สบส.จับมือดีเอสไอลุยปราบอุ้มบุญเถื่อน-ค้ามนุษย์ เผยรับเป็นคดีพิเศษแล้ว 2 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน พบทำเป็นกระบวนการ ผู้จ้างวานต่างชาติ มีทั้งมาฝังตัวอ่อนในไทยและเพื่อนบ้าน เตรียมจับกุมผู้เกี่ยวข้อง ยังไม่เปิดเผยมีหมอไทยร่วมเอี่ยวหรือไม่ สบส.เร่งปรับแก้กฎหมาย เปิดทางคู่ผัวเมียต่างชาติมาใช้เทคโนโลยีได้ ไม่ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทยอีก กำลังรับฟังความเห็นเพื่อเสนอปีนี้
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดย นพ.ธเรศ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 เพื่อคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ และควบคุมการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม แต่ยังมีผู้เห็นแก่ประโยชน์ ลักลอบนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในทางที่ผิด ที่รู้จักกันคือ การอุ้มบุญหรือรับจ้างตั้งครรภ์แทน
"สบส.จึงร่วมกับดีเอสไอลงนามทำงานร่วมกันเพื่อสืบสวนคดี ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเข้าถึงข้อมูล เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า คดีอุ้มบุญมีความซับซ้อน มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก กระทบกับความเชื่อมั่นของประเทศ เด็กที่เกิดมาไม่ทราบว่าได้รับการดูแลอย่างไร และอาจเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ต้องใช้เทคโนโลยีในการสอบสวน ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการใช้ศักยภาพทั้งสองส่วนงาน ช่วยเรื่องคดีให้รวดเร็วยิ่งขึ้น คุ้มครองเด็กจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ให้เป็นไปตามกฎหมายได้มากขึ้น" นพ.ธเรศกล่าว
ด้าน นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับแจ้งจาก สบส.กว่า 10 คดี รับเป็นคดีพิเศษแล้ว 2 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน พบว่า มีพฤติการณ์ที่เป็นกระบวนการ ตั้งแต่มีผู้จ้างวาน ผู้ดำเนินการ ผู้สนับสนุน และผู้นำไปใช้ประโยชน์ และอาจเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ เพราะมีการผลิตเด็กเป็นจำนวนมาก ที่ติดตามอยู่มีหลายสิบคน พบว่า มีการเอามาเลี้ยงเป็นตัวอ่อน บางทีตัวอ่อนมาจากการส่งน้ำเชื้อจากต่างแดน และมาฝังตัวเป็นตัวอ่อนในไทย และดูแลจนกระทั่งตั้งครรภ์ และเอาเด็กไปไว้ที่แห่งหนึ่งเพื่อพร้อมส่งออก ลักษณะแบบนี้ต้องมีการสืบสวนให้กระจ่างชัด มีลักษณะที่มาโดยพ่อแม่ที่แท้จริงไหม หรือมีวัตถุประสงค์อย่างอื่น ซึ่งพวกนี้กระทบต่อมนุษยชาติ กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ เพราะความเชื่อมั่นของต่างชาติจะมองว่าไทยเป็นแหล่งในการก่ออาชญากรรมลักษณะนี้ จึงต้องเร่งดำเนินการสอบสวนและเอาผิด อย่างไรก็ตาม ได้หารือกับ สบส.ว่า อาจต้องปรับกฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน มิเช่นนั้นปัญหาจะซุกใต้พรมทั้งหมด
"ความร่วมมือกับ สบส.ครั้งนี้ จะทำให้เกิดการแจ้งเบาะแส เมื่อมีผู้แจ้งเราก็จะเข้าไปตรวจสอบ ติดตามได้รวดเร็วขึ้น เช่น มีการแฝงตัวเข้าไป ทุกวันนี้เรามาเจอเด็กที่ออกมาแล้ว ทำให้ต้องเข้าสู่กระบวนการดูแลของ พม. จัดสถานที่ดูแลเด็ก ซึ่งเด็กยังอยู่ในการคุ้มครองของเราอยู่ โดยมีพยานที่เป็นแม่อุ้มบุญเอง เพราะเกิดความรักความผูกพัน และเป็นพยานสำคัญในการขยายผลได้ ซึ่งปัจจุบันมีเคสอุ้มบุญและอยู่ในการดำเนินการประมาณ 19 ราย ซึ่งอยู่ในโซนเอเชีย แต่ขอไม่เอ่ยชื่อประเทศ" นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่าคดี 2 คดีนี้เป็นต่างชาติหรือคนไทย นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ผู้จ้างวานเป็นชาวต่างชาติ และบางแห่งฝังตัวอ่อนในบ้านเรา บางแห่งก็ฝังตัวอ่อนจากเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้เราจะจับกุม อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด
ถามว่าผู้ใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดครั้งนี้เป็นแพทย์ไทยหรือไม่ นพ.ไตรยฤทธิ์ กล่าวว่า เรากำลังสอบสวน ก็อาจเป็นเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ แต่อาจจะเป็นแพทย์หรือไม่ใช่ก็ได้ ขอเวลาจะมีการเปิดเผยแน่นอน กรณีนี้เกิดมาหลายปี และในภาวะที่เป็นโควิดก็ทำให้แม่ที่อุ้มบุญและต้องเดินทางไปต่างประเทศลำบาก เราจึงตรวจสอบได้ง่าย ตอนนี้เด็กคลอดมาแล้วเลี้ยงจนโตประมาณ 1-2 ขวบ ซึ่งอยู่ในการดูแลของเรา อย่างไรก็ตาม โทษของการกระทำความผิดนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะมีโทษทางอาญา ทั้งปรับและจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี เร็วๆนี้ จะมีการแจ้งและเข้าไปจับกุมผู้กระทำผิด โดยจะแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ได้หารือกับคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีฯ ถึงการปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิเรื่องนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ทำงานมีประสิทธิภาพ การอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามารักษา เพราะการมีบุตรยากถือเป็นโรค ดังนั้น หากทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน คนต่างชาติก็จะสามารถลงทะเบียนรับบริการอย่างถูกกฎหมายได้
เมื่อถามว่า การแก้กฎหมายอุ้มบุญจะเปลี่ยนจากเดิมอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า เดิมคนต่างชาติจะมาอุ้มบุญต้องมีสามีหรือภรรยาเป็นคนไทย ทำให้เป็นอุปสรรค อย่างเขาเป็นครอบครัวต่างชาติแต่มีภาวะบุตรยาก ทำให้ต้องมาจ้างวานกลายเป็นปัญหา เราควรปรับกฎหมายเพราะการไม่มีลูกจัดเป็นภาวะโรคหนึ่ง และไทยมีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ก็จะปรับแก้โดยสามีภรรยาต่างชาติมาขออุ้มบุญได้ในอนาคต ส่วนคนจะมาอุ้มบุญจะมีรายละเอียด เช่น อาจเป็นญาติของเขา หรือเป็นคนไทยที่จะรับอุ้มบุญถูกกฎหมายซึ่งจะต้องมีการคัดเลือก มีเกณฑ์ชัดเจน และอาจต้องขึ้นทะเบียน กำลังพิจารณาหารือว่าจะดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร ขณะนี้อยู่ในชั้นฟังความคิดเห็น โดยปีนี้จะมีการเสนอการแก้กฎหมาย
เมื่อถามว่าสาวโสดจะมารับอุ้มบุญได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ยังต้องเป็นคู่สามีภรรยา ไม่ใช่สาวโสดคนเดียว แต่มีการเสนอว่า หากเป็นเพศสภาพเดียวกันจะทำได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาเพราะจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายอีก ส่วนคนมาอุ้มบุญยังใช้เกณฑ์เดิม ต้องเป็นคนที่เคยมีลูกมาก่อน เพราะจะมีเรื่องการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนด้วย
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สบส.รวบรวมข้อมูลการให้บริการด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทย พบว่า มีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์สูงถึงร้อยละ 45 ให้บริการเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา มีการผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ มีการพัฒนาระบบเพื่อส่งเสริมสถานพยาบาลที่ให้บริการด้านเจริญพันธุ์ ผ่านการรับรองมาตรฐานการรวมทั้งสิ้น 104 แห่ง และมีการพิจารณาอนุญาตดำเนินการให้ตั้งครรภ์แทนหรืออุ้มบุญ 584 คน สร้างรายได้กว่า 4,500 ล้านบาท