xs
xsm
sm
md
lg

ยังต้องไม่ให้วัคซีนฝีดาษลิงคนทั่วไป รอดูประสิทธิภาพ-ความปลอดภัย ย้ำหากจำเป็นมีช่องทางติดต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคหารือ CDC สหรัฐ แจ้งความจำนงสนใจแลกเปลี่ยนข้อมูล หากมีวัคซีน "ฝีดาษลิง" ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ย้ำขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลประสิทธิภาพที่ชัดเจน ย้ำฝีดาษลิงติดเชื้อช้า รุนแรงน้อย ไม่มีคนตาย ยังไม่จำเป็นต้องต้องให้วัคซีนคนทั่วไป หากจำเป็นมีช่องทางติดต่อ

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเตรียมจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันฝีดาษลิง ว่า ไทยมีการหารือหลายประเทศ อย่างวันนี้รอง ผอ.ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ได้มาหารือกับตนที่กรมควบคุมโรค ก็หารือว่าถ้ามีข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนฝีดาษลิงรุ่นใหม่ เขาจะแจ้งให้ทราบ ซึ่งถ้ามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย เราก็อยากรับทราบข้อมูลและแสดงความจำนง ทั้งนี้ วัคซีนที่ใช้เดิมคือวัคซีนฝีดาษคน กำลังเอามาทดสอบใช้กับโรคฝีดาษลิง ส่วนวัคซีนฝีดาษลิงโดยตรงอยู่ในการพัฒนา ซึ่ง อภ.แจ้งว่าประสานหลายบริษัทที่กำลังวิจัย จะติดตามความก้าวหน้าและแสดงความจำนงว่า หากวัคซีนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ก็สนใจวัคซีน ซึ่งการจะนำวัคซีนมาใช้จะต้องดู 1.มีประสิทธิภาพต่อฝีดาษลิงหรือไม่ 2.ผลข้างเคียง 3.สถานการณ์การะบาด และ 4.ความสามารถในการจัดหาและบริการ

"ฝีดาษลิงต่างจากโควิดที่ช่วงแรกความรุนแรงและการติดเชื้อสูง แต่ฝีดาษลิงติดเชื้อช้ากว่า รุนแรงน้อยกว่า ยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิง ความจำเป็นจะต้องให้วัคซีนคนทั่วไปอาจไม่จำเป็น ก็อาจให้เฉพาะกลุ่มก็จะกำหนดอีกครั้ง และไม่แน่ใจว่าหากเอาเข้ามาจะยอมฉีดหรือไม่ เพราะจะดูประสิทธิภาพวัคซีนประกอบ ซึ่งยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพนำมาใช้ได้ ก็ต้องติดตามข้อมูลใกล้ชิดจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ยังเป็นการเตรียมการจัดหาวัคซีน ถ้ามีความจำเป็นก็มีช่องทางติดต่อเอาเข้ามาได้" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคฝีดาษลิงอาจระบาดได้ แต่ไม่หนักแบบโควิด ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดต่อไป ตอนนี้เราเฝ้าระวังที่สนามบินและ รพ.ต่างๆ หากพบก็ต้องรายงาน ถึงต้องประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จะได้ตรวจสอบว่าใช่หรือไม่ ถ้าเจอจะได้ควบคุม หาผู้สัมผัสไม่ให้โรคแพร่กระจาย ซึ่งจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาประกาศในราชกิจจานุเบกษาและดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น