xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์!! เอกชนนำ "หมอนอก" ปรึกษา-รักษา "ผู้ป่วย" ไม่ได้ เว้นบรรยายแพทย์ไทย มีแค่ภาครัฐต้องขออนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคลียร์ชัด!! แพทยสภาย้ำภาคเอกชนนำ "หมอต่างชาติ" มาให้คำปรึกษา ผ่าตัด "ผู้ป่วย" ไม่ได้ ทำได้เฉพาะภาครัฐ เหตุช่วยติดตามร้องเรียนหากเสียหายได้ หรือมาบรรยายต่อแพทย์ไทย เผยต้องขออนุญาต ใช้วีซ่าทำงาน ส่วนจะมารักษาในไทยต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสถานพยาบาลเอกชน โฆษณาการนำแพทย์ต่างชาติมาให้คำปรึกษาหรือผ่าตัดที่ประเทศไทย ว่า สบส.ประชุมร่วมกับแพทยสภา ทำความเข้าใจประเด็นที่แพทย์ต่างชาติเข้ามาปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมในไทย ซึ่งการเข้ามาจะต้องได้รับการอนุญาตจากแพทยสภาก่อน เบื้องต้นมีเกณฑ์สำหรับการเข้ามาเพื่อเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้กับแพทย์ในไทย แต่ยังไม่สามารถเข้ามาให้บริการกับประชาชนได้ นอกจากนั้น แพทยสภาให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาเป็นการอนุญาตให้กับหน่วยงานของรัฐ

“การประชุมร่วมกับแพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สถานเสริมความงามและสถานพยาบาลเอกชนเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ได้ทำความเข้าใจชี้แจงภาคเอกชน ขอให้ดำเนินการให้ถูกต้อง หากพบว่ามีการกระทำที่ไม่ได้ขออนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล” นพ.ธเรศกล่าว

ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทย์ต่างชาติที่จะเข้ามาปฏิบัติวิชาชีพเวชกรรมในไทย ทำได้กรณีเป็นการให้ความรู้หรือบรรยายต่อ "แพทย์" หากเป็นการปรึกษา รักษา และปฏิบัติต่อ "ผู้ป่วย" จะต้องขออนุญาต กฎหมายปัจจุบันทำได้ภายใต้โครงการของราชการเท่านั้น อาทิ คณะแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อถ่ายทอดความรู้ วิชาการ เทคโนโลยีใหม่ หรือปฏิบัติหน้าที่ใต้ความรับผิดชอบของราชการเป็นหลัก ซึ่งขออนุญาตได้ที่แพทยสภา ต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ และมีราชการรับรอง โดยการเข้าประเทศต้องมีวีซ่าทำงาน ไม่ใช่ท่องเที่ยว มีกระทรวงการต่างประเทศรับรองถูกต้อง มีการเสียภาษีกับกรมสรรพากรถูกต้อง บางกรณีต้องทำประกันความเสียหายด้วย

"แพทยสภาจะมีการอนุญาตทุกเดือน เป็นใบอนุญาตชั่วคราว สำหรับแพทย์ต่างชาติโดยเฉพาะ ต่ออายุคราวละ 1 ปี และเป็นการขอภายใต้หน่วยงานของรัฐ ทำงานในสถานพยาบาลรัฐเป็นหลัก ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาลเอกชน" พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าว

สำหรับกรณีแพทย์จากต่างชาติที่เข้าประเทศไทยมาเพื่อเปิดการรักษาพยาบาล จะต้องเป็นสัญชาติไทย ทำได้โดยการสมัครสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมของไทยที่แพทยสภา โดยหลักเกณฑ์นี้จะเหมือนกับทุกประเทศ เช่น แพทย์ไทยไปอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องรับใบอนุญาตประเทศนั้นๆ จึงจะสามารถไปตรวจรักษาได้ เพื่อการคุ้มครองมาตรฐานและความปลอดภัยประชาชนแต่ละประเทศ เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายของประเทศนั้น เช่นเดียวกับเด็กไทยจบแพทย์ต่างประเทศ กลับเข้ามาสอบใบประกอบวิชาชีพในไทยเพื่อรักษาผู้ป่วยในประเทศได้ เช่นเดียวกับแพทย์ที่จบในประเทศไทย

เมื่อถามว่าแพทย์ต่างชาติที่เข้ามาให้บริการในคลินิกศัลยกรรมเอกชนทำได้หรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าวว่า หากเป็นแพทย์ต่างชาติที่ไม่ได้รับอนุญาต ไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ถูกต้อง กระทำการรักษาในคลินิก หรือ รพ. จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล เท่ากับหมอเถื่อน จะถูกดำเนินการโดยฝ่ายกฎหมาย สบส.แจ้งความ และตำรวจจะเป็นผู้เข้าจับกุมดำเนินคดี ในกลุ่มนี้แพทยสภาไม่สามารถเข้าไปยึดใบประกอบวิชาชีพได้เนื่องจากแพทย์เหล่านี้ไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพตั้งแต่แรก

เมื่อถามย้ำว่าคลินิกเอกชนที่จะนำแพทย์ต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยทำได้หรือไม่ พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าวว่า กฎหมายปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ แต่อนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ในบางกรณี บางความเชี่ยวชาญ บางพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ปัญหาสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถอนุญาตได้ เนื่องจาก หากนำแพทย์ต่างชาติเข้ามาให้คำปรึกษา รักษาในภาคเอกชนแล้วเกิดความเสียหาย จะไม่สามารถติดตามเพื่อร้องเรียนข้ามประเทศได้ ต่างจากการดำเนินการภายใต้ภาครัฐ โดยหน่วยงานรัฐที่ขอเข้ามา เป็นผู้รับผิดชอบติดตามดูแล

"ขณะเดียวกันคนไทยที่ไปผ่าตัดต่างประเทศ ตามที่มีหลายแห่งโฆษณา โดยเอเยนซีถือเป็นความรับผิดชอบส่วนตัวตามความสมัครใจ และต้องรับความเสี่ยงด้วยตนเอง เพราะกฎหมายแพทยสภาไม่สามารถดำเนินการข้ามประเทศเพื่อคุ้มครองได้ ดังนั้นจึงต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจ" พล.อ.ต.นพ.อิทธพรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น