xs
xsm
sm
md
lg

แจงแนวทางควบคุมกลิ่นและควัน "กัญชา" เป็นเหตุรำคาญ ให้ "ท้องถิ่น" ควบคุมการสูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เตรียมชี้แจง "ท้องถิ่น" หลังร่างคำแนะนำแนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากกลิ่นและควัย "กัญชา" ผ่านเห็นชอบ ย้ำหลังรับเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบ หากเข้าข่ายผิดเป็นเหตุรำคาญให้แจ้งปรับปรุงแก้ไข หากไม่ทำให้ออกคำสั่งทางปกครองให้แก้ไข หากไม่ทำตามอีกลงโทษจำคุกหรือปรับได้

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงความคืบหน้าการกำหนดให้กลิ่นหรือควันกัญชาเป็นเหตุรำคาญ ว่า กรมอนามัยเสนอร่างคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญ จากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. ... เพื่อเป็นแนวทางสำหรับราชการส่วนท้องถิ่นใช้ควบคุมเหตุรำคาญ และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. ... ต่อคณะกรรมการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติเห็นชอบร่างคำแนะนำและร่างประกาศดังกล่าว โดยหลังจากนี้กรมอนามัยจะได้ชี้แจงให้กับท้องถิ่นเพื่อถือปฏิบัติต่อไป

ทั้งนี้ ร่างคำแนะนำต่อส่วนท้องถิ่น ได้กำหนดให้การควบคุมเหตุรำคาญตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ดังนี้ 1.ควบคุมการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกัน โดยไม่ก่อเหตุรำคาญจากกลิ่นหรือควันรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง 2.เมื่อได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญ เรื่อง กลิ่นหรือควันจากการสูบกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ให้เจ้าพนักงานดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้น เช่น สถานที่หรือบริเวณที่ถูกร้องเรียน สถานที่ที่ประชาชนร้องเรียน แหล่งกำเนิดกลิ่นหรือควัน ลักษณะกลิ่น ช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น 3.ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเรื่องร้องเรียนไม่เป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งผู้ร้องเรียนทราบ และยุติเรื่อง

"กรณีพบว่าเรื่องร้องเรียนเข้าข่ายเป็นเหตุรำคาญตามมาตรา 25 ให้เจ้าพนักงานพิจารณาออกคำแนะนำ เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ ระบุข้อเท็จจริงที่ตรวจพบ มาตรการหรือวิธีการที่ใช้แก้ไขปรับปรุงให้เหตุรำคาญระงับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด และ 4.ให้เจ้าพนักงานติดตามตรวจสอบทำตามคำแนะนำที่ให้ผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติ หากไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้ออกคำสั่งทางปกครอง โดยอำนาจตามมาตรา 27 หรือ 28 พ.ร.บ.การสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ก่อเหตุปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญ" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า กรณีผู้ถูกร้องเรียนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2.5 หมื่นบาทถ้วน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ถูกร้องเรียนปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง เรื่องยุติให้เจ้าพนักงานแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้ร้องเรียนทราบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น