สธ. - สปสช. - เรือนจำกลางอุดรธานี ร่วมคัดกรอง "ตับอักเสบซี" ผู้ต้องขัง 100% พบติดเชื้อ 46 ราย ย้ำแม้ไม่เข้าเกณฑ์รับยา แต่อุดรธานีเข้าร่วมโครงการ Test and Treat ช่วยได้รับรักษาทุกคน ย้ำรักษาหายแล้วยังติดเชื้อใหม่ได้
เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี เป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ผู้ต้องขังถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่จะต้องตรวจภายใต้กติกามีอายุรแพทย์โรคตับ ก็ได้แพทย์อายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ รพ.อุดรธานีเข้ามาตรวจให้ในเรือนจำ คัดกรองผู้ต้องขัง 100% ของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด หากรายใดผลบวกก็นำเข้าสู่การตรวจระดับไวรัส ซึ่งอุดรธานีเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่องที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดกำจัดไวรัสตับอักเสบ ซึ่งจะดูแลผู้ป่วย 1 รายจนจบกระบวนการรักษา และติดตามอาการต่อเนื่อง
"ผู้ต้องขังเป็นกลุ่มเสี่ยงที่กำหนดไว้อยู่ในเงื่อนไข หรือกลุ่มเปราะบาง เพราะเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย โอกาสเข้าถึงการรักษานอกเรือนจำยังยาก และศักยภาพในเรือนจำก็อาจจะมีจำกัด โดยเรือนจำกลางอุดรธานี ร่วมกับ รพ.อุดรธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด วางระบบการปรึกษาผ่านระบบ Teleconference มีแพทย์หลายด้านพร้อมให้คำปรึกษาเมื่อต้องการคำปรึกษา หรือเกิดเหตุฉุกเฉิน" ทะ.อรรถพรกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเครื่องเอกซเรย์ปอดที่ส่งส่งผลขึ้นระบบคลาวด์เพื่อใช้วินิจฉัยได้ด้วย เมื่อใช้เทคโนโลยีร่วมกับระบบบริหารที่ดีก็ดูแลคนกลุ่มเปราะบางได้เสมอภาคกับคนข้างนอก และเนื่องจาก รพ.อุดรธานีเป็นแม่ข่าย ใช้ระบบการบันทึกข้อมูลของ รพ. พยาบาลในเรือนจำก็จะลงทะเบียนเข้าใช้ระบบยืนยันตัวตน เหมือนกับการทำงานที่ รพ. และเชื่อมข้อมูลการรักษาได้ไม่ว่ารักษาที่ไหนก็ตาม
นายภัทรพงศ์ หมวกสกุล ผู้บัญชาการเรือนกลางจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า เรือนจำกลางอุดรธานีคัดกรองในหลายๆ โรค โดยเฉพาะโรคติดต่อ รวมถึงไวรัสตับอักเสบซีที่มีการแพร่ระบาด เนื่องจากเรือนจำมีความหนาแน่นของผู้ต้องขัง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตระหนัก ซึ่งจะคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี 100% ของผู้ต้องขัง ล่าสุดตรวจคัดกรองไปแล้วกว่า 3,000 ราย พบติดเชื้อ 46 ราย รักษาโดยแพทย์ ถือว่าไม่ได้ป้องกันเฉพาะในเรือนจำ แต่ยังป้องกันภายนอกด้วย เพราะเมื่อพ้นโทษหากรักษาหายแล้วก็จะไม่เป็นภาระข้างนอกเรือนจำ อยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชนได้อย่างปกติสุข
นพ.โอฬาร วิวัฒนาช่าง นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ รพ.อุดรธานี กล่าวว่า ไวรัสตับอักเสบซีติดต่อได้ผ่านการฉีดสารเสพติดเข้าเส้นเลือด สัก เจาะร่างกาย มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน กลุ่มผู้ต้องขัง หรือผ่านแม่สู่ลูก ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับ จากการสำรวจพบว่ามีโอกาส 2% ที่จะพบไวรัสตับอักเสบซีในกลุ่มเสี่ยง สำหรับโครงการ Screen All Treat All ภายใต้โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ จะคัดกรองผู้ต้องขังทุกคนให้ตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อซิฟิลิส และ HIV
นพ.โอฬาร กล่าวว่า เมื่อพบผู้ป่วยแล้วจะนำเข้าสู่การรักษาด้วยการกินยาวันละ 1 เม็ดเป็นเวลา 12 สัปดาห์ และเจาะเลือดอีกครั้งหลังรักษา 3 เดือน พบว่ามีโอกาสหาย 95% ของผู้ป่วยที่กินยาต่อเนื่อง หากผู้ต้องขังที่พบไวรัสตับอักเสบซีเข้าข่ายตามหลักเกณฑ์บัญชียาหลักแห่งชาติ หรือจ (2) ก็จะได้รับยาทุกสิทธิ หากยังไม่เข้าข่ายหรือเกณฑ์ เดิมจะยังไม่ได้รับการรักษา แต่ รพ.อุดรธานีเข้าร่วมโคงการ Test and Treat ของ สธ. หากพบไวรัสแล้วเข้าสู่การรักษาได้ ผู้ต้องขังที่รอการรักษาก็จะได้รับยาเช่นกัน ทำให้รักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีได้ทุกคน ระหว่างรักษาจะติดตามผู้ป่วยต่อเนื่องผ่านระบบ Telemedicine เมื่อวินิจฉัยว่าหายแล้ว ก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ