตรอแมนน์” (Straumann) เผยตลาดทันตกรรมรากฟันเทียมในไทยยังไปได้อีกไกล เตรียมเดินหน้ารุกตลาดเต็มสูบ มองปัญหาของคนไข้ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและพร้อมร่วมแก้ไข นำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และครอบคลุมความต้องการทั้งกลุ่มพรีเมี่ยมและแมส ด้วยจุดเด่นด้านนวัตกรรมคุณภาพ บริการหลังการขายโดยการรับประกันสินค้าตลอดชีวิตคนไข้ พร้อมกับการเปิดตัว ไอทีไอ (ITI) หรือ International Team for Implantology สาขา ประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่เกิดจากการรวมตัวกันของทันตแพทย์ผู้ชำนาญในส่วนเฉพาะงานด้านทันตกรรมรากฟันเทียมทั่วโลกเมื่อ 42 ปีก่อน มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งยกระดับคุณภาพงานด้านทันตกรรมรากเทียมให้มีมาตรฐานและประสบความสำเร็จในการรักษาในอัตราที่สูง สำหรับ ITI ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งแรงผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเติบโตในกลุ่ม Wellness & Health Care พร้อมประเดิมโปรเจคแรกจัดโครงการมอบรากฟันเทียมแก่พระสงฆ์ไทยจำนวน 42 รากฟันเทียม
นางนงลักษณ์ กิจเจริญการกุล ประธานบริหาร บริษัท สตรอแมนน์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ผู้นำเข้ารากฟันเทียมภายใต้แบรนด์ “สตรอแมนน์” (Straumann) กล่าวว่า “สตรอแมนน์เป็นแบรนด์รากฟันเทียมที่มีต้นกำเนิดจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บริษัทก่อตั้งมาปีนี้เป็นปีที่ 68 และเป็นแบรนด์รากเทียมที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในตลาดทันตกรรม รากฟันเทียมของโลก โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาด 29% จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 340,000 ล้านบาท สำหรับ ประเทศไทยแบรนด์รากเทียมสตรอแมนน์ได้เข้ามาเกือบ 20 ปี ทำให้พบว่าตลาดรากฟันเทียมในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 600 ล้านบาท ถึงแม้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่สามารถเติบโตกลับคืนมาใกล้เคียงเดิมและจะยังเติบโตได้อีกมาก เมื่อวิเคราะห์จากปริมาณการใช้รากฟันเทียมของคนไข้ในประเทศที่มีอยู่เพียง 70,000 รากเทียม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยกว่า 67 ล้านคน อีกทั้งไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในยุค Next Normal หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพร่างกายและช่องปาก รวมถึงยังให้ความสำคัญกับการเลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง รวมทั้งการดูแลหลังการเข้ารับบริการ
นอกจากนี้ยังได้พบปัญหาสำคัญของคนไข้ทั้งการใช้รากฟันเทียมที่ไม่ได้คุณภาพ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาใหม่ หรือปัญหาการใช้รากฟันเทียมจากบริษัทนำเข้าที่ไม่ใช่บริษัทเจ้าของสินค้ามาทำตลาดโดยตรงในประเทศ ทำให้มีโอกาสปิดตัวหรือเลิกนำเข้าได้ทุกเมื่อหากเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจหรือยอดขายไม่ได้ตามเป้า ส่งผลต่อคนไข้เมื่อเกิดปัญหากับรากฟันที่ใช้อยู่ จำเป็นต้องถอนรากฟันเทียมตัวเก่าที่ติดแน่นในกระดูกออก เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ส่วนที่ต้องใช้รักษาทดแทน ในคนไข้บางรายมองว่าราคารากฟันเทียมสูง จึงไม่อยากใส่ ทำให้เกิดปัญหาในช่องปากต่าง ๆ ตามมา อาทิ ฟันข้างเคียงล้ม ช่องว่างระหว่างฟันกว้างมากขึ้น ฟันคู่สบยื่นยาว การบดเคี้ยวผิดไป เป็นต้น
ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้เตรียมปรับแผนการตลาด เพื่อให้สอดรับความต้องการของกลุ่มคนไข้และการเติบโตของตลาดทันตกรรมรากฟันเทียมในอนาคต ตั้งแต่การนำเข้าผลิตภัณฑ์ด้านทันตกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานรากเทียมมาเพื่อครอบคลุมทุกความต้องการ ทุกข้อบ่งใช้ โดยยังคำนึงถึงคุณภาพและการบริการ โดยในส่วนรากฟันเทียม แบ่งออกเป็น รากฟันเทียมแบรนด์ Straumann ซึ่งถือเป็นเรือธงที่นำเข้ามาเพื่อเจาะกลุ่มตลาด Premium segment ในประเทศไทย รวมถึงคนไข้ชาวต่างชาติที่เดินทางมารักษาในประเทศไทย ด้วยการชูจุดเด่นด้านคุณภาพที่เอื้อต่อการรักษา ทั้งในด้านขนาดรากเทียมที่เล็กกว่าแต่แข็งแรงกว่า ทำให้สามารถลดเวลาและขนาดของบริเวณผ่าตัดให้น้อยและเล็กลง การมีเทคโนโลยีที่ผิวรากเทียมทำให้แผลหายเร็วกว่าปกติ และมีทางเลือกให้คนไข้กลุ่มที่มีโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน เพิ่มโอกาสในความสำเร็จของการรรักษา รวมถึงการรับประกันสินค้าตลอดชีวิตการใช้งานของคนไข้ และ worldwide guarantee ทำให้สะดวกในการขอเคลมสินค้าเมื่อมีปัญหาโดยตรงกับบริษัทฯ ในประเทศที่อาศัยอยู่ได้ทันที ไม่ว่าจะทำการรักษามาจากประเทศไหนก็ตาม รากฟันเทียมแบรนด์ Neodent ซึ่งถือเป็นแบรนด์รากฟันเทียมน้องใหม่ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยได้เพียง 5 ปี เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่ม Value segment หรือกลุ่มคนไข้ระดับแมส ด้วยจุดเด่นการ ตอบโจทย์ด้านราคา พร้อมทั้งคุณภาพและการดูแลหลังเข้ารับบริการที่ได้มาตรฐาน อีกทั้งล่าสุดได้นำเข้า เทคโนโลยีและอุปกรณ์สำหรับการจัดฟันใส เพื่อเจาะตลาดการจัดฟันใสในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ช่วยให้การจัดฟันใสมีราคาที่เอื้อมถึงได้ในรายคนที่สนใจทำ
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง “ไอทีไอ” หรือ International Team for Implantology (ITI) ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนทันตแพทย์ด้านทันตกรรมรากฟันเทียม เปิดตัว International Team for Implantology - Thailand section อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพื่อร่วมมือกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านทันตกรรมรากเทียม ด้วยการสนับสนุนให้ความรู้แก่ทันตแพทย์ ผ่านการจัดอบรมโดยทันตแพทย์รากเทียมที่มีชื่อเสียงระดับโลก พร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณ การวิจัยให้แก่ทันตแพทย์ เพื่อนำผลวิจัยต่าง ๆ มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น และสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะทำให้สินค้าราคาถูกลงและเป็นประโยชน์ในการรักษาต่อคนไข้ในอนาคต
ดร. อเล็กซานเดอร์ อ็อชเนอร์ ประธานบริหารองค์กร International Team for Implantology (ITI) กล่าวว่า “ITI เป็นองค์กรนานาชาติ ที่ก่อตั้งมานานกว่า 42 ปี มีเครือข่ายกว่า 40 ประเทศ และมีสมาชิกกลุ่มทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านงานรากเทียมกว่า 18,000 คน จาก 100 ประเทศทั่วโลก โดยมีพันธกิจหลักคือ การแบ่งปันความรู้ทางงานทันตกรรมรากเทียม และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการจัดกิจกรรมให้ความรู้ต่าง ๆ ทั้งการประชุมสัมนาย่อย และการประชุม ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก สตรอแมนน์ กรุ๊ป
สำหรับในประเทศไทย ITI ได้เข้ามาเป็นที่รู้จักกว่า 19 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกทันตแพทย์ไทยมากกว่า 300 คน โดยในปีนี้ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 40 ประเทศ จัดตั้ง International Team for Implantology - Thailand section อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมมือกันยกระดับคุณภาพวงการทันตกรรมงานรากเทียมในประเทศไทย เพื่อให้คนไข้ได้รับการดูแลรักษาที่ดีที่สุด พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการฉลองสู่ปีที่ 42 ของ ITI จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท สตรอแมนน์ กรุ๊ป ประเทศไทย จัดทำโครงการมอบรากฟันเทียมจำนวน 42 รากฟัน ให้แก่พระภิกษุสงฆ์ที่มีปัญหาในด้านการบดเคี้ยว และ มีความจำเป็นต้องใช้รากฟันเทียมทดแทนฟันที่สูญหาย พร้อมทั้งได้ร่วมมือกับทันตแพทย์สมาชิก ITI เพื่อดำเนินการรักษาให้แก่พระภิกษุสงฆ์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพรปวีณ์ เสนะโกวร โทร. 061 396 5252 หรือ www.iticsr.com
นางนงลักษณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทั้งนี้สตรอแมนน์ ได้ตั้งเป้าหมายทางการตลาดในปี 2565 จะสามารถทำรายได้รวมกว่า 300 ล้านบาท ตอกย้ำการเป็นผู้นำทางธุรกิจด้านทันตกรรมรากฟันเทียมในประเทศไทย พร้อมทั้งเป็นผู้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านทันตกรรมรากฟันเทียม อีกทั้งได้ตั้งเป้าหมายสำคัญภายใน 5 ปีข้างหน้า เตรียมสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย หากได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล”