กพย.จัดเวทีถกปัญหาปลดล็อกกัญชา 9 มิ.ย.นี้ เผยกฎหมายฉบับประชาชนเสนอชุมชนร่วมจัดการ ด้านอดีตรองเลขาฯ ป.ป.ส.แนะมีกติกาคุมการใช้กัญชาทั้ง 6 กลุ่ม ตั้งแต่ผู้ป่วย ผู้ปลูก ธุรกิจ สันทนาการ วิจัย บุคลากรแพทย์ ขึ้นทะเบียนชัดเจน
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดเสวนาหลากมุมมอง “ปลดล็อกกัญชา” หลัง 9 มิ.ย.65 สังคมไทยจะไปทางไหนต่อ โดย ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า ภาพรวมเส้นทางกระท่อม กัญชา แบ่งเป็น 6 ยุค มีกฎหมายแตกต่างกันไป โดยยุคที่ 1 สมัยโบราณมีการใช้อิสระมากมาย ยุคที่ 2 และ 3 เป็นยุคจองจำ ยิ่งยุค 3 ห้ามใช้โดยเด็ดขาด ทำให้ขาดการเข้าถึงยา เพราะมีงานวิจัยที่มีประโยชน์ แต่ก็มีโทษถ้าใช้ไม่เหมาะสม แต่ยุค 4 5 และ 6 เป็นยุคเขียว เริ่มต้นยุคที่ 4 มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ยุคที่ 5 มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564 ยกเว้นกระท่อมจากยาเสพติด มีร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อมขึ้นมา ขณะนี้ผ่านสภาฯ แล้ว ต้องติดตามต่อไป และยุคที่ 6 มีประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ฉบับ 2 พ.ศ.2564 และร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. ... ล่าสุดประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเอากัญชากัญชงออกจากยาเสพติดประเภท 5
“ยุคที่ 6 กัญชาจะเสรีหรือไม่ ยังสับสน ส่วนร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง เสนอโดยพรรคภูมิใจไทยผ่านความคิดเห็นแล้ว อยู่ระหว่างเข้าสภาฯ พรุ่งนี้เป็นวาระที่ 1 ส่วนร่างพ.ร.บ.การใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง ของพรรคพลังประชารัฐ เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่เงียบมาก ไม่ทราบว่าจะพิจารณาต่อยอดหรืออย่างไร แต่ฝั่งประชาชนเสนอร่าง พ.ร.บ.พืชยา กัญชากระท่อม โดยผ่านการยื่นร่างกฎหมายให้กับผู้แทนสภาฯ ไปแล้ว อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อ” ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอจะมีรายละเอียด อาทิ ต้องมีคณะกรรมการระดับชาติ มีสถาบันจัดการระดับชาติที่มองภาพใหญ่เรื่องนี้ ชุมชนต้องมีส่วนร่วมจัดการ 2 ระดับ คือ ใช้เองระดับชุมชน และระดับอุตสาหกรรมต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ป่วย มีกฎกติกาที่ชัดเจน ไม่ผูกขาด ไม่ทำลายสังคมและประชาชน สำหรับประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พบว่ากฎหมายที่จะมารองรับไม่ชัดเจน
นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอากัญชากัญชง กระท่อม ไปติดคุกเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2475 จนปี 2522 ชัดเจนมากขึ้นในกฎหมายยาเสพติดให้กัญชา กัญชง กระท่อมเป็นพืชเสพติดประเภท 5 ซึ่งวันนี้เราก้าวช้ากว่าประเทศข้างเคียง อย่างไรก็ตาม ไทยได้ไปเซ็นอนุสัญญาเดี่ยวกับสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2505 ประเทศอื่นก็เซ็น แต่เขาเซ็นเขายังทำงานวิจัยบนพืชเหล่านี้ แต่ไทยเมื่อเซ็นกลับพบว่า ทุกสิ่งทุกอย่างห้ามแตะต้อง รวมถึงต้องทำลายทิ้ง เมื่อมาถึงตอนนี้ต้องมีกติกาชัดเจน แบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยควรมีการขึ้นทะเบียนผู้ป่วย จะทำให้ทราบว่ามีการใช้มากน้อยเท่าไรอย่างไร ซึ่งจะตรงกับอนุสัญญาเดี่ยวที่ระบุว่าต้องมีรายงานการใช้กับผู้ป่วย
กลุ่มที่ 2 ผู้ปลูก ต้องมีรายละเอียดชัดเจน ต้องลงทะเบียน แต่ไม่ใช่ต้องมีใบอนุญาต เพราะปัจจุบันค่าใบอนุญาตมีราคาค่อนข้างแพง และมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก อย่างผู้ปลูกที่เป็นเกษตรกรก็ไม่ควรต้องจ่ายใบอนุญาต รวมถึงต้องขอทุกครั้งที่ปลูกอันนี้ไม่ควร กลุ่มที่ 3 ผู้ที่จะทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ อย่างซื้อมาขายไป เช่น ช่อดอก ฯลฯ ตรงนี้เป็นนักธุรกิจจะเก็บใบอนุญาตก็เก็บไป แต่ต้องกำหนดกติกาให้ชัดเจน กลุ่มที่ 4 ผู้ใช้เชิงสันทนาการ หากจะให้ใช้ได้จริงต้องมีการกำกับดูแล เช่น ต้องกำหนดให้พบแพทย์ 2 สาขา คือ หมออายุรเวช และจิตแพทย์ ทั้งด้านสุขภาพ กับอาการหรือเป็นผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่
กลุ่มที่ 5 นักวิจัย ควรมีบัญชีนักวิจัยเรื่องนี้เฉพาะว่า จะทำอะไรอย่างไร และก่อประโยชน์อย่างไร อย่างวิจัยให้ THC น้อยที่สุด จีนหรือยุโรปก็ทำมานานแล้ว และกลุ่มที่ 6 แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ต้องมีความรู้เรื่องนี้ หากใครจะใช้ขอให้มีการขึ้นทะเบียนว่า มีใครบ้าง อยู่ที่ไหน ตรงนี้จะทำให้การใช้มีความหลากหลาย และใช้ไปในทางที่ถูก ป้องกันใช้ในทางที่ผิดได้ รวมไปถึงควรมีการทำงานร่วมกับกับท้องถิ่นของเรื่องนี้ เพราะพื้นที่จะรู้เรื่องดีที่สุด
“วันนี้เรามีปัญหาประชาสัมพันธ์ ทุกวันนี้เห็นสื่อออกมาเพียงแค่ว่า ใช้ได้แล้ว จะมีแจกเมล็ดพันธุ์ล้านต้น แต่ไม่ได้พูดถึงข้อมูลผลดีผลเสีย ทั้ง THC และ CBD ต้องระบุให้ชัดว่า ใช้มากจะเกิดปัญหาอย่างไร หรือใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์” นายพิภพ กล่าว
ด้านนายไพโรจน์ แก้วมณี นักกฎหมาย ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า คำว่ากัญชาเสรี เสรีอย่างไร ตรงนี้มีมาตรการมาควบคุมป้องกันผู้บริโภคหรือไม่อย่างไร แล้วเรื่องอนุสัญญาเดี่ยวกฎหมายระหว่างประเทศที่ยังระบุให้กัญชาเป็นยาเสพติด ตรงนี้จะขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่อย่างไร ตรงนี้ขอให้ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องมีมาตรการให้ชัดเจน
นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายในส่วนของระหว่างประเทศ ปัจจุบันกัญชาเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961 ประเทศภาคีต้องมีการกำหนดในเรื่องกติกา อย่างการนำกัญชาไปใช้การแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ทำได้ แต่ต้องมีกติกาชัดเจน และไม่ได้สนับสนุนหรือไม่อนุญาตให้ใช้เชิงสันทนาการ
นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักวิชาการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการทำงานในชุมชน และเรียนรู้ข้อมูลชาวบ้าน ร่วมกันทำงานกับผู้ต้องขัง โดยจริงๆ ตนเห็นด้วยในการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเชื่อว่ากัญชาจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประชาชนตัวเล็กตัวน้อย แต่ยังมีคำถามว่า หากปลดล็อกเสรี จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย คนรุ่นใหม่ เพราะยังมีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับข้อดีของกัญชา ทั้งนี้ ทางศูนย์ได้ลงไปสอบถามประชาชนที่อยู่ในวงจรการใช้ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งกลุ่มเห็นด้วยรอให้ปลดล็อก ส่วนที่ไม่เห็นด้วยนั้น มาจากแกนนำภาคประชาชนเพราะกังวลว่าจะกระทบลูกหลาน นอกจากนี้ ยังมีอีกส่วนที่ไม่มีข้อมูล พร้อมจะทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า คนในประเทศไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ ควรมีการฟังเสียงคนตัวเล็กตัวน้อย